องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ค้านแก้รัฐธรรมนูญเปิดทางโกงเงินแผ่นดิน

ACT ต้านแก้รัฐธรรมนูญ

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูฐที่เปิดทางให้เกิดการคดโกงงบประมาณของประเทศ

วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ออกแถลงการณ์ เรื่อง คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้เกิดการคดโกงงบประมาณของประเทศ โดยเนื้อหาระบุ ดังนี้

ตามที่พรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ตัดบทลงโทษ ส.ส. ส.ว. และกรรมาธิการที่แทรกแซงการจัดทำงบประมาณประจำปี ตามมาตรา 144 และตัดข้อห้ามมิให้ ส.ส. และ ส.ว. แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ ตามมาตรา 185 นั้น ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เห็นว่า การแก้ไขดังกล่าวจะทำให้การต่อต้านคอร์รัปชั่นของประเทศล้มเหลว

เพราะการตัดบทลงโทษดังกล่าวเปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถสอดแทรก-ก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการที่เป็นฝ่ายบริหารได้โดยง่าย ซึ่งจากที่ผ่านมางบประมาณแผ่นดินได้ถูกจัดสรรอย่างไม่เป็นธรรม มีการคดโกงเกิดขึ้นอย่างมากมายจากการสอดแทรกใช้อำนาจหน้าที่อย่างไม่ถูกต้อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พรรคพลังประชารัฐได้ยื่นขอ

นอกจากจะเปิดทางให้เกิดการคดโกงแล้วยังขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและการมีผลประโยชน์ทับซ้อนตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่

การต่อสู้เอาชนะคอร์รัปชั่นต้องชัดเจนทั้งหลักการและวิธีการ การมีมาตรการที่ครอบคลุม ปฏิบัติได้จริงจังจึงจะพิสูจน์ความเป็น “รัฐธรรมนูญปราบโกง” และวาระแห่งชาติในการต่อต้านคอร์รัปชั่นได้ การลดทอนให้เหลือเพียงหลักการลอย ๆ ไม่มีแนวปฏิบัติปราศจากบทลงโทษ แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจเด็ดขาดในการปราบปรามคอร์รัปชั่น ทำให้คนโกงย่ามใจ คนไทยทั้งชาติอยู่ในสภาวะของการ “จำยอมกับการโกงของผู้มีอำนาจ” อีกครั้งหนึ่ง

คนไทยต้องการเห็นการเมืองที่สูงด้วยจริยธรรม ต้องการรัฐธรรมนูญที่ศักดิ์สิทธิ์จริงใจ ต้องการเห็นประเทศชาติมีการพัฒนาอย่างโปร่งใสเป็นธรรม และที่สำคัญ ต้องการหลุดพ้นจากวงเวียนการคดโกงของนักการเมือง ข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งสองประการดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันขอคัดค้านการเสนอแก้ไขรัฐธรรมทั้งสองมาตราดังกล่าวอย่างถึงที่สุด และขอเชิญชวนให้ประชาชน สื่อมวลชน และทุกภาคส่วนของสังคมร่วมผนึกกำลังในการต่อต้านครั้งนี้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับงบประมาณแผ่นดินและผลกระทบที่เลวร้ายที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต