“ประยุทธ์” ในพายุรัฐธรรมนูญ ไม่ถอย ไม่ยุบ ล็อกอำนาจการเมือง

ประยุทธ์
รายงานพิเศษ

รัฐนาวา พล.อ.ประยุทธ์ เข้าโค้งหักศอก แล่นเวียนวนอยู่กลางลำธาร-ในหุบเหว ปะทะเกลียวคลื่นการเมือง-พายุเศรษฐกิจรอบทิศ ทั้งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ-ปลดแอกประชาธิปไตย รัฐบาลแห่งชาติ-มวลมิตรคนการเมือง และจุดตัดทางเศรษฐกิจ

ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญถูก “ชักไฟออกจากกองไฟ” ได้หายใจได้ทั่วท้อง 30 วัน จากทีมกฎหมาย-มือพระกาฬผ่านการ “เตรียมการ” ของ “นักวางแผน” ทั้งข้อกฎหมาย-ข้อบังคับ ไม่ให้ “หัวเชื้อ” การแก้ไขรัฐธรรมนูญแท้งก่อนเวลาอันควร

เบื้องหลังแผน “24 กันยา 63”

เบื้องหลังปฏิบัติการ “ดึงไฟออกจากไฟ” เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 หลังมีเสียงลือ-เสียงเล่าอ้างดังออกมานอกสภา หลังเสียง ส.ว. 250 คน “งดออกเสียง” มากกว่า “เห็นด้วย” โอกาสสูงที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติจะถูก “ตีตกทุกฉบับ”

“ดูท่าแล้วเสียงของ ส.ว.จะไม่เพียงพอที่จะเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ จะมีแต่งดออกเสียงเยอะ ซึ่งจะบอกว่า ส.ว.ไม่เห็นด้วยไม่ได้นะ แต่เพราะไม่เคลียร์ มันจะตก จึงต้องงัดแผนสองขึ้นมา” คีย์แมน-คนคุมเสียงระบุ

หลังจากข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 121 วรรคสาม “ออกฤทธิ์” ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ก่อนรับหลักการ ขั้นรับหลักการ ที่มี “วิรัช รัตนเศรษฐ” นั่งหัวโต๊ะ

โดยมีคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาประเด็นข้อกฎหมาย เรื่องการทำประชามติก่อนรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี “วิเชียร เชาวลิต” เป็นประธานกรรมการ ส.ส.-ส.ว. ฝั่งละ 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์-นักกฎหมาย

เพื่อดับข้อกังขา-เคลียร์ข้อทักท้วงของ ส.ว. ถึง “บรรทัดฐาน” คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ว่า การจะยกเลิกรัฐธรรมนูญที่สถาปนาโดยประชาชน-เทียบเคียงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) ต้องผ่านการทำประชามติ

เมื่อ “ประเด็นใหญ่” ที่พูดกันในวง ส.ว. คือ เรื่องการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติ-ถามประชาชนก่อนหรือไม่ ถูกชูขึ้นมาเคลียร์-คัต

การเปิดรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 พ.ศ. … วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เสียงเห็นด้วยกับร่างรัฐบาล-ฝ่ายค้านเพื่อตั้ง ส.ส.ร. จะผ่านด่าน ส.ว.ไปได้ด้วยดี

ส่วนประเด็นความชัดเจนของการแก้บางมาตรา ในบทเฉพาะกาล คือ มาตรา 272 มาตรา 269 มาตรา 279 และมาตรา 256 ปลดล็อกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ-ตัดอำนาจ ส.ว. 84 เสียง เปลี่ยนเป็นใช้เสียง “เกินกึ่งหนึ่ง” ของที่ประชุมร่วมสองสภา

ยังสามารถ “แปรญัตติ” ในวาระสอง ก่อนจะทะลุไปถึงวาระสามได้

30 วันอันตราย-อุบัติเหตุ รธน.

ในช่วง 30 วันอันตราย ก่อนครบกำหนดของ กมธ.ศึกษาฯ 6 ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนขั้นรับหลักการ ในวันที่ 25 ตุลาคม 2563 มีครบรอบเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย-นองเลือด 2 วาระสำคัญ

วาระแรก ครบรอบ 44 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และวาระที่สอง ครบรอบ 47 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งตรงกับ “วันนัดหมาย” ชุมนุมใหญ่ของนักเรียน นิสิตและนักศึกษา-แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563

อย่างไรก็ตาม “ตัวท็อปในพลังประชารัฐ” ฟันธงว่า “จุดไม่ติด” เพราะตัวเร้า-ปัจจัยเร่ง ไม่เอื้อ เช่น เงื่อนเวลา ประเด็นข้อเรียกร้อง กำลังสนับสนุน-ท่อน้ำเลี้ยง และกฎหมายชุมนุมที่เข้มข้น

ประการแรก ประเด็นเคลื่อนไหว ไม่ตอบโจทย์สังคม โดยเฉพาะ “ข้อเรียกร้อง 10 สิงหาคม” เป็น “ประเด็นฆ่าตัวตาย” ประการที่สอง ไม่มีพรรคการเมืองหนุนหลัง-ไม่มีท่อน้ำเลี้ยง

ประการที่สาม ข้อกฎหมายจำกัดการชุมนุมรุนแรง อาทิ พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ประการที่สี่ ปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนห่วงปัญหาปากท้องและไม่เห็นด้วยที่จะทำให้เกิดความวุ่นวาย

รัฐบาลแห่งชาติ-พลิกขั้วการเมือง

การโยนหินถามทางเรื่อง “รัฐบาลแห่งชาติ” และ “นายกฯพระราชทาน” ตีคู่มากับ ข่าวลือ “บิ๊กตู่” ลาออก ผสมโรงกับการ “ล้างไพ่” กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย-“เปลี่ยนหัว” โลโก้พรรค แบรนด์เนม “บ้านจันทร์ส่องเหล้า”

“แกนนำพลังประชารัฐ” พลิกข้อกฎหมาย-วิเคราะห์ปัจจัยทางการเมือง เบอร์ 1 ตึกไทยคู่ฟ้า-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพลังประชารัฐยังชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์”

“การพลิกขั้วอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่ตอนนี้ กับพรรคประชาธิปัตย์รักกันดี มีเรื่องเดียวที่จะทะเลาะกัน คือ เรื่องรัฐธรรมนูญ ส่วนการปรับโครงสร้างของเพื่อไทยก็เหมือนพลังประชารัฐเพื่อความเป็นเอกภาพ”

“ไม่มีพรรคการเมืองไหนจับมือกันไม่ได้ เพียงแต่ว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง จับมือกันได้ตรงที่ตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องมีที่นั่งให้ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นความแตกแยกเกิดขึ้นในพรรคร่วม รักกัน”

ส่วน “รัฐบาลแห่งชาติ” เป็นไปไม่ได้ที่ทุกพรรคจะมาร่วมกัน แต่อาจจะมีการ “จับขั้วใหม่” กรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เช่น “ประชาธิปัตย์ดันอภิปรายไม่ไว้วางใจ การไปทำอะไรแบบพิสดารขึ้น แต่คงไม่เกิด ประชาธิปัตย์กลัวที่จะไปเป็นฝ่ายค้าน”

สมการการเมือง-สูตรพลิกขั้วที่เป็นไปได้มากที่สุด หากพลังประชารัฐต้องจับขั้วตั้ง “รัฐบาลใหม่” คือ “พลังประชารัฐจับขั้วกับเพื่อไทย” โดยมีเงื่อนไขตรงตำแหน่ง “เก้าอี้รัฐมนตรี”

“ตราบใดถ้าประชาธิปัตย์ยังดีอยู่ก็ไม่เป็นไร ไม่มีเหตุต้องเกิด แต่ถ้าประชาธิปัตย์ไม่ดี ไม่เป็นที่ไว้วางใจ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ตอนนี้ประชาธิปัตย์ยังดีอยู่ มีปัญหาอยู่ตอนนี้เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเรื่องเดียว แต่ตอนนี้ก็แฮปปี้”

ทุกพรรคคุยกันหมด แผนสองต้องมี ไปผูกกับประชาธิปัตย์แบบผูกปิ่นโตไม่ได้ แต่อยู่ดี ๆ จะเอาเก้าอี้ไปให้เพื่อไทยเลยก็ไม่ดี แม้เพื่อไทยยังต้องแคร์มวลชน แต่การเมืองเมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น ยังห่างอยู่

เลวร้ายที่สุด ประยุทธ์ลาออก

เมื่อปัจจัยทางการเมือง-ม็อบปลดแอก ไม่ทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” สะทกสะท้าน ข้อกฎหมายที่เอื้ออำนวย ดังนั้น มาตรการจากเบา-ไปหาหนัก 1.ปรับ (ครม.) เล็ก 2.ปรับใหญ่ 3.พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก-ครม.พ้นทั้งคณะ “นายกฯคนเดิม”

“เลวร้ายที่สุด” คือ ลาออกแล้วกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม ส่วนนายกฯคนใหม่ มองไม่เห็นทาง เพราะต้องใช้เสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง บวกกับมาตรา 272-เสียง ส.ว. 250 คน

“ยุบสภาเป็นไปไม่ได้เลย อย่างมากก็ลาออก ดังนั้นใครจะมาร่วมอะไรกับใครให้ดูที่เก้าอี้รัฐมนตรี ถ้ามีแบ่งให้ได้ ก็มาร่วมได้ แต่ถ้าให้มาร่วมแต่ไม่มีเก้าอี้รัฐมนตรีก็จะได้แต่พรรคเล็ก ๆ เพราะตอนนี้เก้าอี้รัฐมนตรีแน่นอยู่”

ส่วนปัจจัยทางเศรษฐกิจ เมื่อมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่จะเดินต่อไปได้ ตอนนี้กระเพื่อมไม่ได้ ทั้งการลาออก-ตั้งรัฐบาลใหม่ ส่วนการยุบสภาจะทำให้สถานการณ์แย่ไปกว่าเดิม

“ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์อยากให้ทุกอย่างนิ่ง เรื่องแก้รัฐธรรมนูญคงอุตลุดกันไม่นาน ก็จบ เปิดประชุมมารับหลักการ เข้าวาระที่สองอีก 2 เดือน วาระสามทิ้งไว้ 15 วัน และทำประชามติภายใน 90 วัน”

ส่วนปัจจัยแทรกซ้อนอื่น ๆ มีน้อยที่สุดแล้วรัฐบาลนี้ มีทั้งฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายองค์กรอิสระ ศาล สถาบันทั้งหมด