ส.ส.รัฐบาล ผนึก ส.ว. มติ 473 ต่อ 206 ล้มรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ครั้งที่ 2

รัฐสภาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

สภาร่วม ลงมติ 473 ต่อ 206 เสียง “ไม่รับหลักการ” ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กลุ่ม Re-Solution และประชาชน 135,257 คน เป็นครั้งที่ 2 

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (ยกเลิกมาตรา 65 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 7 มาตรา 159 วรรคแรก เพิ่มมาตรา 193/1 มาตรา 193/2 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 11 หมวด 12 มาตรา 256 หมวด 16 ยกเลิกมาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 และมาตรา 279) เสนอโดย กลุ่ม Re-Solution โดยมี นายปิยบุตร แสงกนกกุล, พริษฐ์ วัชรสินธุ พร้อมด้วยรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,257 คนเป็นผู้เสนอ

วันนี้ (17 พ.ย. 64) มีการลงมติวาระรับหลักการโดยการขานชื่อรายบุคคล ตั้งแต่เวลา 10.00 น. โดยที่ประชุม ลงมติไม่รับหลักการ 473 เสียง รับหลักการ 206 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง จากผลการลงคะแนน รับหลักการ ส.ส.  203 เสียง ส.ว. 3 เสียง ไม่รับหลักการ ส.ส. 249 เสียง ส.ว. 224 เสียง 

ทั้งนี้ ที่ประชุมไม่รับหลักการเพราะคะแนนน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา นั่นคือน้อยกว่า 362 เสียง เท่ากับไม่เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช …. (ยกเลิกมาตรา 65 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 7 มาตรา 159 วรรคแรก เพิ่มมาตรา 193/1 มาตรา 193/2 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 11 หมวด 12 มาตรา 256 หมวด 16 ยกเลิกมาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 และมาตรา 279) ที่เสนอโดย กลุ่ม Re-Solution พร้อมด้วยรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,257 คน ได้ถูกตีตกไป

“ย้อนความเห็น” ก่อนคว่ำร่าง

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ระบุว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มรีโซลูชั่น เปรียบเหมือนการฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งให้กับประเทศ แม้ร่างฉบับนี้อาจไม่สามารถแก้ทุกปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ แต่ปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุดคือเป็นเครื่องมือของการสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ ดังนั้นจึงเสนอเนื้อหาที่ปลดอาวุธ เช่น

1.การยกเลิก ส.ว. ปรับระบบรัฐสภามาเป็นสภาเดียวคือ ส.ส. โดยอำนาจและที่มาของ ส.ว.ต้องยึดโยงกับประชาชนสูงหรือมาจากการเลือกตั้ง วันนี้จึงขอเสนออีกทางหนึ่ง คือ การใช้สภาเดียวเหลือเพียง ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีข้อดี คือ ช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ เงินเดือน ส.ว.บวกที่ปรึกษา ผู้ติดตาม อยู่ที่ 800 ล้านต่อปี รวมค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าประชุม มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ไม่รู้คุ้มค่าหรือไม่

ส่วนข้อกังวลการยกเลิก ส.ว.นั้น รับประกันว่าจะมีกลไกอื่นมาทดแทนได้และอาจมีประสิทธิภาพมากกว่า ขอให้เพิ่มอำนาจ ส.ส.ฝ่ายค้านในการตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลแทน รวมทั้งให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการทำงานของรัฐได้ละเอียดขึ้น การออกกฎหมายคุ้มครองประชาชนที่เปิดโปงการทุจริต ไม่ใช่การทักท้วงจาก ส.ว.

2.การเสนอยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ เพราะตัวแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่มีตัวแทนภาคประชาชน

“ผมอยากให้ทุกคนเปิดใจร่างฉบับนี้ หัวใจสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือสร้างระบบการเมืองที่ไว้วางใจประชาชน เลือกตัวแทนเข้ามาผ่านกลไกรัฐสภา ไม่ให้ทหารเข้ามายึดอำนาจแก้ปัญหา ขอให้หยุดหยิบยกเสียง 16 ล้านเสียง อ้างเป็นส่วนใหญ่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ขอให้รับร่างแก้ไขฉบับนี้ แล้วไปวัดที่การทำประชามติ” นายพริษฐ์กล่าว

พปชร.

เวลา 09.55 น. ของวันเดียวกัน ก่อนการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค พปชร. และนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เป็นประธานในการประชุม

นายนิโรธ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า วานนี้ (16 พ.ย.) เราได้ฟังการเสนอกฎหมายของภาคประชาชน โดยในช่วงหัวค่ำแกนนำวิปรัฐบาลได้ปรึกษาหารือกัน และพบข้อดีข้อเสียของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งหลายมาตราเป็นการนำเสนอที่ดี แต่หลายมาตราแหลมคม มีการยกเลิกมาตราอื่น ๆ หลายมาตราซึ่งจะไปกระทบชิ่งหลาย ๆ มาตรา และจะทำให้มีปัญหาในชั้นรับหลักการว่า หากรับหลักการไปแล้วจะไปแก้ในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ก็คงแก้ได้ยาก เช่น บัตรเลือกตั้ง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเสนอบัตรใบเดียว ซึ่งเมื่อรับหลักการแล้วจะไปแก้เป็นบัตรสองใบไม่ได้ เพราะขัดกับหลักการ

ฉะนั้น วิปรัฐบาลจึงมีแนวคิดว่าถ้าภาคประชาชนเสนอรัฐธรรมนูญมัดรวมกันมาแบบนี้ ทำให้ยากต่อการพิจารณาที่จะรับกฎหมายฉบับนี้ได้ ถ้าแยกร่างมาแล้วร่างไหนดีก็ยังมีโอกาสที่จะรับได้ แกนนำวิปรัฐบาลจึงมีความเห็นว่าไม่น่าจะรับหลักการ ดังนั้น ตนจึงนำความเห็นของวิปรัฐบาลมาสู่การประชุมพรรค พปชร.ในวันนี้ และให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น เพราะเมื่อวานนี้สมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลได้อยู่กันจนดึกเพื่อเป็นองค์ประชุมให้ภาคประชาชนที่เสนอกฎหมาย เพื่อไม่ให้องค์ประชุมเกิดปัญหาขึ้นมา ก็ต้องขอชื่นชมสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลที่อดทนและรับฟัง

ปชป.

ขณะที่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงว่า จากการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. วานนี้ (16 พฤศจิกายน) พรรคได้รับฟังความเห็น และซักถามผู้ชี้แจง

โดยเฉพาะประเด็นสภาเดี่ยว และคณะผู้ตรวจการ ที่มีลักษณะโครงสร้างส่วนใหญ่ คือ ส.ส.เป็นองค์ประกอบหลัก โดยเฉพาะที่พรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ องค์ประกอบศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้มีองค์ประกอบจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน 3 คน ส.ส.รัฐบาล 3 คน และจากที่ประชุมศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุด 3 คน ซึ่งยังมีปัญหาความไม่ชัดเจน เรื่องความซ้ำซ้อนอำนาจอธิปไตย และเผด็จการรัฐสภา

“วันนี้พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า โดยหลักข้อบังคับ หากรับหลักการจะไม่สามารถแก้ไขได้ในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) สาระบัญญัติหลายประเด็นยังไม่ชัดเจน และกระบวนการภาคประชาชนยังมีโอกาสเสนอเข้ามาอีก โดยอยากขอให้ดำเนินการแก้ไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เป็นจริงได้

แต่ครั้งนี้เป็นการชกหมัดตรงไปยังผู้ลงมติโดยตรง คือ การเสนอยุบวุฒิสภา ดังนั้น เราเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เรายืนยันเป็นผู้นำในการดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้เป็นประชาธิปไตย แต่ในกรณีนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถรับหลักการไม่ได้” นายชินวรณ์กล่าว

ส.ว.

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้อภิปรายว่า การเสนอร่างดังกล่าวนั้นมาจาก 4 ก. คือ 1.เกลียด คือ เกลียด ส.ว. 2.โกรธ คือ โกรธศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินคดีพรรคพวกตัวเอง 3.กลัว คือ กลัวยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ และ 4.เกิน โดยการเสนอร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเกินจากความเป็นจริง พยายามล้างทุกอย่าง โดยใช้คำว่าล้างมรดกที่สืบทอดกันมา

นายวันชัยระบุอีกว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่คนที่มาจากการเลือกตั้งต้องเป็นใหญ่ แต่ท่านไม่ได้มองให้ครบถ้วนรอบด้านในบริบทสังคมไทยตอนนี้ว่ามันบริสุทธิ์ผุดผ่องดั่งทองอย่างที่วาดไว้หรือไม่ ถ้าการเมืองดีก็ไม่มีทางที่จะปฏิวัติได้ อยู่ได้เพราะประชาชน เพราะถ้า ส.ส.ที่มาจากประชาชนไม่เอาด้วย ส.ว.จะทำอะไรได้

จากนั้น นายคํานูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้อภิปรายว่า ให้สมญาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า “ฉบับปฏิวัติ” โดย 1.รวมศูนย์ คือรวมศูนย์อำนาจของประเทศไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร 2.บั่นทอน คือ บั่นทอนการพิจารณาพิพากษาโดยศาล และบั่นทอนการถ่วงดุลอำนาจในศาลและองค์กรอิสระ และ 3.ควบคุม คือ ควบคุมงบประมาณ

ทั้งการตั้งงบฯ และการใช้จ่ายงบฯ ควบคุมคน กำหนดโครงสร้างองค์กรศาล และองค์กรอิสระ ควบคุมการพิพากษา และควบคุมการถอดถอน ท่านพยายามบอกว่า ท่านออกแบบระบบตรวจสอบถ่วงดุลเอาไว้ โดยให้ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาล คำถามคือ มันเพียงพอหรือไม่ แล้วเท่ากันหรือไม่

นายคำนูญกล่าวว่า ระหว่างการตรวจสอบถ่วงดุลในองค์กรเดียวกันระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล กับผู้ที่ถืออำนาจตรวจสอบถ่วงดุลที่อยู่ต่างองค์กรกัน อย่างเช่น มาตรการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาไม่เคยทำได้สำเร็จ สุดท้ายแล้ว การแก้ปัญหาด้านเดียวจะเป็นการแก้ หรือเป็นการสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่

“เรามุ่งแก้แต่เรื่องการทำรัฐประหาร แต่เราไม่พยายามมองไปถึงสาเหตุที่เกิดจากปัญหาการเมือง ที่บางครั้งก็เป็นการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร บางครั้งก็เป็นการเมืองที่เป็นพฤติกรรมของรัฐบาลในขณะนั้น บางครั้งก็เป็นการรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจไว้ที่พรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภา”

“การแก้ปัญหาด้านเดียวจะนำไปสู่อะไร การมุ่งแก้ปัญหาการรัฐประหาร และผลพวงการรัฐประหารแต่ละเลยที่จะพูดถึงปัญหาทางการเมืองก่อนหน้านั้น สิ่งที่จะได้มาแทนที่คือระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างนั้นหรือ หรือเรียกว่าระบอบเผด็จการโดยสภาผู้แทนราษฎร เป็นสิ่งที่ต้องใคร่ครวญให้หนักก่อนตัดสินใจโหวต” นายคำนูณกล่าว

ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายในวานนี้ (17 พ.ย.) เวลา 19.36 น.  ว่า ร่างแก้ไขที่ประชาชน 1 แสนกว่าชื่อเสนอมา กับร่างที่ประชาชนลงประชามติ 16 ล้านกว่าชื่อไม่เท่ากันหรอก วันนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กำลังอยู่ในกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ

คำถามคือ ที่ท่านแก้เรื่องบัตร 2 ใบไปเรียบร้อยแล้ว แล้วจะให้มารับหลักการเหลือแค่ ส.ส.บัตรใบเดียว ทำอย่างนี้ชอบหรือไม่ ในเมื่อท่านนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว สมาชิกในสภาแห่งนี้ก็เสนอกันมาเอง ไม่ใช่อะไรก็ทำได้ตามใจชอบ

“จึงอยากบอกว่า เรื่องนี้รับหลักการไม่ได้ เพราะผู้เสนอไม่ได้แยกออกมาทีละเรื่อง แต่เอาไปรวมกับ 13 เรื่องที่เสนอมาก่อนหน้านี้ และสิ่งที่เสนอมามีหลายประเด็นที่ไม่สามารถรับได้ ถ้าไม่มี ส.ว. แล้วเหลือเพียง ส.ส.สภาเดียว อาจทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภา ยกตัวอย่างเช่น การเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แบบที่ผ่านมา ดังนั้น ตนจึงเห็นว่าควรมีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลกันฝ่ายนิติบัญญัติ”

นายสมชายกล่าวอีกว่า การเสนอตัด ส.ว. ออกจากกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ ส.ว.ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ดั่งใจ ท่านอาจจะอยากแก้หมวด 1 หมวด 2 หรือเรื่องที่ท่านพูดบนท้องถนน ท่านจึงเลือกตัด ส.ว.ออก แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเหลือสภาผู้แทนฯเพียงสภาเดียว ถ้าเป็นแบบนี้ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา  กล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายน ว่าขอฟันธง 100% ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะไม่ผ่านวาระรับหลักการจากรัฐสภา ไม่มี ส.ว.ให้ความเห็นชอบเกิน 1 ใน 3 หรือ 84 คนแน่นอน

นายกิตติศักดิ์ระบุอีกว่า เนื้อหาที่เสนอแก้ไขไม่เรียกว่าปฏิรูป แต่เป็นการปฏิวัติ เพราะเป็นการแก้ไขทั้งโครงสร้างรัฐสภา ศาล และองค์กรอิสระให้เอาตามที่ฝ่ายตนเองต้องการ โดยเฉพาะข้อเสนอที่ให้เหลือเพียงแค่สภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ทำให้ขาดการถ่วงดุล ซึ่ง ส.ว.ไม่ติดใจที่เสนอให้ยกเลิกวุฒิสภาเพราะ ส.ว.อยู่ตามรัฐธรรมนูญอีกแค่ 2 ปีกว่าก็จะหมดหน้าที่แล้ว