ผ่าโครงสร้าง พรรคทหารใหม่ อำนาจที่ 4 บีบรัฐบาลเป็ดง่อย

สัมภาษณ์

 

เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถูกเขย่าตำแหน่งใหม่อีกครั้ง กลายเป็น ครม.ประยุทธ์ 5 ในจังหวะที่ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล และตัวผู้นำ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กำลังลดระดับ

“สุรชาติ บำรุงสุข” นักรัฐศาสตร์ด้านความมั่นคงเชี่ยวชาญการทหาร จากรั้วจามจุรี วิเคราะห์ว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้ไม่ต่างจาก “เก้าอี้ดนตรี”

พร้อมทั้งทำนาย “สูตรการเมือง” หาก “พล.อ.ประยุทธ์” คิดจะนั่งเก้าอี้นายกฯ สมัยที่ 2

Q : มองโฉมหน้าการปรับ ครม.ประยุทธ์ 5 อย่างไร

ไม่ได้ต่างอะไรจากเดิม เพราะกระทรวงหลัก ๆ ยังเป็นคนเดิม หรือสลับไปสลับมา การปรับ ครม.รอบนี้ไม่ค่อยต่างอะไรกับเก้าอี้ดนตรี หมุนไป หมุนมา สิ่งที่ประชาชนคาดหวังคือความสามารถที่เพิ่มมากขึ้น ต้องตามดูในอนาคตว่า ครม.ชุดใหม่จะบริหารประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพียงใด โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งยังเป็นทีมเดิม

Q : การเอาทหารออกบางส่วน และเติมพลเรือนเข้าไป บอกนัยอะไร

เป็นความพยายามในการรักษาภาพลักษณ์ของรัฐบาล เพราะระยะหลังถูกวิจารณ์ค่อนข้างมากว่า บุคลากรจากกองทัพที่เข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีอาจไม่สามารถทำงานได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ) แต่การเอาทหารบางส่วน เช่น ตำแหน่งรองนายกฯออก ไม่ได้กระทบอะไรมาก เพราะตัวรัฐมนตรีจริง ๆ แทบจะอยู่เป็นปกติ

Q : ไม่ได้ปรับ ครม.เพื่อหวังผลถึงการเลือกตั้งปีหน้า

ถ้าจะหวังผลถึงปีหน้า เชื่อว่านายกฯจะปรับมากกว่านี้ ที่ปรับไม่ค่อยต่างจากเดิม จริง ๆ ไม่ปรับก็ได้ แต่การปรับแบบนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองมากกว่า โดยเฉพาะสิ่งที่จะเกิดคือความคาดหวัง ถ้า ครม.ชุดนี้ต้องแบกไปถึงเลือกตั้ง

หลายคนคิดว่า ครม.ปรับช่วงสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง แต่ผมไม่แน่ใจเพราะการเลือกตั้งจะเกิดปลายปี”61 หรือต้นปี”62 ต้องตระหนักว่า 1 ปีของการเมืองไทยยังมีอะไรที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะถ้าเชื่อว่าการปรับครั้งนี้เป็นการปรับก่อนการเลือกตั้ง นั่นหมายถึงว่า คสช.หวังที่จะสร้างผลงานเพื่อทำให้การเลือกตั้งนำคะแนนมาให้กับตัว แต่เอาเข้าจริง การปรับแบบตัวบุคคลอย่างที่เราเห็นจะสร้างผลงานของรัฐบาลได้มากน้อยเพียงใด


Q : มองได้ไหมว่าเป็นการปรับเพื่อเรียกเรตติ้งรัฐบาลที่กำลังตกต่ำ

ของจริงคือการลดแรงกดดัน หรือการปรับ ครม.ครั้งนี้เป็นการซื้อเวลา พยายามสร้างภาพลักษณ์ ครม.ต่างจากเดิมนิดหนึ่ง หรือหวังภาพลักษณ์ ครม.ประยุทธ์ 5 จะดีกว่าเดิมขึ้นหน่อย แต่ไม่เห็นชัดเจนว่า ครม.ชุดใหม่จะผลักดันนโยบายแบบจริงจัง

Q : ถ้าจะฉุดเรตติ้งขึ้นจริง ๆ จะต้องปรับแบบไหน

ไม่กล้าตอบ ขึ้นกับรัฐบาลมองปัญหาอย่างไร แต่ที่เวลาเห็นคนเรียกร้องหลายฝ่ายอยากเห็นการปรับรัฐมนตรีเกษตรฯ อยากเห็นการปรับนโยบายเศรษฐกิจ แต่การปรับแบบเก้าอี้ดนตรีไม่ได้ตอบอะไร

Q : การขยายอำนาจทหารผ่านรัฐธรรมนูญ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป จะล็อกให้ คสช.ชนะเลือกตั้งได้ไหม

ขณะนี้มีการสร้างอำนาจพิเศษ 3 ส่วน คือยุทธศาสตร์ 20 ปี ส.ว. 250 คน ที่กลายเป็นพรรคทหาร 250 คนโดยโครงสร้างรัฐธรรมนูญ กับการขยายบทบาทและอำนาจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ผ่านคำสั่ง 51/2560 เป็นการขยายบทบาทอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

แต่เดิมการขยายบทบาทของ กอ.รมน.เกิดขึ้นในสงครามคอมมิวนิสต์ แต่ในปัจจุบันไม่มีสถานการณ์สงครามรองรับพอที่จะทำให้ กอ.รมน.ขยายบทบาทและอำนาจอย่างที่เห็น เว้นแต่ฝ่ายทหารเชื่อว่า กอ.รมน.ทำหน้าที่ต่อสู้กับสงครามการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Q : กลไกต่าง ๆ จะทำให้ คสช.ได้เปรียบการเลือกตั้งหรือไม่

เรื่องได้เปรียบการเลือกตั้งเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือการวางมรดก3 ส่วนของ คสช.คือ ยุทธศาสตร์ 20 ปี พรรคทหารในวุฒิสภา และคำสั่ง คสช.51/2560 จะทำให้การเมืองในอนาคตถูกล็อกอยู่กับที่ด้วยอำนาจของฝ่ายทหาร ถ้าเป็นอย่างนี้ กอ.รมน.แทบจะเป็นรัฐบาลใหม่อีกชุดหนึ่ง เนื่องจากคำสั่งให้สำนักงบประมาณจัดงบฯให้กับการทำแผนของ กอ.รมน. และกำลังจะกลายเป็นซูเปอร์กระทรวง เป็นรัฐบาลน้อย ๆ หรือรัฐบาลย่อยในการเมืองไทย

Q : คสช.จะไปตั้งพรรคทหารหรือไม่ เมื่อมีกลไกที่ได้เปรียบ

พรรคทหารของจริงมีอยู่แล้วคือ 250 เสียงในสภา แม้ว่าไม่ต้องตั้งพรรคทหารรัฐบาลในอนาคตมีปัญหาแน่ ๆ แต่ถ้ารัฐบาลยังมีกลไกที่ 4 คือ มีพรรคทหารเพิ่ม รัฐบาลจากการเลือกตั้ง แม้ชนะเลือกตั้งแต่ก็อยู่ในสภาพเป็ดง่อย บริหารประเทศไม่ได้

Q : พรรคทหารถูกใช้มาหลายครั้งและล้มเหลว ทำไมยังตกทอดถึงปัจจุบัน

เป็นความคิดปกติที่สุดของทหาร ที่เชื่อว่าเมื่อการเมืองเปิดแล้วผู้นำทหารที่มีอำนาจอยู่อยากเล่นการเมือง เนื่องจากเล่นการเมืองในระบบปิดแบบเดิมไม่ได้ ต้องมีพรรคทหารเป็นตัวรองรับ

Q : การขยายอำนาจมากขนาดนี้สามารถเทียบได้กับประวัติศาสตร์ช่วงไหน

เทียบลำบาก แต่อาจใกล้เคียงกับยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ความพยายามปัจจุบันเหมือนดึงการเมืองไทยกลับไปสู่ยุคก่อน 14 ตุลา 2516 หลังจากจอมพลถนอมร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ เปิดการเลือกตั้ง ในปี 2511 และนำมาสู่การกำเนิดพรรคสหประชาไทย ตัวแบบทหารในอนาคตถ้าจะเกิดใกล้เคียงกับพรรคสหประชาไทย

ในขณะที่พรรคสามัคคีธรรมอาจเทียบได้ไม่ต่างกัน แต่ต่างจากตัวแบบของจอมพล ป. และจอมพลสฤษดิ์ เพราะตัวผู้นำยังอยู่ในอำนาจและลงมาเล่นการเมืองตรง ๆ

Q : ทำไมพรรคทหารในอดีตมักชนะเลือกตั้ง ก่อนจะล้มเหลว

ชนะเลือกตั้งแล้วจะประสบความปั่นป่วน เพราะต้องเผชิญกับข้อเรียกร้องหลาย ๆ อย่าง ประสบการณ์ในอดีตเป็นเหมือนกับการรวมพรรคเล็กที่แตกออกไป ท้ายที่สุดผู้นำทหารจะคุมพรรคทหารเหล่านี้ไม่ได้ ประสบการณ์ของพรรคสหประชาไทย บรรดานายทหารที่มีบทบาททางการเมืองแล้วอยากตั้งพรรคคงต้องคิด

Q : เพราะอะไรทหารถึงอยากอยู่ในอำนาจต่อ

หากอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน บทบาททหารจะเปลี่ยนไป ไม่มีบทบาททางการเมือง เช่น บทบาทของกองทัพในโลกตะวันตก แต่เชื่อว่ากองทัพยังต้องมีอำนาจทางการเมือง

Q : มีการพูดถึงโมเดล พล.อ.เปรม อยู่ได้ถึง 8 ปี โดยพรรคการเมืองสนับสนุน

โมเดล พล.อ.เปรมไม่มีพรรคของตัวเอง อาศัยพรรคการเมืองสนับสนุน แต่โดยสถานการณ์ปัจจุบันจะใกล้เคียง 2511 มากกว่าหลัง 2521 เป็นการเมืองแบบยุคจอมพลถนอมมากกว่าเมื่อการเลือกตั้งกลับมา

Q : ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ใช้โมเดลยุค พล.อ.เปรมจะพัฒนาไปสู่จุดใด

อาจมีพรรคการเมืองบางส่วนตัดสินใจเข้าไปร่วมมือกับพรรคทหาร แต่ท้ายที่สุด คสช.อาจจะเดินแบบที่ทุกฝ่ายเชื่อว่าผู้นำทหารจะกลับมาใช้โมเดลเดิม คือการตั้งพรรคทหารเพื่อรองรับบทบาทของตัว

Q : วงจรการรัฐประหารจะต้องมีการสืบทอดอำนาจ และประชาชนต่อต้าน คิดว่าจะเกิดแบบนี้หรือไม่

คงมีคำตอบได้อย่างหนึ่งว่าการเมืองมีความผันผวน การออกแบบรัฐธรรมนูญคุณมีชัย (ฤชุพันธุ์) กับพวกคงหวังให้การเมืองอ่อนแอ เมื่อเป็นการเมืองที่อ่อนแอ คงเกิดรัฐบาลผสม และมีปัญหาระบบการเมือง ให้เกิดการรัฐประหารอีกครั้งในอนาคต

Q : แล้วอะไรที่จะเป็นเงื่อนไขให้ คสช.งอกงามต่อไปได้

ความสำเร็จของรัฐบาล สิ่งที่เป็นข้อวิจารณ์ในหลายเรื่องคือรัฐบาลไม่ค่อยมีผลงานที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะสิ่งที่รัฐบาลพูดว่าความสำเร็จในทางเศรษฐกิจ ในความรู้สึกของประชาชนเป็นความสำเร็จที่ไม่จริง ยืนอยู่บนตัวเลขในกระดาษ ความสำเร็จตัวนี้วัดด้วยเรื่องเดียวคือชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้นในทางเศรษฐกิจ

Q : หาก คสช.ไม่สามารถทำให้ปากท้องชาวบ้านดีขึ้นได้จะเกิดอะไร

คงไปตัดสินที่เลือกตั้งว่าพรรคที่ประกาศตัวสนับสนุน คสช. หรือพรรคของ คสช.จะหาเสียงอย่างไร ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดปลายปีหรือต้นปี 2562 ทุกฝ่ายจะเร่งเปิดตัว เปิดโฆษณา แล้ว คสช.จะสร้างความสำเร็จก่อนการเลือกตั้งได้อย่างไร