ไพบูลย์ วอนโหวตแก้รัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ แก้กติกาเลือกตั้ง บัตรสองใบ

ไพบูลย์ นิติตะวัน

ไพบูลย์ นิติตะวัน ร่ายยาวแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคพลังประชารัฐ 5 ประเด็น 13 มาตรา แก้กติกาเลือกตั้ง “บัตรสองใบ” โละ ส.ส.ปัดเศษ รับปาก ส.ว. ไม่แตะหลักการมาตรา 144-มาตรา 185 นักการเมืองล้วงงบฯ-แทรกแซงข้าราชการ

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เพื่อพิจารณา “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….” จำนวน 13 ฉบับ ในขั้นรับหลักการ วาระแรก ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2564

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ฉบับที่ 1 ของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 5 ประเด็น 13 มาตรา ว่า

โละ ส.ส.ปัดเศษ

เป็นประเด็นที่ 1 พรรคได้รายงานจาก กมธ.ศึกษาปัญหา รธน.สภาผู้แทนฯ พปชร.ได้นำมาเป็นหลักในการแก้ไข ในฐานะที่ตนเป็นรองประธาน กมธ.ฯ และเป็นประธานอนุฯ วิเคราะห์ ได้ทำ รธน.รายมาตรา แนบท้ายไว้ แต่ไม่ได้เสนอต่อรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการแก้ไขทั้งฉบับ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมา

ประเด็นที่ 1 ขอเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิและเสรีภาพของประชานในเรื่องกระบวนการยุติธรรม สิทธิการประกันตัว ชุมชนมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเหมาะสมจากรัฐในการฟ้องหน่วยงานของรัฐ รวมถึงการขจัดอุปสรรคการดำเนินการของพรรคการเมืองในส่วนของสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งอยู่ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 โดยการแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 29 มาตรา 41 และมาตรา 45

ประเด็นที่ 2 ขอแก้ไขระบบการเลือกตั้ง ส.ส. จากบัตร 1 ใบ ซึ่งมีเสียงทักท้วง เป็นบัตร 2 ใบ ประกอบด้วย แบบแบ่งเขต 400 คน แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4 เพื่อให้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชน ปรากฏอยู่ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 4 แก้ไขมาตรา 83 มาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 มาตรา 92 และมาตรา 94

“เจตจำนงเพื่อให้เพื่อน ส.ส.หลายพรรคเรียกร้อง และเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ที่ได้ใช้สิทธิผ่านการบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งย่อมมีสิทธิมากกว่าเลือกตั้ง 1 ใบ และประชาชนคุ้นเคย และพอใจในการใช้สิทธิเลือกตั้ง 2 ใบมากกว่า นอกจากนั้นการคิดจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อยังมีขั้นต่ำร้อยละ 1 เพื่อไม่ให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ได้คะแนนเสียงต่ำกว่าร้อยละ 1 หรือที่เรียกว่า ส.ส.ปัดเศษ”

ยก กมธ.ชุดพีระพันธุ์ แก้ ม.144-ม.185

นายไพบูลย์กล่าวว่า ประเด็นที่ 3 การแก้ไขการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งมีปัญหากระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยแก้ไขให้นำข้อความตามรัฐธรรมนูญปี 50 มาใช้แทน ซึ่งปรากฏอยู่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 5 เพื่อแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 144

“การนำรัฐธรรมนูญ 50 มาใช้แทน เนื่องจากหลักการของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รายงานเห็นควรให้แก้ไขมาตรา 144 ปรากฏอยู่ในรายงานหน้า 47 และหน้า 51 นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีบันทึกรายงานของกฤษฎีกาเสนอถึงประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 ลงนามโดยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา”

นายไพบูลย์กล่าวว่า บันทึกความเห็นกฤษฎีกาในหน้าที่ 13 ย่อหน้า ข ระบุว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กมธ.วิสามัญฯ เนื่องจากมาตรา 144 ทำให้เกิดปัญหาความชัดเจนในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ ต้องมีการตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และเป็นหน้าที่ของสำนักงบประมาณที่จะให้ความเห็นว่า ส.ส. ส.ว. หรือ กมธ. มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ นอกจากนั้น บทกำหนดโทษกรณีฝ่าฝืนส่งผลให้เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ ไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของ กมธ.ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ

รับปากไม่แตะหลักการ นักการเมืองล้วงงบฯ-แทรกแซงข้าราชการ

“มี ส.ว.หลายท่านทักท้วงว่า เป็นการทำให้หลักการตรวจสอบการพิจารณากฎหมายงบประมาณที่บัญญัติไว้ในมาตรา 144 อย่างเข้มข้นได้เสียสาระสำคัญของการตรวจสอบไป ส่วนตัวเห็นด้วยกับ ส.ว.ที่ทักท้วง และได้รับปากปากกับ ส.ว.ไว้ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับ (แก้ไข) นี้ รัฐสภาได้รับหลักการในวาระ 1 ไปแล้ว ในการพิจารณาในวาระที่ 2 ชั้น กมธ. ผมพร้อมกับพรรคพลังประชารัฐ จะเสนอแก้ไขมาตรา 144 ให้คงหลักการที่เข้มข้นไว้ตามเดิม

ขอให้ ส.ว.ที่คุ้นเคยกัน สบายใจได้ เพราะผมในฐานะเป็นอดีต ส.ว. 2 สมัย 6 ปี ผมทำงานในด้านการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นมาโดยตลอด ผมเข้าใจข้อห่วงใยของสมาชิก ส.ว. ที่เคยทำหน้าที่มากับผม และทำงานมาด้วยกัน จึงขอยืนยันอีกครั้งว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 144 วาระที่ 2 จะมีการผลักดันให้มีการแก้ไขมาตรา 144 ให้กลับไปตามหลักการเดิม แต่ขอแสดงความห่วงใย อยากจะขอหารือว่า ควรจะต้องพิจารณาถึงเจ้าหน้าที่ ที่เป็นข้าราชการของสำนักงบประมาณที่มีปัญหาจากบทบัญญัติมาตรา 144 จะหาทางผ่อนคลายอย่างไรก็สุดแล้วแต่กับ กมธ.ในวาระที่ 2”

นายไพบูลย์กล่าวว่า ประเด็นที่ 4 การขอแก้ไขมาตรา 185 ซึ่งเป็นอุปสรรคการทำงานของ ส.ส. และ ส.ว. โดยให้สามารถติดต่อกับส่วนงานราชการ หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อให้ติดต่อราชการในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือได้ ซึ่งปรากฏอยู่ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 6 เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการตีความ

“ไม่ได้อยู่ดี ๆ ก็ยกขึ้นมา เป็นไปตามรายงานของ กมธ.วิสามัญฯ ชุดที่มีนายพีระพันธุ์เป็นประธาน ซึ่งเห็นควรแก้ไขมาตรา 185 ไว้ในหน้า 60 และหน้า 61 จึงนำมาแก้ไข แต่ก็ได้รับการทักท้วงจากเพื่อน ส.ว. เช่นเดียวกัน เพราะเป็นห่วงว่า ถ้านำมาตรา 111 ของรัฐธรรมนูญ 40 มาใช้แทน จะทำลายหลักการ เสียสาระสำคัญในการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการที่ ส.ส. และ ส.ว. จะไปทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน ซึ่งผมเห็นด้วย และรับปากไว้แล้วว่า เมื่อสภารับหลักการไปแล้ว วาระที่ 2 ผมและพรรคพลังประชารัฐจะผลักดัน และแก้ไขมาตรา 185 ให้คงหลักการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงไว้ตามเดิม

แต่ขอกราบเรียนครับ ว่า เราจะขอเพิ่มเติมให้มีขอบเขตที่ชัดเจน ให้ยกเว้นกรณีที่ ส.ส. และ ส.ว. ต้องไปติดต่อหน่วยงานของรัฐ ต้องไปติดต่อข้าราชการ เพื่อให้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยให้ถือว่าไม่เป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ เพื่อให้ประชาชนมี ส.ส. ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้”

ปลดล็อก ครม.ส่งการบ้านปฏิรูปทุก 3 เดือน

นายไพบูลย์กล่าวว่า ประเด็นที่ 5 ขอแก้ไขบทเฉพาะกาล มาตรา 270 เพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจของ ส.ว. เพื่อติดตาม ตรวจสอบการปฏิรูปประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายของ ส.ว. เพียงฝ่ายเดียว โดยเปลี่ยนให้เป็นอำนาจของของรัฐสภาร่วมกันติดตามยุทธศาสตร์ชาติ (มาตรา 270) เพื่อให้ ส.ส. มีส่วนร่วมกับ ส.ว. เพื่อเสนอแนะการปฏิรูปประเทศ ซึ่งอาจจะต้องคณะกรรมาธิการของรัฐสภาเพื่อติดตามทุกสัปดาห์ โดยกำหนดไว้ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 7

“การให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานต่อสภาทุก 3 เดือน สร้างภาระต่อ ครม. และรัฐสภาจึงเสนอให้ครม.รายงานทุก 1 ปี แต่การติดตามการปฏิรูปประเทศของรัฐสภา โดยผ่าน กมธ.รัฐสภาอย่างต่อเนื่อง”

นายไพบูลย์กล่าวว่า เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้จริง และเกิดประโยชน์กับประชาชน แก้ไขข้อขัดแย้ง แต่ไม่ต้องทำประชามติ ซึ่งจะเสียงบประมาณหลายพันล้านและใช้เวลานาน รวมถึงอาจจะมีอุปสรรคเกิดขึ้นหลายประการ ดังนั้นในฐานะ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 110 คน ขอเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเห็นชอบวาระที่ 1 เพื่อนำไปสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 ต่อไป ขอยืนยันว่ามาตรา 144 และมาตรา 185 ที่เพื่อน ส.ว. ห่วงใย ผมยืนยันว่าจะแก้ไขกลับมาในหลักการเดิม


“พรรคพลังประชารัฐหวังให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา หากผ่อนคลายความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญลงได้แล้ว ก็จะทำให้สมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันดูแลทุกข์สุขของประชาชน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งเป็นงานหลักของสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย” นายไพบูลย์ทิ้งท้าย