“ประยุทธ์” ในมรสุม “บ้านพักหลวง” ผลแห่งคดี อยู่ต่อยาว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

อีกไม่กี่ชั่วโมง ก็จะได้รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยังมีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ต่อไปหรือไม่

เพราะในเวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่

ที่เรียกว่า “คดีบ้านพักทหาร” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังอาศัยอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ทั้งที่ในรายงานบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีบ้านพักในซอยร่วมมิตร 14 ถนนพหลโยธิน สามเสนใน พญาไท กทม. ราคา 2 ล้านบาท กับคู่สมรส 2 ล้านบาท รวม 4 ล้านบาท อยู่อีกหลังหนึ่ง

9 ตุลาการ ชี้ชะตา

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ที่จะชี้ชะตา “พล.อ.ประยุทธ์” ประกอบด้วย 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ 3.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 4.นายปัญญา อุดชาชน 5.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 7.นายจิรนิติ หะวานนท์ 8.นายนภดล เทพพิทักษ์ และ 9.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

ผลแห่งคดีทางรอด-ไม่รอด

หากที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “พล.อ.ประยุทธ์” มีความผิด จะเอฟเฟ็กต์ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง

1.ความเป็นนายกฯ จะต้องสิ้นสุดลง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ส่งผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องพ้นทั้งคณะ เมื่อ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 (4) และต้องเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ นำไปสู่ฟอร์มคณะรัฐมนตรีใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศ

2.พล.อ.ประยุทธ์จะถูกเว้นวรรค 2 ปี ในทางการเมืองทันที เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (8) บัญญัติคุณสมบัตินายกฯ ไว้ว่า ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุกระทําการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 (โยงกับความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184) หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง

3.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 ให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใต่สวน หากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ซึ่งหากศาลฎีกาชี้ว่ามีความผิดจริงจะเข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 เพื่อให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นและจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี ด้วยหรือไม่ก็ได้

4. มีคำร้องของ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นต่อ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ให้วินิจฉัยอดีตนายพลที่เกษียณอายุยังอยู่ในบ้านพักทหาร ใช้น้ำ – ไฟฟรี รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท ขัดต่อ พ.ร.ป.ป.ป.ช. 2561 ม.128 ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่รัฐ 2543 ที่บัญญัติห้ามไว้ ซึ่งอาจนำมาสู่การไต่สวนต่อไป

แต่ถ้ารอด… พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ในตำแหน่งนายกฯ คนที่ 29 ต่อไปและไร้รอยต่อ

ที่มาปมบ้านพักทหาร

เรื่องราวของปม “บ้านพักทหาร” ของ พล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้นก็เพราะ “พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ขณะยังเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวต่อสาธารณะ ว่า “ข้าราชการทหารที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว จะต้องย้ายออกจากค่ายทหาร จะปักหลักอยู่ยาวอย่างไม่มีวี่แววว่าจะย้ายออก…คงไม่ได้แล้ว”

ภายหลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่มีนายทหารกราดยิงที่โคราช เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2563

สิ้นเสียง “พล.อ.อภิรัชต์” แรงกระแทกตรงไปที่ 3 ป. ผู้มีอำนาจในรัฐบาลทันที ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ยังอยู่ในบ้านพักทหารทั้งสิ้น

ก่อนที่ ผบ.ทบ.จะสั่งไปยังกรมสวัสดิการทหารบก ให้ “ยกเว้น” นายทหารที่เกษียณราชการแล้ว แต่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เช่น นายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี, สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และองคมนตรี ยังสามารถอาศัยอยู่ได้ตามปกติ เพราะทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ

18 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ แก้ต่างว่า “ผมทำงานรับใช้ชาติมาตลอดชีวิต ถึงกฎระเบียบจะว่าอย่างไรก็ตามวันนี้ก็ยังทำงานอยู่ ปัญหาคือผมเป็นนายกฯ จึงต้องมีสถานที่ที่เหมาะสมในการรักษาความปลอดภัย ในฐานะผู้นำประเทศ ซึ่งผมก็เตรียมการไปอยู่บ้านตัวเองอยู่แล้ว”

จากนั้น 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการทหาร ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ กระแทกมาที่ “พล.อ.ประยุทธ์”

วันนั้น “ประเสริฐ” เปิดประเด็นว่า เพราะนายกฯ จงใจไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) คือการขัดกันของผลประโยชน์ ถือเป็นการรับประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ โดยหลังเกษียณจาก ผบ.ทบ. ยังอยู่ในบ้านพักทหาร ทั้งที่ตามระเบียบกองทัพบก กำหนดให้ข้าราชการ อาคารบ้านพักให้อยู่ความดูแลของกรมสวัสดิการทหารบก ผู้มีสิทธิ์เข้าพักต้องเป็นราชการประจำหรือลูกจ้างประจำ

“และหากผู้นั้นมีที่พักเป็นของตัวเองหรือของคู่สมรสในกรุงเทพฯ ผู้นั้นไม่มีสิทธิ์เข้าพักอาศัย หรือคนที่เกษียณอายุก็ต้องย้ายออกทันที ดังนั้นการที่ยังพักอยู่ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ และเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าฯ ก็จะกำหนดการใช้น้ำและไฟฟ้าในสัดส่วนที่กำหนดต่อเดือน”

“ซึ่งบ้านที่พลเอกประยุทธ์ อาศัยอยู่เป็นบ้านรับรองของผู้บัญชาการเข้าในระเบียบนี้ด้วย อีกทั้งหนังสือเวียนของกระทรวงการคลัง ก็กำหนดไม่ให้ผู้ที่เกษียณอายุราชการแล้วอาศัยอยู่ อีกทั้งถ้าเกษียณอายุแล้วต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟเองและต้องย้ายออกภายใน 90 วัน หรือเช่นกองทัพอากาศผู้ที่จะเกษียณอายุแล้วต้องขนของออกก่อนเกษียณ 7 วัน หรือระเบียบ กทม. ก็กำหนดสิทธิ์ในการพักอาศัยว่าเป็นข้าราชการสังกัด กทม. ต้องไม่มีบ้านใน กทม. และถ้าเกษียณแล้วก็หมดสิทธิ์อาศัยอยู่”

“แล้วพลเอกประยุทธ์ ที่เกษียณไปแล้วตั้งแต่ 1 ตุลาคม ปี 2557 ดังนั้นการอยู่ในบ้านพักมากว่า 5 ปีจึงอยู่โดยที่ไม่มีสิทธิ์การพักอาศัย อีกทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่าย ก็เป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านบาทแน่นอน”

พรรคเพื่อไทยฟอลโลว์เรื่องนี้ต่อเนื่อง 9 มีนาคม 2563 “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่
จากนั้น 10 มีนาคม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าได้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้ว

เรื่องเงียบไปพักหนึ่ง ก่อนที่ 11 มิ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญทำหนังสือแจ้งคู่ความว่ามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาล ซึ่งกองทัพบก ในยุค พล.อ.อภิรัชต์ ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

4 พฤศจิกายน ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า ศาลได้ประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า คดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน” และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันที่ 2 ธันวาคม เวลา 15.00 น

ให้ติดตามผ่าน youtube

24 ชั่วโมงก่อนชี้ชะตา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนด ในการอ่านคำวินิจฉัยคดี “บ้านพักทหาร” ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นผู้ถูกกล่าวหา ผิดแผกจากการออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีก่อนๆ เมื่อมีการให้ติดตามการอ่านคำวินิจฉัยผ่านทาง youtube ในช่องของ “สํานักงานศาลรัฐธรรมนูญ” อีกทั้ง จะไม่มีการ “ถ่ายทอดสด” มายังด้านล่างอาคารศาลรัฐธรรมนูญที่ห้องสื่อมวลชน เหมือนทุกครั้ง มีเพียงการถ่ายทอดเสียงลงมาเท่านั้น

โปรดติดตามในเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด!