ประยุทธ์ สั่งทุกหน่วยเร่งแก้ฝุ่น PM 2.5 ประสานประเทศเพื่อนบ้านลดพื้นที่เผาไหม้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกฯ สั่งระดมทุกหน่วยงานช่วยเร่งแก้ปัญหาฝุ่น-เฝ้าระวังเข้มข้น ประสานเอกชนที่ไปลงทุนในเมียนมา ให้ช่วยดูแลการเผา

วันที่ 28 มีนาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงข้อสั่งการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่า

ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงการแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 สถานการณ์ล่าสุดจากข้อมูลของ gisda ไทยพบจุดความร้อน 5,396 จุด เมียนมา 6,877 จุด สปป.ลาว 4,066 จุด กัมพูชา 739 จุด เวียดนาม 626 จุด ส่วนไทย พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 3,024 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 1,790 จุด พื้นที่เกษตร 251 จุด พื้นที่ชุมชนอื่น ๆ 166 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก.157 จุด พื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด

ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดในประเทศ 3 อันดับแรก น่าน 555 จุด แม่ฮ่องสอน 429 จุด อุตรดิตถ์ 382 จุด ซึ่งนายกฯได้พูดถึงการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ยกระดับการแก้ไขปัญหาเป็นการเร่งด่วน โดยให้หน่วยงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการปิดป่าที่มีสถานการณ์ไฟป่าอยู่ในระดับวิกฤต หรือ เสี่ยงไฟป่าขั้นรุนแรง

มีการระดมสรรพกำลัง เครือข่าย อาสาสมัคร อุปกรณ์ อากาศยาน ปฏิบัติการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นอยู่ ในส่วนกระทรวงมหาดไทย กำชับจังหวัดประกาศห้ามเผาในทุกพื้นที่ พร้อมการบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ลาดตระเวนเฝ้าระวังการเผาอย่างเข้มข้น ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการกำชับให้มีการงดรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในช่วงนี้ นอกจากนี้ กระทรวงและหน่วยงานอื่น ๆ ก็ได้มีการดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้น

ส่วนกระทรวงการต่างประเทศ วันนี้ได้แจ้งว่าได้มีการพูดคุยสั่งการไปที่เอกอัครราชทูตในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อประสานขอความร่วมมือในการลดการเผาไหม้ในพื้นที่การเกษตร ซึ่งสาเหตุควันและฝุ่น PM 2.5 มีทั้งในประเทศเราเองและจากประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้ใช้ช่องทางทหารในการประสานงานหน่วยงานความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมอีกด้วย รวมถึงขอความร่วมมือบริษัทเอกชนที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ช่วยดูแลในเรื่องพื้นที่เกษตรด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังพูดถึงการส่งเสริมในระยะยาวให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ทั้งนี้จากการที่มีการส่งเสริมเรื่องของการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเห็นว่ามีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหา PM 2.5 พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้มีการส่งเสริมเปลี่ยนพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทนด้วย

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์สั่งเพิ่มเติมให้มีการเพิ่มสถานีการชาร์จไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศ รวมทั้งบรรจุสิทธิประโยชน์เพื่อการลงทุน เพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต่อไปในอนาคต เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวอีกด้วย