ประลองกำลังใน-นอกสภา ล้มมรดก คสช. สร้างรัฐธรรมนูญใหม่

ประลองกำลังใน-นอกสภา
ประลองกำลังใน-นอกสภา

การเมืองยังระอุต่อเนื่อง เมื่อวาระรื้อ-แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับของภาคประชาชน ที่เสนอโดยกลุ่ม Re-Solution อันมีแกนนำคือ ปิยบุตร แสงกนกกุล, พริษฐ์ วัชรสินธุ อาจถูกทำให้เป็น “วาระแท้ง” อีกรอบ ในวาระโหวตรับ-ไม่รับหลักการในวาระที่ 1

และทำให้เกมแก้รัฐธรรมนูญภาคประชาชน อาจเดินมาถึงทางตัน โดยมี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล-ส.ว.เป็นกับดักสำคัญ

เพราะนอกจากต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา ทั้งนี้ ปัจจุบันสมาชิกรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) รวมกัน 724 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 476 เสียง และ ส.ว. 248 เสียง กึ่งหนึ่งคือ 362 เสียง

บวกเงื่อนไขต้องให้ ส.ว.เห็นชอบด้วยอย่างน้อย 1 ใน 3 ของ ส.ว.คือ 82 เสียง

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เจ้าพ่อแท็กติกรัฐธรรมนูญฝ่ายรัฐบาล ประกาศก่อนการลงมติจะเริ่มขึ้นว่า “ไม่ผ่านวาระที่ 1 ร้อยเปอร์เซ็นต์”

ก่อนเสริมว่า “ทำไมไม่ให้ตัวแทนของประชาชนเสนอ ก็ ส.ส.เพื่อไทย ก้าวไกล พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ เป็นตัวแทนของประชาชนอยู่แล้ว ต้องเสนอในประเด็นที่ยอมรับกันได้ ไม่ใช่ว่าเสนอโดยประชาชนแค่แสนคนแล้วจะผ่าน เพราะบ้านเมืองมีประชาชน 60 กว่าล้านคน ซึ่งเขาเลือกตัวแทนมา 30 กว่าล้านคน ก็มีตัวแทนในสภาอยู่แล้ว”

ขณะที่พรรคเพื่อไทย โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ว่าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ฝ่ายค้านเทเสียงให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอยู่แล้ว

ในฝ่ายค้านประเมินเช่นกันว่า “ผ่านยาก” แบบไม่ต้องลุ้น

แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ให้ข้อสังเกตว่า เพราะร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับภาคประชาชนนั้น เสนอสิ่งที่มีทั้งคล้าย และก้าวหน้ากว่าของพรรคเพื่อไทยที่ถูก “ตีตก” ไปแล้ว

ตามคำโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่ม Re-Solution ระบุว่ามีไฮไลต์สำคัญ อาทิ ล้ม ส.ว. เดินหน้าสภาเดี่ยว เอา ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ออกไป

จัดการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทุกองค์กร เพื่อให้ได้คนที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

เลิก ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูป-ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ ไม่ให้ คสช.มีเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้าม

เช่น ยกเลิกมาตรา 279 ทำให้คำสั่ง คสช. ไม่ได้ชอบด้วยกฎหมายแบบอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลางเดือนกันยายน 2564 พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2564 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่ยังไม่มีผู้ใดหยิบขึ้นเป็นประเด็นในการทำประชามติ

แต่ถ้าภาคประชาชน “เร่งรีบ” ก็ยังมีกฎหมายประชามติ นอนอยู่ “ก้นบ่อ” รอหยิบขึ้นมาใช้งาน

เตือนความจำ-สาระสำคัญในกฎหมายประชามติ กำหนดการออกเสียง 5 กรณี ตามมาตรา 9

1.การออกเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

2.การออกเสียงกรณีเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร

3.การออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง

4.การออกเสียงในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียง และได้แจ้งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ

5.การออกเสียงกรณีประชาชนเข้าชื่อ (5 หมื่นชื่อ ตามมาตรา 11) เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบ

ซึ่งหากภาคประชาชนต้องการจุด “วาระประชามติ” แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ ครม.พิจารณา อาจต้องใช้แรงผลักทางการเมืองมหาศาลจากนอกทำเนียบกดดันรัฐบาล เพื่อบีบให้รัฐบาล “ยอมจำนน” แก้รัฐธรรมนูญ

หรือรอกดดันพร้อมฝ่ายค้าน ซึ่ง 6 พรรคฝ่ายค้าน วางแผนใช้กลไกสภาเสนอให้รัฐบาลทำประชามติว่า สมควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่

แต่ยังรอวัน ว.เวลา น. ในช่วงปี 2565 เพราะรอให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียว มาเป็น “บัตร 2 ใบ” บวกกฎหมายลูกสะเด็ดน้ำเสียก่อน

และต้องผ่านการโหวต-ได้รับเห็นชอบจากที่ประชุมเสียงข้างมากของรัฐสภาเสียก่อน

ทางออกเดียวของการมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หนีไม่พ้นการประลองกำลังทั้งใน-นอกสภา บีบให้รัฐบาลยอมทำประชามติเท่านั้น