กฎหมายล้างคำสั่ง คสช. รัฐเสี่ยงถูกฟ้อง ต่างชาติเมินลงทุน

อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถูกท้าทายในสภาอีกครั้ง เพราะร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. … หรือกฎหมายยกเลิกคำสั่ง คสช.

ซึ่งเสนอโดย “โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน” หรือ “ไอลอว์” ถูกเข็นเข้าสู่การประชุมสภาอย่างเป็นทางการ วันที่ 1 ธันวาคม 2565

หลังจากไอลอว์ โดย “จอน อึ๊งภากรณ์” ผู้อำนวยการไอลอว์ แนบชื่อประชาชน 12,609 รายชื่อ ยื่นร่างกฎหมายเข้าสู่สภา ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2562 โดยจะมีผู้ชี้แจงในสภาคือ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์

โดยแนบประกาศ-คำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่จะต้องยกเลิกอีก 29 ฉบับ ไว้ในท้ายร่างพระราชบัญญัติ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม

1.ประกาศ/คำสั่งที่จำกัดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน อาทิ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 49/2557 เรื่อง ความผิดสำหรับการสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง

2.ประกาศ/คำสั่ง ที่จำกัดเสรีภาพสื่อ อาทิ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2557 เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต

3.ประกาศ/คำสั่ง ที่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรม อาทิ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 50/2557 เรื่อง ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม

4.ประกาศ/คำสั่ง ที่ละเมิดสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาทิ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 31/2560 เรื่อง การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 47/2560 เรื่อง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ทั้งนี้ การเดินทางของกฎหมาย กว่าจะถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ใช้เวลาถึง 2 ปีเศษ

ในเวลา 2 ปีเศษ ประกาศ-คำสั่ง คสช.บางฉบับถูกยกเลิก หรือเปลี่ยนเป็นกฎหมาย จาก 29 ฉบับ เหลือ 17 ฉบับ

ใช้เวลาการรับฟังความคิดเห็น 156 วัน ตั้งแต่ 4 ธันวาคม 2562-7 พฤษภาคม 2563 มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากประกาศและคำสั่ง คสช. 31 ราย ผู้ประกอบธุรกิจสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 4 ราย ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน ที่แสดงความคิดเห็น 12 ราย

อาทิ กรมเชื้อเพลิงพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

ผลรับฟังความคิดเห็นปรากฏว่า มีทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. บางองค์กรให้คำแนะนำพ่วงมาด้วย

ความเห็นช่วงหนึ่งของ “ดีเอสไอ” ระบุว่า เมื่อพิจารณาจากระบบกฎหมาย ยังไม่ปรากฏว่ามีพระราชบัญญัติฉบับใดให้อำนาจกับพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพกับสถานการณ์ที่ไม่อาจใช้บังคับกฎหมายปกติได้ เช่น การชุมนุมทางการเมืองที่ละเมิดต่อกฎหมาย การก่อเหตุภายในประเทศ แต่ยังไม่ถึงขนาดเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนั้น คำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 5/2560 จึงยังมีความจำเป็น

ทีโอที ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเห็นว่า การยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 26/2557 เรื่องการดูแล และสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของบริษัท และเห็นด้วยกับการยกเลิกประกาศ คสช.

ปตท.เสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรกำหนดบทเฉพาะกาลให้การใด ๆ ที่ดำเนินการไปแล้วก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีผลย้อนหลังไปยกเลิกการอนุญาต หรือพิจารณา หน่วยงานรัฐที่ได้รับอนุญาตหรือพิจารณาไปเรียบร้อยแล้ว

ในส่วนผลกระทบโดยรวมที่เกิดจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทางฝ่ายเลขาฯของสภาให้ความเห็นว่า การยกเลิกคำสั่ง-ประกาศบางฉบับ เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 31/2560 เรื่อง การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ

จะส่งผลให้ไม่มีบทบัญญัติในลักษณะที่เป็นกฎหมาย หรือกฎที่อนุญาตให้ผู้สัมปทานใช้ที่ดินไปพลางก่อนได้

จึงต้องหยุดดำเนินการผลิตปิโตรเลียม ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตที่ต้องมีความเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ผลสืบเนื่องจากการต้องหยุดการผลิตจะทำให้ประเทศต้องสูญเสียรายได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม ซึ่งเป็นค่าภาคหลวงและภาษีปิโตรเลียม วันละ 9 ล้านบาท

“นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่อการทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติขาดแรงจูงใจที่จะมายื่นขอสิทธิเพื่อลงทุนในธุรกิจปิโตรเลียม ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ในเรื่องการค้า การลงทุน การจ้างงาน”

ผลกระทบต่อสังคมชี้ว่า หากไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ใช้ที่ดิน จะทำให้ผู้รับสัมปทานได้สิทธิในแปลงสำรวจและพื้นที่ที่ได้รับสัมปทานไม่อาจใช้ที่ดินได้

ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐเป็นฝ่ายผิดสัญญา อาจเกิดความเสี่ยงที่รัฐจะถูกผู้รับสัมปทานฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายได้

“อยากให้ที่ประชุมสภา รับร่างหลักการวาระที่ 1 ไปก่อน เพราะไอลอว์ร่างกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่ปี 2561 ทำให้ปัจจุบันอาจมีปัญหาทางเทคนิคอยู่บ้าง สามารถแก้ในวาระ 2 ได้”

ยิ่งชีพตั้งความหวัง