ผลงาน 250 สว.มรดก คสช.เซตเกมองค์กรอิสระ ล็อกโหวต 2 นายกรัฐมนตรี

sedVStu
คอลัมน์ : Politics policy people forum

อาจกล่าวได้ว่า “ปิดฉาก” วุฒิสภา 250 คน อย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 เพราะเป็นการประชุม สว.นัดสุดท้าย หลังทำหน้าที่มายาวนานกว่า 5 ปีเต็ม ตั้งแต่ 11 พฤษภาคม 2562 จะหมดวาระ 11 พฤษภาคม 2567

สว. 250 คน มีภารกิจพิเศษ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 นอกจากเป็นร่างทรงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะมาจากการเห็นชอบของ คสช.

เป็นกลไกหลักในการทำหน้าที่และมีอำนาจเสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จตามยุทธศาสตร์ชาติ และกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ดังนั้น รัฐบาลต้องรายงาน สว.ทุก ๆ 3 เดือน

สำคัญที่สุดคือมีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีถึง 2 คน ต่อไปนี้คือผลงานของ สว. 250 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

เลือกนายกฯ-องค์กรอิสระ

สว.เลือกหรือให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายอื่น จำนวน 58 ครั้ง 2 ครั้งในจำนวนนั้นคือการเลือกนายกรัฐมนตรี ถึง 2 คน

5 มิถุนายน 2562 รัฐสภาที่มีทั้ง สส.และ สว.จึงมีมติ 500 ต่อ 244 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 โดยมีเสียง สว.ยกมือให้ถึง 249 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง คือ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สว. ทำหน้าที่เป็นรองประธานรัฐสภา

และ เศรษฐา ทวีสิน ก็ได้รับเสียงโหวตจาก สว.สนับสนุนให้เป็นนายกฯ 482 ต่อ 165 เสียง โดยมี สว.เห็นชอบ 152 เสียง ไม่เห็นชอบ 13 เสียง งดออกเสียง 68 เสียง

เห็นชอบ 7 ตุลาการ

สำหรับการโหวตของ สว. ที่เห็นชอบในการแต่งตั้งองค์กรอิสระ มีดังนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นชอบไปทั้งหมด 7 คน 1.อุดม สิทธิวิรัชธรรม 2.วิรุฬห์ เสียงเทียน 3.จิรนิติ หะวานนท์ 4.นภดล เทพพิทักษ์ ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 และได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 1 เมษายน 2563

5.บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อ 13 กรกฎาคม 2563 และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อ 20 สิงหาคม 2563 6.อุดม รัฐอมฤต ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อ 26 ธันวาคม 2565 และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 28 มกราคม 2566 7.สุเมธ รอยกุลเจริญ ผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภา เมื่อ 12 ธันวาคม 2566 โดยได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อ 19 มีนาคม 2567

ไฟเขียว 6 ป.ป.ช.

สว.อนุมัติกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 6 คน 1.ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา 2.สุชาติ ตระกูลเกษมสุข ผ่านการเห็นชอบของวุฒิสภา เมื่อ 26 พฤษภาคม 2563 ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 (แต่ปัจจุบัน ณัฐจักรพ้นตำแหน่งเพราะอายุครบ 70 ปี)

3.พศวัจณ์ กนกนาถ ผ่านการเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 แต่ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ

4.เอกวิทย์ วัชชวัลคุ สว.เห็นชอบ เมื่อ 30 ตุลาคม 2566 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 5.แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อ 19 ธันวาคม 2566 และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อ 19 มีนาคม 2567 6.ภัทรศักดิ์ วรรณแสง สว.เห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 อยู่ระหว่างกระบวนการรอโปรดเกล้าฯ

ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2 คน

ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นชอบ 2 คน คือ รศ.อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ สว.มีมติเห็นชอบ เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อ 25 พฤษภาคม 2564 ทรงศักดิ์ สายเชื้อ สว.เห็นชอบเมื่อ 13 กันยายน 2564 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564

ไฟเขียว 2 กกต.

ด้าน 7 เสือ กกต. ผ่านการเห็นชอบโดย สว. 2 คน คือ ชาย นครชัย สว.มีมติเห็นชอบเมื่อ 7 สิงหาคม 2566 และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 อีกคนคือ สิทธิโชติ อินทรวิเศษ ได้รับความเห็นชอบจาก สว. เมื่อ 18 ธันวาคม 2566 และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง กกต. เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567

สว.ยังเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่น ๆ อีก ดังนี้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 1 ราย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน 7 ราย

ร่วมล้มเกม รธน.

นอกจากนี้ สว.ยังมีส่วนในการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีส่วนสำคัญที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล้มไปถึง 4 ครั้ง เพราะต้องใช้เสียง สว.เห็นชอบ 1 ใน 3

ครั้งแรก เป็นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 โดยแบ่งเป็น ฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 5 ฉบับ มีประเด็น อาทิ แก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, ปิดสวิตช์ ส.ว.โหวตนายกฯ, ยกเลิกคำสั่ง คสช.,

ส่วนฉบับของฝ่ายรัฐบาลมี 1 ฉบับ คือ แก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และฉบับของไอลอว์ เสนอแก้ไข 6 ประเด็น

แต่กลายเป็น “วาระแท้ง” ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้อำนาจรัฐสภา ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องทำประชามติถามประชาชนเจ้าของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเสียก่อน โดย สมชาย แสวงการ สว.และไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหอกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้อง

ครั้งที่สอง เป็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มรีโซลูชั่น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 นำโดยคณะก้าวหน้า ตั้งชื่อว่ารัฐธรรมนูญ “ฉบับรื้อระบอบประยุทธ์” แต่ก็ไม่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา

ครั้งที่สาม เป็นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ เสนอโดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 64,151 คน เพื่อปิดสวิตช์ สว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ทั้ง 4 ร่างถูกตีตกทั้งหมด

ครั้งที่ห้า ที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ… หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ “ร่างปลดล็อกท้องถิ่น” ของคณะก้าวหน้า

ผลงานกฎหมาย

ผลดำเนินการด้านกฎหมาย พิจารณา 59 ฉบับ แบ่งเป็น สว.เห็นด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร 37 ฉบับ, แก้ไขเพิ่มเติมและสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขของ สว. 10 ฉบับ, สว.และ สส.เห็นชอบกับร่างที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่วมกันแล้วเสร็จ 4 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญ 2 ฉบับ ตีตกกฎหมาย 1 ฉบับ รวมถึงอนุมัติพระราชกำหนด 14 ฉบับ

นี่คือผลงาน 5 ปี สว.ร่างทรง คสช.ที่อยู่มายาวกว่า 2 รัฐบาล ร่วมโหวตนายกฯ ถึง 2 คน