มติศาลรัฐธรรมนูญ 9 ต่อ 0 ประยุทธ์ พ้นผิดคดีบ้านพักหลวง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

คำต่อคำ มติศาลรัฐธรรมนูญ เอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ไม่ให้ตำแหน่งรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว

วันที่ 2 ธันวาคม 2563 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ องคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งพิจารณาเพื่ออ่านคำวินิจฉัย เรื่อง ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบกับมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่งและมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่

ระเบียบ ทบ.ไฟเขียว อดีต ผบ.ทบ.อยู่บ้านพักต่อได้

ทั้งนี้ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตาม พ.ร.ป. วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่งและมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่

ข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า ขณะที่ดำรงตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ร้องได้ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 เกษียณอายุราชการ 30 กันยายน 2557 ขณะที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. อาศัยบ้านพักที่อาคารหมายเลข 253/54 ตั้งอยู่ที่กรมทหารราบที่ 1 ซึ่งบ้านพักหลังนี้ปรับโอนให้เป็นสถานะบ้านพักรับรองกองทัพบก ปี 2555 ปัจจุบันพื้นที่ครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์ในราชการของกองทัพบก

ประเด็นที่วินิจฉัยเบื้องต้นว่า ผู้ถูกร้องมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ตาม 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่งและมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ เห็นว่าเมื่อพิจารณาระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก 2548 ข้อ 5 กำหนดว่าผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกต้องมีคุณสมบัติตามข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ 5.1 เป็นข้าราชการประจำการสังกัดกองทัพบกที่มีชั้นยศพลเอก 2.เป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพบกและประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้ว

ข้อ 7.กำหนดให้แบ่งประเภทของบ้านพักรับรองกองทัพบก สำหรับผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยตามข้อ 5 ดังนี้ 7.1 บ้านพักรับรองกองทัพบกอาคารหมายเลข 70/25 เป็นบ้านพักรับรองของ ผบ.ทบ. 7.2 บ้านพักรับรองกองทัพบก อาคารหมายเลข 1 4 31 107/10 246/16 26/18 385/23 249/25 437/37 493/45 และที่กองทัพบกกำหนดขึ้นภายหลัง เป็นบ้านพักรอบรองของผู้บังคับบัญชาการชั้นสูงกองทัพบกและอดีตผู้บังคับบัญชาในข้อ 5.2

ข้อ 8 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก หมดสิทธิเข้าพักอาศัยในกรณีดังต่อไปนี้ 8.1ย้ายออกนอกกองทัพบก 8.2 ออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด 8.3 ถึงแก่กรรม 8.4 เมื่อกองทัพบกพิจารณาให้หมดสิทธิการเข้าพักอาศัย

ข้อ 8 วรรคสองกำหนดว่า สำหรับผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยตามข้อ 5.2 ถ้าหมดสิทธิเข้าพักอาศัยตามข้อ 8.1 หรือ 8.2 แล้ว กองทัพบกอาจพิจารณาให้เข้าพักอาศัยเป็นกรณีเฉพาะรายก็ได้

ข้อ 11 กำหนดว่าบ้านพักรับรองที่กองทัพบกกำหนด ให้กองทัพบกพิจารณาความเหมาะสม ในการสนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟฟ้า น้ำประปา ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการพักอาศัยตามความจำเป็น และเหมาะสมในการใช้งาน

“ประกอบกับคำชี้แจงของ ผบ.ทบ. ขณะที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ผู้ถูกร้องยังคงดำแหน่ง ผบ.ทบ. อยู่ ผู้ถูกร้องจึงมีสิทธิเข้าพักอาศัยบ้านพักรับรองกองทัพบก ตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก 2548 ข้อ 5 และเมื่อผู้ถูกร้องเกษียณอายุราชการในตำแหน่ง ผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557”

“แต่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็ยังเป็นผู้มีสิทธิอาศัยในบ้านพักรับรองดังกล่าว เนื่องจากผู้ถูกร้องเคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กองทัพบกและประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้วตามข้อ 5.2 หาใช่อาศัยในบ้านพักรับรองในฐานะตำแหน่งนายกฯ เพียงสถานะเดียวไม่ ซึ่งหากผู้ถูกร้องไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก แม้เป็นนายกฯ ที่เป็นพลเรือน ย่อมไม่มีสิทธิอาศัยในบ้านพักรับรองตามระเบียบกองทัพบกได้”

นอกจากนี้ ข้อ 8 กำหนดให้อำนาจกองทัพบกพิจารณาให้ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก ที่หมดสิทธิอาศัยเพราะเหตุย้ายออกนอกกองทัพ หรือออกจากราชการ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้มีสิทธิเข้าพักอาศัยเป็นกรณีเฉพาะรายก็ได้ การที่กองทัพบกกำหนดให้อาคารหมายเลข 253/54 เป็นบ้านพักรับรอง แม้เป็นการกำหนดขึ้นภายหลัง ปรากฏตามหนังสือ กบ.ทบ. ด่วนมาก ที่ ต่อ กห. 0404/1560 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2555 โดยอนุมัติให้ปรับโอนอาคารเรือนรับรองดังกล่าว เป็นบ้านพักรับรองกองทัพบกซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพบกก็ตาม แต่เป็นการกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 7.2 ให้กระทำได้

กองทัพมีอำนาจจ่าย ค่าไฟฟ้า – ประปา

“ส่วนกองทัพบกสนับสนุนค่าไฟฟ้า และน้ำประปา ในการใช้งานในบ้านพักรับรองกองทัพบกพิจารณาตามความเหมาะสมในการสนับสนุนงบประมาณตามค่ากระแสไฟฟ้า น้ำประปา ตลอดจนค่าใช้จ่าย อื่น ๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมในการใช้งานตามข้อ 11 แล้ว นอกจากนี้การให้สิทธิดังกล่าวข้างต้น กองทัพบกได้พิจารณาให้สิทธิแก่บุคคลผู้เข้าเงื่อนไขมีคุณสมบัติในการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก มิใช่ให้สิทธิให้กรณีผู้ถูกร้องเท่านั้น”

“เห็นได้ว่าการที่ผู้ถูกร้องพักอาศัยในบ้านพักรับรองที่กองทัพบกจัดให้ และได้รับค่าสนับสนุนกระแสไฟฟ้า น้ำประปาเป็นไปตามดุลพินิจของกองทัพบก ที่มีอำนาจพิจารณาตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก 2548 ซึ่งระเบียบดังกล่าวบังคับ 16 กุมภาพันธ์ 2548 ก่อนที่ผู้ถูกร้องจะดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ.และเป็นนายกรัฐมนตรี”

บ้านพิษณุโลกยังปรับปรุง

นายวรวิทย์ อ่านคำวินิจฉัยต่อว่า โดยที่นายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อประเทศ นอกจากเป็นหัวหน้าของคณะรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังมีฐานะเป็นผู้นำของประเทศ ความปลอดภัยของนายกฯ รวมทั้งครอบครัวมีส่วนสำคัญ รัฐมีหน้าที่จัดดูแลให้ปลอดภัยแก่นายกฯ และครอบครัว ตามความเหมาะสมแก่สภาพการณ์

การจัดบ้านพักรับรองที่ปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ในการปฏิบัติภารกิจการบริหารประเทศ ล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐพักจัดให้มีที่พำนักแก่ผู้นำประเทศ

กรณีในประเทศไทย แม้นในอดีตรัฐเคยกำหนดให้สถานที่บางแห่งเป็นที่พำนักของนายกฯ ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง เช่นบ้านพิษณุโลก แต่ปัจจุบันการบำรุงรักษายังไม่พร้อมใช้ หรือจัดให้มีขึ้นใหม่ ดังนั้นเพื่อให้นายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ผู้นำประเทศอย่างสมเกียรติ รัฐพึงจัดให้มีที่พำนักประจำตำแหน่งนายกฯ

การที่กองทัพบกอนุมัติใช้บ้านพักกองทัพบก สนับสนุนกระแสไฟฟ้า น้ำประปา ซึ่งผู้ถูกร้องได้รับสิทธิตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ. ต่อเนื่องปัจจุบัน โดยเป็นไปตามระเบียบกองทัพบก 2548 เป็นกฎที่ยังคงใช้บังคับอยู่โดยมิได้ถูกยกเลิกหรือเพิกถอน

ประกอบกับ กองทัพบกให้สิทธิดังกล่าวแก่ผู้มีคุณสมบัติตามระเบียบนั้น โดยถือเป็นสิทธิของบุคคลอันเนื่องมาจากการดำรงตำแหน่งอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก จึงไม่ได้เป็นการกระทำที่ทำให้ผู้ถูกร้อง ได้รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ เป็นพิเศษที่ปฏิบัตินอกเหนือไปจากที่ปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ในธุรกิจการงานปกติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) ดังนั้นคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง จึงไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)

ไม่ขัดมาตรฐานจริยธรรม

ส่วนประเด็นที่กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันทำให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) หรือไม่ เมื่อวินิจฉัยว่าการที่ผู้ถูกร้อง พักอาศัยบ้านพักรับรองกองทัพบก ซึ่งกองทัพบกพิจารณาจัดบ้านพักรับรองกองทัพบบก และสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปา ใช้งานในบ้านพักรับรองกองทัพบก

ตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก 2548 แล้ว จึงไม่เป็นกรณีการถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเอง ไม่เป็นการขอ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจจะทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่

และไม่เป็นการกระทำอันเป็นขัดกันต่อประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับให้รับได้ ดังนั้น ผู้ถูกร้องจึงไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่กำหนดในข้อ 27 ประกอบ 7 8 9 10 และ 11 อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(5) ซึ่งเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่งและมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ เป็นมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ไม่ให้ตำแหน่งรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว