“ผบ.สูงสุด” ลั่นยึดมั่นประชาธิปไตย ยันทหารไม่เคยคิดปฏิวัติ

พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

“พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยันไม่คิดทำปฏิวัติ ลั่นบทบาทหารไม่เกี่ยวการเมือง มั่นใจระบอบประชาธิปไตย เป็นการปกครองที่แย่น้อยที่สุด แจงทำหน้าที่ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ-ไม่รับเงินเดือน ส.ว.

วันที่ 5 ตุลาคม 2563 เวลา 12.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดใหม่ ประกอบด้วย พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก, พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2564

ตามรายงานของมติชน ระบุว่า พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้แถลงภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 1/2563 โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงในที่ประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพได้มีการแสดงความยินดี จากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

โดยวาระที่ได้หารือเป็นกรอบการทำงานของกองบัญชาการกองทัพไทยร่วมกับเหล่าทัพ แนวทางดังกล่าวเป็นไปตามภาระหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 52 ที่เป็นหน้าที่ของรัฐในการพิทักษ์ รักษา ปกป้อง สถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนจึงจัดให้มีกำลังทหาร การฑูต การข่าว

สืบเนื่องมาเป็น พ.ร.บ.จัดส่วนราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ที่กำหนดบทบาทของกระทรวงกลาโหมว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง สอดรับกับหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่โดยตรงที่ทหารต้องปฏิบัติ นอกจากนี้เป็นนโยบายรัฐบาลที่กำหนดไว้ในการแถลงที่รัฐสภาก่อนการบริหารราชการแผ่นดิน ลงมาจนถึงนโยบายของ รมว.กลาโหม ตามห้วงเวลา

เพื่อนำมากำหนดแนวทางในการดำเนินงานให้สมบูรณ์ในหน้าที่ พร้อมกันนั้น กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพได้วิเคราะห์บทบาทหน้าที่โดยพิจารณาจากสภาพการณ์ เพื่อพิจารณาและสั่งการการปฏิบัติที่สำค้ญ คือการดูแลประชาชน และกำลังพลของตนเองให้ได้รับการพัฒนาและความเป็นอยู่ที่ดี

พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า กองบัญชาการกองทัพไทย ได้แต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นที่ปรึกษาคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพ ตามแนวทางเดิมเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ เพราะท่านเป็นผู้ที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงซึ่งปฏิบัติงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดทั้งสองด้าน ทั้งทหาร และตำรวจ

เมื่อถามถึงการปกป้องสถาบันที่มีประชาชนและคนรุ่นใหม่บางส่วนออกมาล่วงละเมิดสถาบันฯ พล.อ.เฉลิมพล กล่าวว่า ในเรื่องของสถาบันและภาระหน้าที่ของทหารได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมาจนถึงปี 2560 มาตรา 52

ระบุว่ารัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย อาณาเขต และอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยรัฐต้องจัดให้มีทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญนี้หมายถึงการมอบหน้าที่ให้รัฐ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องมีทหาร จัดไว้ตามรัฐธรรมนูญกำหนด หรือตามที่กฎหมายกำหนด

ให้พิทักษ์รักษาไว้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนสนับสนุนภารกิจสถาบัน ถือปฏิบัติมาโดยต่อเนื่อง และในส่วนมาตรา 8 ของรัฐธรรนูญบัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งองค์จอมทัพไทยที่ข้าราชการทหารมีขวัญกำลังใจและปลาบปลื้มในการปฏิบัติหน้าที่ต่อรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องความนิยมและเป็นประมุขของรัฐที่ทุกรัฐมีเป็นสากล กำลังทหารมีหน้าที่ปกป้องรัฐ ประเทศ และประมุกของรัฐที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร เราจึงใช้คำว่าจอมทัพไทย

เมื่อถามว่า จะใช้เครื่องมืออะไรของรัฐในการทำความเข้าใจและพูดคุยกับประชาชนที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับสถาบันฯ พล.อ.เฉลิมพล กล่าวว่า ในส่วนข้อมูลข่าวสารประชาชนจะได้รับข้อมูลหลายส่วนในการดำเนินการของเหล่าทัพจะดำเนินการตามกรอบกฎหมายที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญ

ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ก็ได้กำหนดว่าสามารถมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก สามารถดำเนินการได้เท่าใดขอให้ไปดูบทบัญญัติที่มีเขียนต่อท้ายว่า ไม่กระทบความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประเทศ ส่วนนอกเหนือจากนี้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการ

เมื่อถามถึงเหล่าทัพจะสนับสนุนนโยบายของทางรัฐบาลอย่างไร พล.อ.เฉลิมพล กล่าวว่า กองทัพเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐบาล และกรอบการดำเนินการในส่วนของทหารจะช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ เช่นการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รวมถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เหล่าทัพปฏิบัติมาต่อเนื่อง และการขับเคลื่อนยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี การปฏิรูปประเทศ ที่ทุกส่วนราชการดำเนินการทางทหารก็จะสนับสนุนในส่วนที่เคยปฏิบัติ

เมื่อถามถึงบทบาทกองทัพกับการเมืองจะวางตัวอย่างไร พล.อ.เฉลิมพล กล่าวว่า เรื่องการเมืองเป็นเรื่องการบริหารประเทศตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ทหารเป็นกลไกของรัฐบาลปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการช่วยเหลือประชาชน ส่วนด้านการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการในส่วนของผู้เกี่ยวข้องกับการเมือง

บทบาททหารไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่สิ่งที่อาจจะเกี่ยวพันหรือทาบทับกันคือเรื่องความมั่นคงของรัฐ ที่เป็นหน้าที่โดยตรงของทหาร ซึ่งไม่ต้องมีผู้ใดสั่ง แต่ภาพการปฏิบัติเราอยู่ภายใต้กรอบแนวทางนโยบายรัฐบาบทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องความมั่นคง

เมื่อถามว่า ทหารจะทำหน้าที่นอกรัฐธรรมนูญ หรือจะทำปฏิวัติหรือไม่ พล.อ.เฉลิมพล กล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ในแนวทางดำเนินการ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เรามีการปกครองระบอบประขาธิปไตย ทหารคือประชาชน ในหน่วยทหารอะไรที่ไม่ใช่การปกครองที่ต้องสั่งการเป็นภารกิจเพื่อการอยู่ร่วมกันเราก็ใช้ประชาธิปไตยในการดูแลความเป็นอยู่ของกำลังพล