ผู้ว่า กทม.ในบัญชี 3 ป. ฝุ่นตลบ “ผู้ว่าหมูป่า” สายตรงทำเนียบ

ผู้ว่ากทม.ในบัญชี 3 ป. ฝุ่นตลบ “ผู้ว่าหมูป่า” สายตรงทำเนียบ

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่า กทม.) ถูก “แช่แข็ง” ด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2559 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559

สนามเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ลุกเป็นไฟ “ครั้งสุดท้าย” เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 หากมีการเลือกในเดือนมีนาคม 2565 ตามเสียงร้องของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จริงจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ในรอบ 9 ปี

ปัจจุบันการจัดการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ในอุ้งมือ 3 ป.

ป.ป๊อก “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ต้อง “กำหนดวัน” เลือกตั้งผู้ว่า กทม.

ป.ประยุทธ์ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี – หัวหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้อง “ไฟเขียว” จัดการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.

ป.ป้อม “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต้องมี “ผู้สมัครผู้ว่ากทม.” ในใจ

“แคนดิเดตผู้ว่า กทม.” ในบัญชี 3 ป.ยัง “ฝุ่นตลบ” โดยเฉพาะชื่อที่มีข่าวคราวกับพรรคพลังประชารัฐมาอย่างต่อเนื่อง คือ “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี หลังจากเข้าไปรายงานตัวใน “บ้านป่ารอยต่อ”

มิหนำซ้ำยังมาแรงแซงทางโค้ง ภายหลัง “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) “น้องรักบิ๊กป้อม” กลืนเลือด “ถอนตัว” ลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่ากทม. “กลางคัน”

ทว่า “อดีตผู้ว่าหมูป่า” ยังเหลืออายุราชการอีก 4 ปี (เกษียน วันที่ 30 กันยายน 2568) ดังนั้นการตัดสินใจ “ลาออก” เพื่อลงรับสมัครผู้ว่ากทม.จึง “เดิมพันสูง” มี “ราคาค่างวด” เป็น “ชีวิตข้าราชการ”

หากตัดสินใจลงรับสมัครผู้ว่ากทม.แล้ว “ขาลอย” จึงต้อง “การันตี” ด้วยผลการเลือกตั้ง “ต้องชนะ” สถานเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ดี หาก “อดีตผู้ว่าพะเยา” ตัดสินใจ “ไขก๊อก” 3 ป.คงต้องมี “ออปชั่น” เพื่อ “ยูเทิร์น” หาก “ชวด” เก้าอี้ผู้ว่ากทม. อย่างน้อยต้องกลับเข้ามารับราชการใหม่ได้อีกครั้งใน “เก้าอี้บิ๊ก” กระทรวงคลองหลอด

การ “ขอกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง” เหมือนกรณี “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ” อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ยื่นเรื่องไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งรอง ผบ.ตร. หลังแพ้ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” เมื่อปี 56

การกลับเข้ารับราชการอีกครั้งของ “พงศพัศ” อ้างถึง “มติ ครม.” เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2517 เห็นชอบ “อนุญาตให้ข้าราชการทุกกระทรวงทบวงกรมลาออกจากราชการไปสมัครรับเลือกตั้งได้ โดยกระทรวงทบวงกรมนั้น ๆ เก็บตำแหน่งนั้นไว้ก่อน

เมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลงแล้ว หากข้าราชการซึ่งลาออกไปนั้นประสงค์จะเข้ารับราชการต่อไปอีก ก็ให้แสดงความจำนงต่อหน่วยราชการนั้น ๆ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันทราบผลการเลือกตั้ง”

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยและเพื่อให้ข้าราชการประจำมีโอกาสรับใช้ประเทศชาติในด้านการเมืองเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป และบุคคลซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทห้างร้านเอกชน

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเริ่มแรกที่ประเทศไทยมีความปรารถนาที่จะวางรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง”มติครม.ในยุครัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ระบุ

สุดท้ายแล้วยังต้องลุ้นออกจากปาก “ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์” ว่าจะตัดสินใจเส้นทางชีวิตข้าราชการที่เหลืออยู่อย่างไร เพราะขณะนี้มีเพียง “เสียงลือ” ออกจากปากกองเชียร์เท่านั้น

ขณะที่ “ผู้ว่าอัศวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม.คนปัจจุบัน เข้ามานั่งในตำแหน่งผู้ว่ากทม.ด้วย “คำสั่งหัวหน้าคสช.” ยังเป็น “ตัวเลือก” อันแรกใน “บัญชีบิ๊กตู่”

“ผู้ว่าอัศวิน” แม้ตีตั๋วหัวหน้าคสช.นั่งเก้าอี้ผู้ว่ากทม.มากว่า 6 ปี เป็นนักรบที่มีบาดแผล มีทั้งคนที่ชอบ-ไม่ชอบ และไม่สด-ไม่ใหม่ โอกาสชนะจึง 50/50

อีก 1 ทางเลือก คือ “คนใน” พลังประชารัฐ หากตัดสินใจส่งในนามพรรค-จะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นภายในพรรค-ภาคกทม.

ทว่า ขณะนี้ “คนในพรรค” ยังไม่มีใครแสดงตัว-ยอมเสี่ยง เอาชีวิต ส.ส.แขวนไว้บนเก้าอี้ผู้ว่ากทม.

หากส่ง “คนในพรรค” ลงรับสมัครผู้ว่ากทม. อย่างน้อยคุณสมบัติพื้นฐาน คือ ต้องเป็น “สมาชิกพรรค” ซึ่งตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ “เสี่ยจั้ม” สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่ากทม.คนปัจจุบัน

ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าเสาชิงช้า ในบัญชี 3 ป.ยังฝุ่นตลบ ไปพร้อมกับความไม่ชัดเจน วัน ว. เวลา น.เลือกตั้งผู้ว่ากทม.