1 ปี เงินกู้โควิด พลาดเป้า “ศิริกัญญา” ชำแหละเสียโอกาสกู้วิกฤต

รายงานพิเศษ

ในที่สุดพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้ฉุกเฉิน รับมือโควิด-19 จำนวน 3 ฉบับ อันได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท

พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่เรียกกันติดหูว่า “พ.ร.ก.ซอฟต์โลน”

และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่มีชื่อเล่นว่า พ.ร.ก.อุ้มหุ้นกู้ BSF

วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท บังคับใช้ครบ 1 ปี ในวันที่ 18 เมษายน ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19รุกหนัก รุนแรง โดยเฉพาะรอบ 3 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นไปหลายเท่าตัว

หากเงินกู้ 1.9 ล้านล้านที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กดปุ่มเดินหน้ากว่า 1 ปี สำเร็จ หรือ ล้มเหลว

มีบุคคลการเมืองที่คอยมอนิเตอร์การใช้เงินของรัฐบาล วิพากษ์ไว้ดังนี้

รัฐการันตีมีเงินเยียวยาพอ

เริ่มจาก “อนุชา บูรพชัยศรี” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กระบอกเสียงรัฐบาลพูดแทน พล.อ.ประยุทธ์ว่า ยังมีเงินเกือบ 3.8 แสนล้านบาทสำหรับนำมาใช้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ แยกเป็นเงินจำนวน 2.4 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

เงินจากงบฯกลางปี 2564 ในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อการฉุกเฉินและจำเป็นอีก 98,500 ล้านบาท และงบฯสำหรับบรรเทาโควิด-19 อีก 36,800 ล้านบาท

“รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน”

จ่อปรับแผนงบฯสร้างงาน

ลองหาคำตอบ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซีกรัฐบาล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบการใช้เงินตาม พ.ร.ก. 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

ได้ “มอนิเตอร์” การใช้งบฯ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเรื่องการสาธารณสุข ใช้จ่ายเพื่อซื้อวัคซีน และจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นไปได้ด้วยดี ส่วนที่สอง การเยียวยา 6 แสนล้าน ใช้ไปครบแล้ว โดยเป็นการจ่ายโดยตรงไปที่ประชาชน ทำให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือ

ส่วนที่สาม เงินเพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจการสร้างงาน จากเดิม 4 แสนล้าน แต่โอนไปใช้ในก้อนเยียวยาจึงเหลือ 3 แสนกว่าล้าน อนุมัติไปแล้ว 2 แสนล้าน แต่หลายโครงการติดปัญหาเรื่องขั้นตอนการดำเนินงานในแต่ละหน่วยงาน ปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง บางเรื่องการจ้างบุคลากรมีการทับซ้อนกัน อาจทำให้บางโครงการมีคนเยอะ บางโครงการมีคนน้อย

“ถ้าใช้เงินได้ไม่หมด ทาง กมธ.เสนอประชุมกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ว่า จะทบทวนโครงการไหนที่อนุมัติไปแล้วแต่ความคืบหน้าน้อย บางโครงการใช้เงินไม่ถึง 10% ก็จะยกเลิกโครงการหรือลดขนาดลงเพื่อนำไปใช้ในโครงการอื่นต่อไปในวันที่ 30 เมษายน” ไพบูลย์กล่าว

ส่วนเรื่องทุจริตไม่พบในด้านสาธารณสุขและการเยียวยา แต่จะเกิดขึ้นในส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างงาน ได้รับร้องเรียนมาบ้าง แต่ยังดำเนินการไม่ได้มาก

นัด SMEs ถกเข้าถึงสินเชื่อ

ส่วน พ.ร.ก.ซอฟต์โลนทาง กมธ.รับฟังปัญหาแล้วพบว่า การเข้าถึงของ SMEs เข้าไม่ถึงสินเชื่อเพราะติดปัญหาที่ตัวกฎหมาย จึงหารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และคณะกรรมการกฤษฎีกาทำเรื่องแก้ พ.ร.ก. ซึ่งล่าสุดทางคณะรัฐมนตรีดำเนินการให้ดีกว่าที่ขอโดยออกเป็น พ.ร.ก.ฉบับใหม่

ในเดือนพฤษภาคม กมธ.จะเชิญ SMEs มาสัมมนาเพื่อให้ ธปท. สศค.ให้ความรู้กับ SMEs เพื่อให้เข้าถึงวงเงินดังกล่าวได้มากขึ้น

ส่วน พ.ร.ก.พยุงหุ้นกู้ BSF ที่ช่วยเหลือหุ้นกู้ของภาคเอกชนนั้น เนื่องจากสถานการณ์ของกิจการขนาดใหญ่ไม่ได้กระทบขนาดนั้น ไม่มีผู้ที่จะมาขอใช้วงเงินดังกล่าว จึงไม่มีผู้ที่จะใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้

เยียวยาผิดจุด 1 ปี ธุรกิจไม่ฟื้น

ข้อมูล “ไพบูลย์” ตรงกับฝ่ายค้าน “เพื่อไทย” โดยศูนย์นโยบายพรรค ที่สรุปว่า ผ่านไป 1 ปีมียอดการเบิกจ่ายจริง หรือเม็ดเงินลงสู่ระบบเพียงน้อยมากมีเม็ดเงินลงสู่ระบบราว 637,000 ล้านบาทจากยอดรวม 1.9 ล้านล้านบาท ราว 34% เท่านั้น

ขณะที่ “พิชัย นริพทะพันธุ์” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ ขยายความว่า ปัญหามี 2 ประเด็น คือ 1.การเยียวยาผ่านโครงการต่าง ๆ ได้แค่ช่วยประชาชน แต่หลักการไม่ได้ช่วยธุรกิจดี ถามว่าเราจะเดินต่ออย่างไรในเมื่อธุรกิจเจ๊งกันหมด

2.รัฐบาลไม่เคยบริหารธุรกิจ จึงไม่รู้ว่าคนบริหารธุรกิจเขาบริหารกันอย่างไร มองภาพใหญ่ของประเทศไม่เป็น มองภาพแต่ละธุรกิจไม่เป็นด้วย 1 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจฟื้น หรือมีธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้น ธุรกิจเดิมก็มีแต่เจ๊งไปเรื่อย ๆ

“เขาจะเปลี่ยนจากรถยนต์เป็นรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลก็ยังไม่มีรถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์เขาย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามกันหมด ท่องเที่ยวก็ต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ กว่าจะฟื้น และนักลงทุนต่างประเทศก็มองประเทศไทยว่าไม่ต่างจากพม่า ถูกจัดกลุ่มว่ามาจากการปฏิวัติ เมื่อสร้างความมั่นใจไม่ได้ สร้างธุรกิจใหม่ไม่ได้ก็รอวันเจ๊ง”

แม้ว่ารัฐบาลบอกว่ามีเงินพอในการเยียวยาประชาชน แต่ “พิชัย” มองว่า ใน 1.9 ล้านล้าน เป็นเงินเยียวยา 1 ล้านล้านใช้ไป 6 แสนกว่าล้าน ยังเหลืออยู่ 3 แสนกว่าล้าน ต้องกู้มาเยียวยา เพราะในภาวะแบบนี้จะปล่อยไม่ได้

“ในหลักการไม่ได้มองเฉพาะการเยียวยาอย่างเดียว แต่ต้องมองว่าประเทศจะเดินต่ออย่างไร จะมีเครื่องจักรทางเศรษฐกิจอะไรที่เดินต่อไปได้ด้วย และเงินในจำนวน 1.9 ล้านล้านต้องแปลงมาช่วยธุรกิจ ต้องคิดว่ารักษาธุรกิจที่มีอยู่จะรักษาอย่างไร จะสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมาได้อย่างไร”

รัฐขี้เหนียว-เบิกจ่ายไม่เข้าเป้า

พรรคก้าวไกลเคยเป็น “ตัวต้นเรื่อง” ที่ผลักดันให้เกิด กมธ.ตรวจสอบการใช้งบฯโควิด-19 มาวันนี้ “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคด้านนโยบาย สรุปการใช้งบฯโควิด 1.9 ล้านล้านว่า 1 ปีที่ผ่านมาเราแทบไม่เห็นความแตกต่างทางเศรษฐกิจว่าจะทำให้ประเทศพ้นจากวิกฤตได้อย่างไร

แย่กว่านั้น คือ รัฐบาลไม่สามารถทำตามแผนได้เลย พ.ร.ก. 1 ล้านล้านเพิ่งอนุมัติไปได้แค่ 7.5 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการเยียวยาด้วยการแจกเงินให้กับประชาชน ทั้งเราไม่ทิ้งกัน เราชนะ ม.33 เรารักกัน และเริ่มมากินงบประมาณแผนงานอื่น ๆ

แผนงานสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้าน อนุมัติไปแค่ 2 หมื่นล้าน ทั้งที่เป็นด้านความจำเป็นอย่างยิ่ง การระบาดสองระลอกที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าเราไม่ได้มีการเตรียมการด้านสาธารณสุขมากเพียงพอ ทั้งที่จัดสรรงบประมาณไว้แล้ว การเบิกจ่ายงบประมาณที่ส่งไปให้โรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นศูนย์

แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตั้งงบฯไว้ 4 แสนล้านบาท มีการปรับลดเพราะต้องเอาเงินไปเยียวยา เหลือ 3.5 แสนล้านบาท และเพิ่งอนุมัติไปได้แค่ 1.35 แสนล้านบาท แย่ที่สุดคือแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่มีการอนุมัติเลยแม้แต่บาทเดียว

“การที่ประเทศจะฟื้นฟูได้ต้องมีการปรับโมเดลการพัฒนา กระตุ้นเศรษฐกิจไปที่การบริโภคการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และกระตุ้นผ่านการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งไม่มีการเบิกจ่ายเลย”

“การกระตุ้นจับจ่ายใช้สอย โครงการคนละครึ่งต้องยอมรับว่าเป็นโครงการที่ดี แต่มีปัญหาคือ เม็ดเงินน้อยมาก 2 รอบ 5 หมื่นล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ 0.2-0.3% เท่านั้น รัฐบาลตระหนี่ถี่เหนียวไม่ยอมมือเติบ เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของประชาชน ระยะเวลาที่นาน ทำให้คนที่ได้รับเงิน 3,500 บาทใช้ต่อวันไม่สูง และใช้ไม่ถึง 3 พันบาท ถ้ามีรอบ 3 เสนอแนะว่า พยายามให้คนใช้จ่ายต่อวันในยอดที่สูงกว่านี้ ด้วยการบีบระยะเวลาให้สั้นกว่านี้”

เสียโอกาสพลิกเศรษฐกิจ

ศิริกัญญากล่าวว่า ส่วนกิจกรรมพลิกฟื้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่รัฐบาลเคยโฆษณาที่บอกว่าเป็น new growth engine เบิกจ่ายไปแค่ 5% จะพลิกฟื้นอย่างไร ผ่านมา 8 เดือนเบิกจ่ายแค่ 5%

แทนที่เม็ดเงิน 1 ล้านล้านทั้งก้อนจะช่วยเข้ามาประคับประคองจีดีพีไม่ให้ตกไปมากกว่านี้ แต่กลับสูญเสียโอกาสพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมาในโลกหลังโควิด-19 โดยสิ้นเชิง

เธอเชื่อว่าสถานการณ์วิกฤตโควิดรุกหนัก รับรองว่ารัฐบาลต้องกู้เพิ่มแน่ ๆ เพราะงบประมาณ 64-65 ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายในงบประมาณประจำปี แต่ถ้ากู้มาแล้วทำแบบนี้ประชาชนต้องมีความสงสัยเริ่มไม่มั่นใจที่จะทำให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มได้ มาถึงวันนี้เห็นเลยว่ามีเงินแต่รัฐบาลคิดไม่เสร็จ คิดไปทำไป การอนุมัติเบิกจ่ายถึงได้แย่มากขนาดนี้

ส่วน พ.ร.ก.ซอฟต์โลนแย่อีกเช่นกัน 1 ปีผ่านไป 5 แสนล้านบาทปล่อยไปแค่ 1.3 แสนล้านบาทเกือบ 1 ใน 3 ซึ่งน่าเสียดายว่าทุกคนทราบดีว่าเป็นนาทีอยู่หรือตายของ SMEs ลองคิดดูว่า 5 แสนล้านบาทถูกปล่อยไปให้กับ SMEs ที่ต้องการสภาพคล่องระบบเศรษฐกิจจะหมุนเวียนไปกว่านี้แค่ไหน SMEs ไม่ต้องล้มตายไป โอกาสที่เสียไปมหาศาลมาก

ไม่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์

“ศิริกัญญา” ชี้จุดว่า มี 2 เรื่องที่รัฐบาลไม่ยอมทำ คือ 1.กระตุ้นการจ้างงาน ซึ่งสามารถนำไปใส่ในเงื่อนไขของการให้ซอฟต์โลนก็ได้ 2.ไม่ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยตรง เช่น เงินให้เปล่าอย่างมากเป็นการให้ซอฟต์โลนที่ผู้ประกอบการต้องรับภาระดอกเบี้ย หรือลดภาษีบางตัวลง ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับปัญหาที่ผู้ประกอบการประสบอยู่ในยามวิกฤต

เราเห็นแล้วว่ากระบวนการราชการ ระเบียบราชการเป็นปัญหาและไม่ยืดหยุ่นในการบริหารงานช่วงวิกฤต แต่ผู้นำที่ดีต้องแก้ไขในระดับดีดนิ้ว ทุบโต๊ะ เพื่อแก้ระเบียบทำลายอุปสรรคต่าง ๆ ที่มาจากระบบราชการให้เกิดการบริหารจัดการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพได้

“แต่เมื่อเราไม่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และเป็นผู้นำมากพอก็เป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจเราได้”