จาก “ทักษิณ” ถึง “ประยุทธ์” พ้นมลทินซุกหุ้น รอดปมบ้านพักทหาร

รายงานพิเศษ

“บ้านพักในค่ายทหาร” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กลายเป็นวาระร้อนประชิดรั้วทำเนียบรัฐบาล

ในวันพุธที่ 2 ธันวาคม 2563 องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คนจะออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี ชี้ขาดความเป็นนายกฯ จะสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ ตามคำร้องของ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยและคณะ

เนื่องจากอาจเป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะ “ยังอยู่บ้านพักทหาร” ทั้งที่ เกษียณอายุราชการไปแล้ว

ทางรอด-ทางตัน “ประยุทธ์”

ในจังหวะที่ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองหลายกลุ่ม หลายขั้ว วิเคราะห์ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปหลายทาง

ทั้งมองว่าการตัดสินอาจเป็น “ทางลง-บันไดหนีไฟ” ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะลงจากตำแหน่งอย่างสวยงาม ตามเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่านายกฯเคยเปรยอยากลาออกกับบุคคลใกล้ชิดถึง 3 หน

อย่างไรก็ตาม “กุนซือตึกไทยคู่ฟ้า” มองทะลุค่ายกลกฎหมายว่า “จะไม่เป็นปัญหาเพราะ พล.อ.ประยุทธ์อยู่บนข้อยกเว้นตามระเบียบของกองทัพบก เป็นข้อยกเว้นตามกฎหมายให้อดีต ผบ.ทบ.อยู่บ้านพักในกองทัพได้ ถึงแม้ว่าจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว”

เนื่องจากมี “ข้อยกเว้น” โดยระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคารบ้านพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำในกองทัพบก พ.ศ. 2553 ที่ลงนามโดย “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” สมัยเป็น ผบ.ทบ.

เป็น “ข้อยกเว้น” อนุญาตให้ “อดีตผู้บังคับบัญชากองทัพ” พักอาศัยใน “บ้านพักทหาร” และที่ผ่านมา “พล.อ.ประยุทธ์จ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟเอง”

หาก “ตีความ” จาก “ตัวอักษร-ถ้อยคำ” เป็น “เจตนารมณ์” ในกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ใช้คำว่า “ข้อบังคับ” หมายถึง “ระเบียบ” ซึ่งกองทัพบกอนุญาตให้ “อดีตผู้บังคับบัญชา” อยู่ในบ้านพักสวัสดิการทหารได้

และกองทัพบกยังส่งคำชี้แจงแทน “พล.อ.ประยุทธ์” ในมุม “กองทัพ” ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่สมัย ผบ.ทบ.คนเก่า “พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” และ “พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้”

แต่ในฟากคนแวดวงนิติบัญญัติยังพูดถึงการที่ “บ้านพัก” ซึ่งอยู่ในขอบเขตกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งตาม “พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์” พ.ศ. 2562

เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ อันเป็น “เขตพระราชฐาน”

ให้พิจารณาเป็น “เครื่องเคียง” ในการติดตามคดีดังกล่าวนี้ด้วย แม้ว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้จะประกาศใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ออกหลังรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ตามหลักกฎหมายหากเป็นคุณต้องยกประโยชน์ให้ผู้ถูกกล่าวหา

กับอีกเคสหนึ่งมีการโยงไปเปรียบเทียบกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9 ต่อ 0 ให้ “สมัคร สุนทรเวช” พ้นจากการเป็นนายกฯ จากการเป็น “ลูกจ้าง” ในรายการชิมไปบ่นไป เมื่อปี 2551 เพราะขัดกับบทบัญญัติเรื่องความขัดกันแห่งผลประโยชน์

เช่นเดียวกับ ในคำร้องที่พรรคเพื่อไทยขอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคุณสมบัติ พล.อ.ประยุทธ์ คือ กระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) ไม่รับเงิน หรือ “ประโยชน์ใด ๆ” จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ

จึงขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาในบรรทัดสุดท้าย หากตีความเป็นลบ “พล.อ.ประยุทธ์” จะถูกเว้นวรรค 2 ปีในทางการเมืองทันที

เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (8) บัญญัติคุณสมบัตินายกฯไว้ว่า ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุกระทําการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 (โยงกับความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184) หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึง 2 ปีนับถึงวันแต่งตั้ง

3 นายกฯขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ

หากเลาะปมประวัติศาสตร์ความเป็นนายกฯที่ต้องขึ้นเขียงศาลรัฐธรรมนูญในรอบ 2 ทศวรรษ ที่มีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2540 มีเพียง 2 นายกฯ พี่น้องชินวัตร “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” และ “สมัคร สุนทรเวช” เท่านั้น ไม่นับ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ที่พ้นจากตำแหน่งเพราะถูกยุบพรรค ไม่ได้มีความผิดเฉพาะตัว หรือ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นตีความเรื่องคุณสมบัติ ส.ส.โยงกับปมหนีทหาร เมื่อพ้นจากตำแหน่งนายกฯไปแล้ว

ย้อนความไปถึง “สมัคร” ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯด้วยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เนื่องจากการจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” เป็นการกระทำเข้าข่ายกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551

“สมัคร” เบิกความต่อศาลโต้แย้งข้อกล่าวหาว่า “ผมไม่ได้ไปทำรายการ เขาเชิญสปอนเซอร์ทั้งหลายมาทำข้าวผัดและให้ผมไปตรวจสอบว่าของใครอร่อย ผมไม่ได้ทำ ส่วนที่ไปก็แค่เชิญมาไม่ได้มีอะไรเสียหาย”

“ส่วนรายการของผมไม่เคยเรียกร้องสักบาท ถึงไม่ให้ผมก็ทำเพราะผมชอบทำของผม ถ้าจะเลิกผมก็ต้องเลิก ผมไม่สนใจว่าเรื่องเงินต้องเป็นสาระสำคัญ ซึ่งต้องพิสูจน์ว่าหลังเป็นนายกฯผมเคยได้รับเงินจากบริษัทหรือไม่ แต่ที่ผมไม่คิดว่าผิดเพราะทนายบอกว่าเป็นการรับจ้างไม่ใช่ลูกจ้าง ผมก็แน่ใจว่าไม่ผิด ผมทำเพราะเห็นว่าไม่ผิด พอมีคนทักท้วงผมก็หยุดทำ”

แต่ที่สุดแล้ว “สมัคร” ก็ไม่รอด คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุตอนหนึ่งว่า หลังจากผู้ถูกร้องเข้ารับตำแหน่งนายกฯแล้วยังเป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ให้กับบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด

“พยานหลักฐานทั้งหมดมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า นายสมัครทำหน้าที่พิธีกรในรายการ “ชิมไปบ่นไป” หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯแล้ว โดยยังคงได้รับค่าตอบแทนที่มีลักษณะเป็นทรัพย์สินจากบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ดังนั้น การที่เป็นพิธีกรให้แก่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด จึงเป็นการรับจ้างการทำงานตามความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 แล้ว เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัครจึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)”

“ยิ่งลักษณ์” พ้นนายกฯซ้ำสอง

รายต่อมาที่ต้องพ้นจากเก้าอี้นายกฯ แม้เป็น “นายกรัฐมนตรีรักษาการ” คือ “ยิ่งลักษณ์” ในคดีโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จากคำร้องของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่

“ยิ่งลักษณ์” ชี้แจงว่า ไม่ได้ใช้สถานะหรือตำแหน่งของการเป็นนายกรัฐมนตรีในการสั่งอนุมัติโดยลำพัง แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติในการประชุมคณะรัฐมนตรี และการโยกย้ายเป็นไปตามความเหมาะสมตามดุลพินิจของรองนายกฯที่ได้มอบอำนาจไปแล้ว

“การโยกย้ายไม่มีการวางแผนล่วงหน้า แต่เป็นดุลพินิจและการทาบทามรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานนั้น ๆ และเจ้าตัวสมัครใจ ซึ่งการแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี มาเป็นเลขาธิการ สมช. เนื่องจากมีผลงานเรื่องการดูแลความมั่นคง ส่วนที่ พล.ต.อ.วิเชียรข้ามไปเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม ก็เป็นเพราะการทาบทามของ รมว.คมนาคม”

ขณะที่การแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็น ผบ.ตร.นั้น แม้ตำแหน่งนายกฯจะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) แต่ก็ไม่สามารถแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่ง ผบ.ตร.ได้ เพราะเป็นมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการ ซึ่งได้มีการพิจารณาตามความเหมาะสม โดย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์มีประสบการณ์-ความอาวุโส

“ยิ่งลักษณ์” ยืนยันว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯได้สิ้นสุดลงแล้ว พร้อม ครม. เมื่อมีการยุบสภา ผู้ร้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยให้ความเป็นนายกฯสิ้นสุดลง ย่อมไม่มีวัตถุแห่งคดี ความเป็นนายกฯให้ต้องสิ้นสุดลงซ้ำสอง

แล้ว “ยิ่งลักษณ์” ก็พ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกฯ ด้วยมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญ

“ทักษิณ” พ้นซุกหุ้น

ส่วน “ทักษิณ ชินวัตร” รอดจากซุกหุ้นภาคแรก ในปี 2544 หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ชี้มูลความผิด “ทักษิณ” ข้อหา “จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความที่เป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริง”

วันแถลงปิดคดี “ทักษิณ” กล่าวต่อหน้าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งว่า

“ฐานะของผมที่มั่นคงขึ้นจนสมัยหนึ่งมีคนกล่าวขานถึงว่า มีหลักทรัพย์มาก มียอดเงินฝากสูง มีกิจการใหญ่โตและอยู่ในลำดับต้น ๆ ของผู้เสียภาษีมากที่สุดนั้น ไม่ได้เกิดจากการที่ผมเป็นตำรวจได้ยศ พ.ต.ท.ไปรีดไถใครมา และไม่ได้เกิดจากการที่ผมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และกอบโกยจากการประมูลหรือการจัดซื้อจัดจ้าง หากแต่เกิดจากการประกอบธุรกิจที่สุจริตและชอบด้วยกฎหมาย”

ศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2544 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 15 คน มีเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 เสียง ให้ชะตาของนายกฯคนที่ 23 พ้นข้อกล่าวหา “ซุกหุ้น”


ส่วนนายกฯคนที่ 29 มีโอกาสรอดมากกว่าไม่รอด…เทียบ “ทักษิณ”