ประชาธิปัตย์ ระทึก กกต.เตรียมเลือกตั้งซ่อม ส.ส. แทน “เทพไท”

เทพไท เสนพงศ์

เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ท้วงต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด กรณีอาจพ้นจากสมาชิกภาพ ขณะที่ กกต. เตรียมจัดการเลือกตั้งซ่อม

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมส่งข้อมูลคดีของนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 3 ที่ถูกพิพากษาจำคุก ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ว่าจะขาดสภาชิกภาพ หรือถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปีหรือไม่ ขณะเดียวกันมีรายงานว่า กกต.กำลังเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งซ่อม ใน จ.นครศรีธรรมราช โดยจะมีวาระในการพิจารณาเรื่องนี้ในวันจันทร์ที่ 1 กันยายน 2563

ทั้งนี้ ในสุดสัปดาห์นี้ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มีการวิพากษ์ วิจารณ์ และหารือกันเรื่องข้อกฏหมาย เกี่ยวกับสถานภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายเทพไท เสนพงศ์ ซึ่งถูกศาลนครศรีธรรมราชตัดสินพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี ในคดีอาญา ฐานร่วมกับ นายมาโนช เสนพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครศรีธรรมราช

อันเนื่องมาจากกระทำความผิดในการทุจริตการเลือกตั้ง ตามคำพิพากษา ศาลนครศรีธรรมราช จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี ในคดีอาญา ฐานร่วมทำผิดในการทุจริตการเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2557 กรณีจัดเลี้ยงอาหารจูงใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เพราะแม้ นายเทพไทได้รับการประกันตัวแล้ว แต่ยังถูกศาลฯ สั่งเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี เป็นประเด็นสำคัญที่อาจทำให้ถือว่านายเทพไท พ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส.แล้ว เพราะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (4) และมาตรา 96 (2)

มีการอ้างถึงมาตรา 101 (6) บัญญัติว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (4) ที่กำหนดว่าบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็น ส.ส. คือ ผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (2) ที่ระบุว่าเป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ดังนั้น แม้คดีของนายเทพไทยังไม่ถึงที่สุด แต่เนื่องจากถูกศาลฯ สั่งเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองแล้ว ก็เข้าข่ายถือว่าพ้นสมาชิกภาพ ส.ส.

ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาข้อถกเถียงทางกฎหมาย ว่า กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งส่วนตัวเข้าใจว่า ยังไม่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองทันที และยังทำหน้าที่ ส.ส.ต่อไปได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติคุณสมบัติ ห้ามผู้ถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แต่กรณีของตนถูกตัดสิทธิ์ระหว่างเป็น ส.ส. รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ในคุณสมบัติการพ้นตำแหน่ง ส.ส. จึงต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะรัฐธรรมนูญเขียนเรื่องคุณสมบัติไม่ชัดเจน

นายเทพไท กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ความเห็นของนักกฎหมาย นักวิชาการ ก็ยังเห็นไม่ตรงกัน อาทิ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ระบุว่ายังไม่พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เพราะยังไม่ถูกคุมขังหรือจำคุก ส่วนนายเจษฎ์ โทณวณิก อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายคมสัน โพธิ์คง อ.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กลับเห็นต่างกันไป


นายเทพไท กล่าวด้วยว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรเป็นผู้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความให้ชัดเจน และ กกต. ไม่ควรที่จะด่วนสรุปตัดสินเองว่า ตนพ้นจาก ส.ส. ทั้งนี้ หาก กกต. ด่วนวินิจฉัยและจัดการเลือกตั้งซ่อม โดยไม่รอศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะเกิดความเสียหายตามมาภายหลัง ก็ต้องรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นตามมาด้วย”