ศิริกัญญา แฉกรรมาธิการงบฯ ไม่แตะต้องกรมโยธา ขอตัด 7.8 พันล้าน

ศิริกัญญา ตันสกุล แฉเรื่องเล่าจาก กมธ.งบประมาณ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ ถูกปรับลดงบประมาณแค่ 84 ล้าน จาก 2 หมื่นล้าน เผยขอเบิกงบซ่อมสำนักงาน 42 จังหวัด สร้างจวนผู้ว่าฯ อีก 134 ล้าน ทั้งที่ประเทศอยู่ในช่วงขัดสนงบประมาณ

วันที่ 20 สิงหาคม 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระ 2 ในมาตรา 20 ของกระทรวงมหาดไทย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ ขอสงวนความเห็น เพื่อแปรญัตติปรับลดงบประมาณลง 7,810 ล้านบาท เหลือ 252,522 ล้านบาท

ทั้งนี้ งบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกระทรวงมหาดไทย สูงเป็นอันดับสองรองจากกระทรวงคมนาคม อยู่ที่ 22,000 ล้านบาท และยังมีการของบเพื่อขอสร้างอาคารสำนักงานต่าง ๆ บ้านพักข้าราชการระดับสูง โดยเฉพาะของกรมการปกครองกรมเดียว ร่วม 1 พันล้านบาท นำไปสร้างบ้านพักข้าราชการระดับ 9 จำนวน 140 ล้าน สร้างที่ว่าการอำเภอแห่งละ 27 ล้าน รวม 260 ล้านบาท

มีการก่อสร้างที่ทำงานของกองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดน ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ร่วม ๆ 300 กว่าล้านบาท สร้างหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านอีก 40 ล้านบาท ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมือง มีการของบประมาณซ่อมสำนักงานโยธาฯ จังหวัด 42 จังหวัดพร้อม ๆ กัน นึกไม่ออกว่าทำไมพังพร้อม ๆ กัน

นอกจากนี้ ยังมีการของบฯสร้างจวนผู้ว่าราชการจังหวัด จวนละ 12 ล้านบาท รวมทั้งจวนรองผู้ว่าฯ บ้านพักของหัวหน้าสำนักงานจังหวัด รวม 134 ล้านบาท และยังมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการเบิกจ่ายอีกมากมาย

“ไม่ได้ขัดขวางว่าข้าราชการควรจะได้รับสวัสดิการหรือไม่ ข้าราชการควรที่ได้รับชวัญกำลังใจทั้งข้าราชการระดับสูงและข้าราชการชั้นผู้น้อย แต่ในช่วงที่เราขัดสนงบประมาณเหลือเกิน งบประมาณเหล่านี้ควรเลื่อนออกไปได้ก่อนหรือไม่” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นกรมที่ได้รับงบมากที่สุด ได้ชื่อว่าเป็นกรมที่สร้างบ้านแปลนเมืองมาโดยตลอด หลังจากปฏิรูประบบราชการตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แต่ด้วยความที่ระบบการปกครองของเราเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว หลายงานที่เคยเป็นงานของกรมโยธาฯ ทำท้องถิ่นเอาไปทำงานหมดแล้ว

การก่อสร้างถนนทุกวันนี้กลายเป็นกรมทางหลวงชนบทไปแล้ว แต่ปัจจุบันกรมโยธาฯ ยังได้งบ 22,939 ล้านบาท และทำในภารกิจที่ไม่จำเป็น และไม่ใช่ภารกิจของกรมโยธาฯ

เช่น ระบบป้องกันน้ำท่วม ซึ่งไปซ้ำซ้อนกับกรมทรัพยากรน้ำ กับกรมเจ้าท่า กำจัดผักตบชวา สร้างเขื่อนริมตลิ่งแม่น้ำ ซ้ำซ้อนกับกรมทรัพยากรน้ำ กับกรมเจ้าท่า พัฒนาเมือง สร้างถนน ซุ้มประตู เรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ปล่อยให้เขาทำไป

แต่กรมโยธาฯ ยังทำอยู่ ไปทำเขื่อนริมตลิ่งโขง ทำเชื่อนกันคลื่น ที่ไปทะเลาะกับกรมทรัพยากรทะเลชายฝั่ง และกรมเจ้าท่าอีกว่าควรทำ ไม่ควรทำ เป็นอำนาจของใครที่จะอนุมัติ

ส่วนงานที่เป็นของตนเองคือการทำผังเมือง และตรวจสอบอาคาร ใช้งบ 1,144 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนกิจการพิเศษหลวง 1,500 ล้านบาท ถ้ากรมโยธาฯ พิจารณาจริงๆว่าภารกิจของตนเองคืออะไร จะตัดความซ้ำซ้อนต่างๆ เหล่านี้ไปได้ และเราสามารถประหยัดงบประมาณไปได้อีก และส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจให้แท้จริง ถ้าไม่หวงอำนาจ ไม่หวงงบประมาณไปไว้กับตนเอง

“มีเรื่องเล่าจากคณะอนุกรรมาธิการต่าง ๆ ว่า กรมโยธาฯ จะได้รับการปกป้องจากกรรมาธิการเป็นพิเศษ ตัดอะไรไม่ค่อยได้ ตัวอย่างเช่น อนุกรรมาธิการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตัดไปได้แค่ 82 ล้านบาท อนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ตัดไม่ได้เลยสักบาท ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นขอตัดงบลง 7,810 ล้านบาท” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว