ทักษิณ หนุนเพื่อไทยหักก้าวไกล แก้รัฐธรรมนูญ หวังชนะแลนด์สไลด์

เกมรัฐธรรมนูญเดือดตั้งแต่ยังไม่เริ่มมวยคู่เอกวันนี้ ไม่ใช่อยู่ที่คู่ฝ่ายค้านกับรัฐบาล

แต่เป็น “ฝ่ายค้าน” กับ “ฝ่ายค้าน” คือ พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล

เปิดศึกเรื่องระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ตามสูตรเพื่อไทย แต่ขัดใจก้าวไกล ที่เสนอระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบเยอรมันโมเดล

ก้าวไกล ตีตราประทับ “เพื่อไทย” ที่เสนอรูปแบบบัตรเลือกตั้ง แบบเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ ลมใต้ปีก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เสนอโดย “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่า

“อย่าปล่อยให้ร่างของพรรคการเมืองใหญ่ลอยนวล รวบหัวรวบหางสืบทอดอำนาจภาค 2”

พท.มึนข่าวปล่อย จับมือ พปชร.

ข่าวลือ ข่าวปล่อย I.O การเมืองปลิวว่อนกระดานการเมือง 3 วันก่อนพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า เพื่อไทยเตรียมโหวตหนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ

ทำให้วอร์รูมเพื่อไทยต้องกุมขมับ ต้องแก้เกมสู้กับพรรคการเมืองที่คนในเพื่อไทยมองว่าเป็น “พรรคเด็ก” แต่ทำเอาเจ็บแสบ

ทว่าตามฟอร์มการเมือง ทุกฝ่ายรู้อยู่แล้วว่า เพื่อไทยได้ประโยชน์จากเลือกตั้งบัตร 2 ใบ แบบรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 มากกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้สูตรบัตรใบเดียว นับคะแนนตกน้ำ

ตามอารมณ์ “พี่โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐนตรี เพื่อไทยตัวพ่อ คลับเฮาส์มาจากมหานครดูไบ สนับสนุนระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ตัวโก่ง เพราะเคยได้เสียงแบบแลนด์สไลด์ ในยุคไทยรักไทย-เพื่อไทย เป็นรัฐบาล

แต่อีกด้าน “ก้าวไกล” ก็เสียเปรียบในสูตรเลือกตั้งบัตร 2 ใบดังกล่าว แต่อาจได้เปรียบทันทีเมื่อบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแบบจัดสรรปันส่วนผสม “เยอรมันโมเดล” ที่ใช้กระแสพรรคเก็บแต้มตกน้ำ มาคิดตัวเลขที่นั่งในสภา ใกล้เคียงกับสูตรเลือกตั้งบัตรใบเดียวตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เสกให้ “พรรคอนาคตใหม่” เงาอดีตของ “ก้าวไกล” ได้ ส.ส.เข้าสภาถึง 80 เสียง

แต่ “สมคิด เชื้อคง” ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ที่คลุกวงในเกมแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย มองต่างว่า พรรคก้าวไกลไม่เข้าใจ เกมเขี้ยวลากดินของพลังประชารัฐ

“ผมในฐานะ ส.ส.เขต เข้าใจดี แม้ก้าวไกลอาจคิดว่าตนเองได้เปรียบจากสูตรเยอรมันโมเดล แบบบัตรสองใบ แต่ลืมมองไปว่าอาจเข้าทางพรรคพลังประชารัฐ หากพื้นที่ไหน พลังประชารัฐเสียเปรียบ เขาจะทิ้งผู้สมัคร ส.ส.พื้นที่ แล้วหันมาทุ่มทุกอย่าง เพื่อให้คนมากาบัตรพรรคแทน ส.ส.เขต หากเป็นเช่นนี้ พรรคพลังประชารัฐอาจได้ ส.ส.มากกว่าเก่าอีก”

เปิดจุดแตกหัก ก้าวไกล-เพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม เกมนี้ “ก้าวไกล” ไม่ได้มาเดี่ยว แต่พกกลุ่มการเมืองคู่ขนาน Re-solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ มีคณะก้าวหน้า-ไอลอว์ และพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (Conlab) ผนึกกำลังขายความคิดทางการเมือง มี “ก้าวไกล” เป็นขาในสภา

ดังนั้น “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล บอกไทม์ไลน์รัฐธรรมนูญในใจของก้าวไกลว่า

ไทม์ไลน์ง่าย ๆ ถ้าเสนอแก้ไขมาตรา 256 เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ก็จะบอกว่ายังพิจารณาไม่ได้ ต้องทำประชามติก่อน โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และจะวนมาทางก้าวไกล ที่เสนอให้ทำประชามติก่อนแล้วค่อยเสนอแก้ไขมาตรา 256

“ที่ก้าวไกลเสนอ ก็ไม่ต้องเสนอแก้ไขมาตรา 256 แล้ว เมื่อร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มีผลบังคับใช้ เราก็เสนอญัตติให้รัฐสภาลงมติว่า เห็นชอบหรือไม่ที่จะให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้ารัฐสภาส่วนใหญ่เห็นชอบ ก็ส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา”

“ซึ่ง ครม.จะทำหรือไม่ทำ กฎหมายไม่บังคับ จึงขึ้นอยู่กับการกดดันทางการเมือง ในที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลพูดหลายครั้งว่า ใช้วิธีนี้ได้หรือไม่ เพราะในเมื่อเห็นต่างเรื่อง ส.ส.ร. ก็ไม่มีความจำเป็นต้องขัดแย้ง เพราะเราคงไม่เซ็นถ้าเสนอแบบเดิม แต่เพื่อไทยยังยืนยัน”

“แต่ไม่ว่าใช้กระบวนการไหนก็ต้องกลับมากระบวนการนี้อยู่ดี ผมเชื่อว่ามันยาก แต่ทางการเมืองก็ยากเหมือนกันที่รัฐสภาจะไม่โหวตให้ ในเมื่อทั้งฝ่ายรัฐบาล ส.ว. บอกว่าคว่ำรัฐธรรมนูญ เพราะต้องไปถามประชาชนก่อน แต่ในเมื่อวันนี้มี พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ให้ไปถามประชาชน แล้วจะบอกว่าไม่ทำ ในทางการเมืองก็ไม่ควร โดยโรดแมปก็ต้องกลับมาทางนี้อยู่ดี”

“ถ้ารัฐสภาโหวตผ่านเรื่องประชามติแล้วไปค้างที่คณะรัฐมนตรี ก็ต้องช่วยกันกดดันต่อว่า อย่าเอาไปดองไว้ ไม่แน่ว่าหากมีการยุบสภาเร็ว ก็อาจจะทำประชามติ พร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไปก็ได้ ไม่ต้องเปลืองงบประมาณ”

ก้าวไกล=Re-solution

ชัยธวัชฉายภาพ เกมคู่ขนาน “ก้าวไกล-Re-solution” ในเส้นทางแก้รัฐธรรมนูญว่า ก้าวไกลก็ร่วมกันในการล่ารายชื่อประชาชน โดย ส.ส.และสมาชิกก็ช่วยด้วย แต่โดยในด้านหลัก Re-solution เป็นการเสนอสุดทาง เป็นการทำงานทางความคิด ก่อนที่จะมี ส.ส.ร.จริง ๆ มากกว่าคิดว่าจะผ่านการพิจารณาอยู่แล้ว

“272 ปิดสวิตช์ ส.ว.เลือกนายกฯ ยังจะไม่ผ่านเลย จะไปผ่านเรื่องสภาเดี่ยวได้อย่างไร” ชัยธวัชกล่าว

Re-solution เป็นการทดลองทางความคิด ทำรูปธรรมให้เห็นเป็นอย่างหนึ่งเท่านั้นเองว่า เราควรจะรื้อองค์กรอิสระอย่างนี้ไหม ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญอย่างนี้ไหม ไม่แน่ว่าสิ้นเดือนมิถุนายน อาจจะรวบรวมรายชื่อครบในส่วนของ Resolution เพราะใช้เพียงแค่ 5 หมื่นชื่อ

“ชัยธวัช” คิดไปไกลว่า ถ้าประชามติผ่าน ประชาชนให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ เราก็เสนอมาตรา 256 ใหม่ เราจะมีหลังพิงคือผลประชามติ แต่ถ้าเสนอตอนนี้ก็ถูก “ตีกลับ” มาอยู่ดี

“เพียงแต่ทางผมไม่เซ็นร่วมกับเพื่อไทย หลัก ๆ ในเชิงเนื้อหา ไม่ควรจะไปจำกัดห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 เพราะไม่เคยมีการจำกัดแบบนั้นในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา ถ้าสมมติทำประชามติผ่าน ก็เท่ากับว่าเรื่องที่ห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 ก็เดินต่อ เราก็ไม่เห็นด้วย ถ้าประชามติผ่านก็เสนอแก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.ตามปกติ ไม่ต้องไปจำกัดอะไรเลย โดยมีประชามติเป็น back”

“สุดท้ายการแก้ไขมาตรา 256 โดยไม่ทำประชามติก่อน ไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่ สุดท้ายอาจจะไม่ได้แก้เลยก็ได้ สู้ไปทำประชามติถามประชาชนเลยดีกว่า” ชัยธวัชเล่าจุดแตกหัก

พท.ยื้อชีวิต ร่างแก้ไข ม.256

ขณะเดียวกัน มวยอีกคู่ ระหว่าง พรรคเพื่อไทย กับ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา+ทีมกฎหมายประธานรัฐสภา เพราะไม่บรรจุญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถ้าจะแก้ทั้งฉบับต้องถามประชาชนก่อน

“ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 และเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้”

เมื่อเพื่อไทยเจอปัญหา 2 ด้าน ต้องเรียกประชุมด่วน ส.ส.เป็นการใหญ่ เพื่อกำหนดท่าทีในการเดินเกมรัฐธรรมนูญวันที่ 23-24 มิถุนายน 2564

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรค กล่าวว่า เราไม่เห็นด้วยกับทีมที่ปรึกษากฎหมายของประธานรัฐสภา ดังนั้น การประชุมรัฐสภา 23 มิถุนายน เราจะหารือถึงเหตุผลว่าเพราะอะไร เพราะเรามั่นใจว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เป็นเรื่องกระทำได้

สั่งดาวสภายุคปัจจุบัน 3 คน ลุกขึ้นถาม “ชวน” กลางสภา 1.สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ประธานวิปฝ่ายค้าน 2.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน 3.สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี

“ญัตติยังไม่ตกไป แต่ยังไม่บรรจุ เพราะดูจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ชี้ชัดว่าจะต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนหรือหลังแก้ไขมาตรา 256 แต่ยังไม่ถึงขั้นส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกรอบ”

เรื่องชุลมุนในเกมแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อไทยเจอศึกหลายด้าน