รัฐธรรมนูญ วาระ 3 “ผ่านฉลุย” ส.ว. ทหารสาย 3 ป. ไม่แตกแถว

ร่างรัฐธรรมนูญ

โหวตวาระ 3 รัฐธรรมนูญ กติกาเลือกตั้งบัตร 2 ใบผ่านฉลุย รัฐสภาเห็นชอบ 472 ต่อ 33 เสียง งดออกเสียง 187 เสียง

วันที่ 10 กันยายน 2564 ในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) เป็นการพิจารณาเพื่อลงมติในวาระที่สาม ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม

ผลการลงมติ 472 แบ่งเป็น ส.ส. 323 เสียง ส.ว. 149 เสียง ไม่เห็นชอบ 33 เสียง เป็นของ ส.ส.23 เสียง ส.ว. 10 เสียง งดออกเสียง 187 เสียง แบ่งเป็น ส.ส.121 เสียง ส.ว. 66 เสียง ถือว่าผ่านการเห็นชอบของที่ประชุม

การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เกิดขึ้นหลังการเมืองปั่นป่วนหนักยิ่งขึ้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สั่งปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ออกจากตำแหน่ง เป็นอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่มีการเดินเกมล้มเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ระบบเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีสาระสำคัญ คือ  ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน (เดิม 350 คน) และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน (เดิม 150 คน)

ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือก ส.ส. 2 ประเภท (เดิม ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ตัดสินใจเลือก ส.ส., พรรค และนายกฯ ในบัญชีที่พรรคนำเสนอ)

และการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรค (เดิม เข้าสูตรคำนวณหา ส.ส. พึงมีได้)

ทั้งนี้ สถานการณ์ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น พรรคการเมืองต่าง ๆ ออกมาประกาศจุดยืนของตนเอง

พรรคก้าวไกล แถลงจุดยืนงดออกเสียง โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค กล่าวว่า ยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี’60 ซึ่งเป็นการสืบทอดอำนาจ คสช. แต่ขณะเดียวกันเราไม่อาจเห็นชอบกับผลลัพธ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาในวาระ 1 และ 2 ได้ ดังนั้น พวกเราจึงของดออกเสียง

ตอนนี้จึงเป็นการชี้ชะตาของผู้ที่ต้องการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะมีเสียงสนับสนุนมากน้อยเพียงใด ท้ายที่สุดพรรคก้าวไกลพร้อมที่จะสู้ทุกกติกา ทุกสนาม ทุกเมื่อ และพร้อมที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนในการแก้ปัญหา

พรรคประชาธิปัตย์ โดย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานวิปพรรคประชาธิปัตย์ ออกแรงขู่ บรรดา ส.ว. ว่าหากไม่ผ่านจะกระทบเสถียรภาพพรรคร่วมรัฐบาล

“ผมยังมั่นใจว่าทุกฝ่าย บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ ฉะนั้นต้องช่วยกันในการขับเคลื่อนให้มีการเห็นชอบลงมติในวาระสาม แต่ถ้าไม่ให้ความเห็นชอบก็จะเป็นปัญหาต่อองคาพยพอื่นทางการเมือง และอาจจะเกิดปัญหาการตัดสินใจของเพื่อนสมาชิกในเรื่องการเมืองของแต่ละพรรค รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล ไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น”

“จากการประสานเบื้องต้นยังมีความมั่นใจว่าทุกพรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล และแกนนำของ ส.ว. เห็นว่าควรที่จะได้รับการสนับสนุนเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ดำเนินการต่อไป ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านจะนำเข้าสู่กระบวนการโปรดเกล้าฯ และพรรคการเมืองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะได้เสนอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ”

ขณะที่สถานการณ์ในกลุ่ม ส.ว.นั้น พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ส.ว. บรรยายภาพก่อนการโหวตผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ ว่า ยังฟันธงไม่ได้ ยังจับกลุ่มหารือกันอยู่เลย ทุกคนยังไม่กล้าแสดงท่าทีอะไรเพราะถือเป็นเอกสิทธิ์ส่วนบุคคล

“สถานการณ์แบบนี้ก้ำกึ่งกันมาก เท่าที่เดินคุยกับหลายกลุ่มคะแนนเบียดกัน ไม่สามารถตอบฟันธงได้”

ทั้งนี้ ภายหลังการเปิดประชุม นายชวนได้กล่าวถึงกติกาการลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ว่า

คะแนนเสียงจะต้องได้มากกว่า 365 คน จากปัจจุบันสมาชิกรัฐสภาที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในปัจจุบัน จำนวน 730 คน แยกเป็น ส.ว. 250 คน ส.ส. 480 คน ต้องมีสมาชิกสภาจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน

จากทั้งหมด 242 คน จะต้องไม่น้อยกว่า 49 คน ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ ไม่น้อยกว่า 84 คน ถ้ากรณีเสียงไม่ถึงด้วยกรณีใดกรณีหนึ่งถือว่าที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ

เมื่อถึงช่วงเวลาลงมติ สมาชิกรัฐสภาได้ขานชื่อเป็นรายบุคคล ทั้งนี้ พรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล งดออกเสียง พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ลงมติเห็นชอบ

ส่วน ส.ว.สายทหาร ส่วนใหญ่ลงคะแนนเห็นชอบ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา ส่วน ส.ว.สายตำรวจ สายสังคม มีเสียงกระจัดกระจายกันไปทั้ง งดออกเสียง-เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ บางคนไม่มาประชุม ส่วน ส.ว.สายอดีตข้าราชการส่วนใหญ่ ให้ความเห็นชอบ

ลุ้นพรรคเล็ก รวมเสียง ส.ว.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

ถึงแม้การโหวตวาระ 3 จะผ่านการเห็นชอบในที่ประชุมของรัฐสภาไปได้ แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 256 (7) (9) กำหนดขั้นตอนหลังจากผ่านวาระ 3 ว่า ก่อนนายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม จะต้องทิ้งไว้ 15 วัน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา

ถ้าเป็น ส.ส.ต้องใช้เสียง 49 เสียง ส.ว.ใช้เสียง 25 เสียง หรือของทั้งสองสภารวมกัน 74 เสียง
แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกัน เสนอความเห็นต่อประธานที่ตนเองสังกัดอยู่ ว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าว ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งวันที่ได้รับเรื่อง

โดย พรรคเล็กที่มีพรรคละ 1 เสียง 7 พรรค นำโดย พรรคพลเมืองไทย, พรรคครูไทย, พรรคไทรักธรรม, พรรคประชาธรรมไท, พรรคพลังชาติไทย และพรรคเพื่อชาติไทย ประกาศเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ว่า จะลงมติคว่ำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ กระบวนการตรากฎหมายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

อาจเคลื่อนไหวจับมือกับ ส.ว. ให้ครบ 74 เสียง ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ขาด ทางใด-ทางหนึ่ง หรือไม่

พปชร.มั่นใจไม่มีอุบัติเหตุ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่า พรรคเล็กจะไม่สามารถรวบรวมเสียงได้ถึง 74 เสียง ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะพรรคการเมืองต่าง ๆ ไม่ร่วมลงชื่อ และถึงจะยื่นไปศาลก็อาจจะยกคำร้อง เพราะทุกประเด็นเคลียร์หมด

ขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐ ที่เป็น ต้นเรื่องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เตรียมรอไว้สำหรับการพิจารณาในขั้นต่อไปแล้ว เพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผ่านรัฐสภา

มีการวางไทม์ไลน์ไว้ว่า การทำกฎหมายลูกจะต้องใช้เวลา 5-6 เดือน ที่นานเพราะกฎหมายมีหลายมาตรา พร้อมกับต้องไปรับฟังความเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77

และต้องเวียนไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบว่ามีอุปสรรคอะไรหรือไม่ จากนั้นก็นำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ทั้งกระบวนการจะต้องเสร็จภายในต้นปี 2565 ไม่เกินกลางปี 2565 การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า ก็จะสามารถใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทันที

หากไม่เกิดอุบัติเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญ