“ประยุทธ์” รอดแน่ แต่ต้องออก

ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม โบกมิอ
FILE PHOTO : CHALINEE THIRASUPA / POOL / REUTERS
คอลัมน์สามัญสำนึก
อิศรินทร์ หนูเมือง

ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้มีเพียงสถานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

หากว่ายังดำรงตำแหน่ง “นายทหารพิเศษ” ประจำกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์, นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์, นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

การพักอยู่ใน “บ้านหลวง” ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถ.วิภาวดีรังสิต ของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังพ้นจากตำแหน่ง “ข้าราชการทหาร” มาแล้ว 6 ปี มีประเด็นก้ำกึ่งทางกฎหมาย 3 ฉบับ ที่สุ่มเสี่ยงว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะ “รับประโยชน์อื่นใด”

ทั้งประเด็นในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ระบุในธงฝ่ายค้านว่า “จงใจฝ่าฝืน” มาตรา 184 และมาตรา 186 ที่ห้าม ส.ส. ส.ว. หรือ รมต. รับเงิน หรือ “ประโยชน์ใด ๆ” จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกจากที่หน่วยงานเหล่านั้นปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ

หรือข้อกฎหมาย ป.ป.ช. ที่ระบุไว้ในมาตรา 128 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับทรัพย์สิน หรือ “ประโยชน์อื่นใด” ที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท

รวมทั้งมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ระบุว่า ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือ “ประโยชน์อื่นใด” ในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ยังมีตัวบท-ตัวช่วย พล.อ.ประยุทธ์ ในเชิงลายลักษณ์อักษร 2 ระเบียบ กับ 1 ความเห็นประกอบ

ข้อแรก “ระเบียบกองทัพบก” ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยใน “บ้านพักรับรอง” พ.ศ. 2548

ข้อสอง “ระเบียบการเข้าพักอาศัยในอาคารบ้านพักของข้าราชการประจำและลูกจ้างในกองทัพบก” พ.ศ. 2553

ความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรของ “พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ลงนามก่อนการเกษียณอายุราชการ 2 วัน ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “…ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัย” เพราะเคยเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก (ทบ.) หรืออดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ซึ่งยังคงทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชการทหารบก

วรรคทอง ระบุไว้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นบุคคลสำคัญระดับประเทศ และเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและทหารบก”

“หากพักอยู่นอกเขตทหาร จะทำให้เกิดความยากลำบากในการรักษาความปลอดภัย จึงอนุมัติให้เข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองของทหารบก รวมถึงให้การรักษาความปลอดภัย และการสนับสนุนอื่น ๆ ในฐานะบุคคลสำคัญของประเทศ”

สอดคล้องกับนายพล “กุนซือตึกไทยคู่ฟ้า” ที่วิเคราะห์ว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในสภาวะ “ข้อยกเว้น” ตามระเบียบของกองทัพบก

เสียงจากปากของ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถาม-กึ่งข้อพิสูจน์ แก้ข้อกล่าวหาต่อสาธารณะ มีแต่เพียงว่า

“ผมทำงานรับใช้ชาติมาตลอดชีวิต ถึงกฎระเบียบจะว่าอย่างไรก็ตาม วันนี้ผมยังทำงานอยู่ ผมเป็นนายกฯ มันมีปัญหาเรื่องการรักษาความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องมีสถานที่ที่เหมาะสม ในฐานะเป็นผู้นำประเทศ”

ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ชะตา 48 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ตอบหนักแน่นว่า “เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ผมเคารพ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ไม่ขอวิจารณ์ ย้ำว่าเคารพคำตัดสินของศาล”

และถ้าต้องออกก็พร้อม “ผมก็มีบ้านพัก ถ้าเขาไม่ให้อยู่ก็ต้องไป เพียงแต่พื้นที่บ้านของผมมีความจำกัด คิดว่าคงไม่มีใครทำร้าย แต่ผู้นำทุกประเทศต้องได้รับความคุ้มครอง จะให้ผมโดดเดี่ยวคนเดียวคงไม่ใช่ ในต่างประเทศมีการคุ้มครองดูแล”

2 ธันวาคม 2563 หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ พ้นผิดไร้มลทิน ทั้งคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 2/3” ก็ดำรงสถานะรัฐบาลต่อไป

ทว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์มีมลทิน มัวหมอง เพราะ “รับผลประโยชน์อื่นใด” ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีก็พ้นจากตำแหน่งทั้งกระบิ เหลือเพียงสถานะรัฐบาลรักษาการ

แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหมายเลข 1 ในฝ่ายรัฐบาล คือ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ผู้ครอบครอง ส.ส.อันดับ 2 ในรัฐบาล จำนวน 61 เสียง

ที่เหลืออีก 4 ราย ประกอบด้วย 1.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งลาออกจาก ส.ส.ไปแล้ว

หมายเลข 2-3 อยู่ในสังกัดพรรคฝ่ายค้านจากเพื่อไทย เพียง 2 รายหลัง จากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เลิกสังฆกรรมกับพรรคเครือข่ายทักษิณ คือ 1.นายชัยเกษม นิติสิริ 2.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจากโครงสร้างอำนาจที่อยู่ใน “สภาวะยกเว้น” เขาจึงรอดพ้นมลทินมัวหมอง

แต่สุดท้าย อาจจะต้อง “ออก” จากบ้านพักรับรองในค่ายทหาร !