วันรัฐธรรมนูญ : 89 ปีประชาธิปไตย รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญกี่ครั้ง

รัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค.64

10 ธันวาคม 2564 เป็นวันครบรอบ 89 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศให้แก่ปวงชนชาวไทย

89 ปีนับจากวันที่รัชกาลที่ 7 พระราชทานกฎหมายสูงสุดฉบับแรกอันเป็นฉบับถาวรให้แก่ชาวไทย รัฐธรรมนูญมีการยกร่างขึ้นใหม่รวมทั้งสิ้น 20 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน ก่อนจะสิ้นปีที่สองของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้

รัฐธรรมนูญไทย 20 ฉบับ

ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2562 รัฐธรรมนูญไทยมีมาแล้ว 20 ฉบับ ซึ่ง ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง เคยสรุปวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ สาเหตุที่ถูกยกเลิก และสาระสำคัญไว้ในมติชน ดังนี้

ฉบับที่ 1 คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ถูกยกเลิก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ด้วยสาเหตุประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร

สาระสำคัญเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่ใช้คำนำหน้าว่า “พระราชบัญญัติ” เหมือนกฎหมายสามัญทั่วไป

ฉบับที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ด้วยสาเหตุประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489

สาระสำคัญ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่มีระยะเวลาใช้บังคับนานที่สุด 13 ปี 4 เดือน 29 วัน

ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2482 โดยเปลี่ยนนามประเทศจาก “สยาม” เป็น “ประเทศไทย” และใช้ประเทศไทยตั้งแต่นั้นมา

ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2483 ขยายเวลาจาก 10 ปี เป็น 20 ปี ที่กำหนดให้สมาชิกประเภทที่ 2 (แต่งตั้ง) หมดไป เหลือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งประเภทเดียว

ครั้งที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2485 ขยายเวลา ส.ส. ออกไปอีกคราวละไม่เกิน 2 ปี โดยขยายเวลาออกไป 2 ครั้งใน พ.ศ. 2485 และ พ.ศ. 2487

ฉบับที่ 3 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ด้วยสาเหตุรัฐประหารโดยพลโทผิน ชุณหะวัณ

สาระสำคัญ รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา ได้แก่ พฤฒสภา และสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการใช้คำพฤฒสภาแทนวุฒิสภา เพียงฉบับเดียว

ฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 ด้วยสาเหตุประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร

สาระสำคัญ เป็นรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารร่างไว้ล่วงหน้าโดยเอาตุ่มแดงทับไว้ จึงเรียกว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม”

ฉบับที่ 5 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 ด้วยสาเหตุ พลเอก ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจการปกครองครั้งที่ 2

สาระสำคัญ ยกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร และมิได้กำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

ฉบับที่ 6 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ประกาศใช้เมื่อ 8 มีนาคม 2495 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ด้วยสาเหตุปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

สาระสำคัญ ได้นำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มาใช้บังคับไปพลางก่อน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ฉบับที่ 7 คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2502 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 ด้วยสาเหตุประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511

สาระสำคัญ มีการใช้อำนาจเด็ดขาดของนายกรัฐมนตรี สั่งประหารชีวิต จำคุก หรือยึดทรัพย์สิน ตามมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ฉบับที่ 8 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ด้วยสาเหตุปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร

สาระสำคัญ มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร โดยนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกรัฐสภาในขณะเดียวกันมิได้

ฉบับที่ 9 คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 ด้วยสาเหตุประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

สาระสำคัญ รัฐสภามีสภาเดียว ได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีการใช้อำนาจเด็ดขาด จนเกิดการเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516

ฉบับที่ 10 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยสาเหตุยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จากการนำของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่

สาระสำคัญ มีการใช้คำว่า “ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” เป็นครั้งแรกในการยึดอำนาจ

ฉบับที่ 11 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2519 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ด้วยสาเหตุปฏิวัติโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่

สาระสำคัญ มีการยึดอำนาจซ้ำ และรัฐสภามีสภาเดียว ได้แก่ สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

ฉบับที่ 12 คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 ถูกยกเลิก เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 ด้วยสาเหตุปฏิวัติซ้ำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่

สาระสำคัญ ยังคงมีสภาเดียว ได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ฉบับที่ 13 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ด้วยสาเหตุยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์

ฉบับที่ 14 คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 ด้วยสาเหตุประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534

สาระสำคัญ เป็นการปกครองด้วยอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)

ฉบับที่ 15 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 ด้วยสาเหตุประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

สาระสำคัญ มีความเป็นประชาธิปไตยมากฉบับหนึ่ง โดยมี 2 สภา ได้แก่ วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมด 6 ฉบับ

ฉบับที่ 16 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ด้วยสาเหตุปฏิวัติภายใต้การนำของ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน

สาระสำคัญ เป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมและได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากที่สุดฉบับหนึ่ง

ฉบับที่ 17 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ด้วยสาเหตุประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

สาระสำคัญ เป็นการใช้อำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

ฉบับที่ 18 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ด้วยสาเหตุการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

สาระสำคัญเป็นการยกร่างโดยคณะผู้ยึดอำนาจ และมีการออกเสียงประชามติ

ฉบับที่ 19 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ด้วยสาเหตุมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

สาระสำคัญ เป็นการใช้อำนาจเด็ดขาดตาม มาตรา 44 และมาตรา 48

ฉบับที่ 20 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 และยังใช้อยู่ในปัจจุบัน

สาระสำคัญ เป็นการจัดระเบียบการปกครอง การตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ และมีกลไกปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ

จากรัฐธรรมนูญไทยทั้ง 20 ฉบับ แสดงถึงปัญหาและอุปสรรคหลายประการ โดยมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญจากการยึดอำนาจหลายครั้ง

รัฐประหาร 13 ครั้ง

สิ่งที่ “คณะปฏิวัติ” มักใช้เป็น “ข้ออ้าง” เปลี่ยนมืออำนาจ ได้แก่ 1.การทุจริต 2.การจาบจ้วงสถาบัน-เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน หากย้อนกลับไปในการรัฐประหาร จำนวน 13 ครั้ง มีปัจจัยภายใน-ภายนอกประเทศที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการปฏิวัติซ้ำ-ซ้อน และรัฐประหารตัวเองในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองในหมู่ “คณะราษฎร” ที่มาจากสายพลเรือน ทหารบก-ทหารเรือ

ครั้งที่ 1 วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ครั้งที่ 2 วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ครั้งที่ 3 วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ครั้งที่ 4 วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 ครั้งที่ 5 วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ครั้งที่ 6 วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500

ครั้งที่ 7 วันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ใช้ “ข้ออ้าง” ภัยคอมมิวนิสต์คุกคามประเทศไทยอย่างรุนแรง ในการกุมอำนาจ

ครั้งที่ 8 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ ยกปัจจัยภายนอกและภายใน 1.สถานการณ์ภายนอกประเทศเกิดการยุยงสนับสนุนให้ผู้ก่อการร้าย ก่อความยุ่งยากอยู่ ณ ที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย เป็นภยันตรายต่อประเทศ สถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชน ทั้งมุ่งจะเปลี่ยนระบอบการปกครองไปสู่ระบอบอื่น ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

2.สถานการณ์ภายในประเทศเกิดการยุยงให้ประชาชนและสถาบันต่าง ๆ เป็นปฏิปักษ์และกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล ให้นักศึกษาเดินขบวน ให้กรรมกรนัดหยุดงาน

การยึดอำนาจครั้งนี้ก็เพื่อรักษาสถาบันที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ให้ดำรงคงอยู่ตลอดไป องค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้รับอารักขาจากคณะปฏิวัติอย่างปลอดภัยแล้วทุกประการ”

ครั้งที่ 9 วันที่ 6 ตุลาคม 2519 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 1.นิสิตนักศึกษาบางกลุ่มได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เหยียบย่ำจิตใจของคนไทยทั้งชาติ โดยเจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศ ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดของชาติและมิให้ประเทศไทยต้องตกไปเป็นเหยื่อของจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์

2.นักการเมืองที่อยู่ในพรรคเดียวกันแตกแยก ไม่ยึดถืออุดมคติของพรรค ไม่ปฏิบัติตามอาณัติที่ประชาชนมอบไว้ให้ ซึ่งพ้นวิสัยระบอบประชาธิปไตยจะดำเนินไปตามวิถีรัฐธรรมนูญได้ “การยึดอำนาจครั้งนี้เพื่อรักษาสถาบันที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐให้ดำรงอยู่ตลอดไป องค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้รับการอารักขาจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอย่างปลอดภัยแล้วทุกประการ”

ครั้งที่ 10 วันที่ 20 ตุลาคม 2520 พล.ร.อ.สงัด ยึดอำนาจเป็นคำรบที่สองเพราะ 1.เกิดความแตกแยกในหมู่ข้าราชการ ประชาชน 2.การเศรษฐกิจและการลงทุนของชาวต่างประเทศ ลดลงและไม่แน่นอน

ครั้งที่ 11 ปฏิวัติ 23 กุมภาพันธ์ 2534 พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ 1.พฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวง 2.ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต 3.รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา 4.การทำลายสถาบันทางทหาร 5.การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบัน

“จากเหตุผลและความจำเป็นทั้ง 5 ประการดังกล่าว คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ไม่สามารถที่จะปล่อยให้สภาวะระส่ำระสายของชาติบ้านเมืองเกิดขึ้นรุนแรงต่อไปอีกได้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงจำเป็นต้องใช้วิธีเข้ายึดและควบคุมอำนาจปกครองประเทศ”

ครั้งที่ 12 วันที่ 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน 1.การบริหารราชการแผ่นดิน โดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบันได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

“ประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมือง ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์”

ครั้งที่ 13 วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1.เกิดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล และหลายพื้นที่ เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต บาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน

6 รูปแบบของทุกรัฐประหาร

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่ม Re : Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญ ผู้รณรงค์ล่าชื่อแก้รัฐธรรมนูญ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” จัดกิจกรรมออนไลน์รำลึกครบรอบ 7 ปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เฟซบุ๊กผ่านไลฟ์ โดยมี 7 บุคคลสำคัญ มาร่วมถอดบทเรียนของสังคมไทยจากการรัฐประหาร 2557 ที่สืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 มาจนถึงปัจจุบัน

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อ “รัฐไทย vs รัฐทหาร : ทำไมยังไม่หย่าขาดกันเสียที” โดยพาย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่การรัฐประหารปี 2490 ซึ่งพบว่ามีแบบแผนความพยายามสถาปนาอำนาจที่คล้าย ๆ กันอยู่ แบ่งออกได้เป็น 6 ประการด้วยกัน คือ

1) กำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถมาจากคนนอกได้ จนได้ผู้นำทหารหรือคนที่ฝ่ายชนชั้นนำจารีตยอมรับขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

2) จัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เขียนและผ่านรัฐธรรมนูญที่จะให้อำนาจกับกองทัพมากยิ่งขึ้น

3) มีวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ที่บางครั้งก็มีอำนาจมากกว่า ส.ส. บางยุคบางสมัยก็ให้มีอำนาจเท่ากับ ส.ส.

4) การออกแบบกฎหมายพรรคการเมืองและระบบการเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยในสภาขึ้นจำนวนมาก ก่อนดึงเสียงเอาพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กเข้ามาร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของทหาร

5) พยายามขยายอำนาจของกองทัพออกไปอย่างกว้างขวาง เข้าไปในปริมณฑลทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการขยายออกไปถึงขั้นส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งนี่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่

6) ก็คือการออกกฎหมายจำกัดอำนาจของรัฐบาลจากการเลือกตั้งเหนือกิจการภายในของกองทัพ ให้มีอำนาจจำกัดในการโยกย้ายตำแหน่งนายพลประจำปี หรือการแบ่งสรรงบประมาณจากกระทรวงกลาโหม

รศ.พวงทองระบุว่า การออกแบบอำนาจทั้ง 6 ประการนี้ ฝังรากลึกอยู่ในระบบการเมืองของรัฐไทยมานานแล้ว โดยใช้รัฐธรรมนูญที่เขียนเองมาเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำที่ไม่ชอบธรรม

“ประการสำคัญ ดิฉันอยากจะบอกว่ารัฐบาลทหารอาจจะเปลี่ยนผู้นำได้หรือบางครั้งเขาอาจจะเชิญเอาพลเรือนเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลได้ แต่รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่พวกเขาพยายามสร้างกันขึ้นมาจะมีอายุยืนยาวนานกว่าผู้นำรัฐบาล และก็จะถูกใช้เพื่อสนับสนุนรัฐบาลที่ชนชั้นนำจารีตสนับสนุน และจะกลายเป็นเครื่องมือบ่อนเซาะอำนาจของรัฐบาลที่พวกเขาไม่ต้องการ ดั่งเช่นที่เราเห็นมาแล้วในปี 2549 ที่กลไกต่าง ๆ ของชนชั้นนำฝ่ายจารีตพยายามช่วยกันเล่นงานรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้นการที่จะเอาทหารออกจากการเมืองไทย ออกจากโครงสร้างอำนาจของรัฐไทยได้ ต้องจัดการกับรัฐธรรมนูญของ คสช. ให้ได้ ถ้าเราล้มรัฐธรรมนูญนี้ได้ ขั้นต่อไปก็คือการไปจัดการกับกฎหมายลูกอีกจำนวนมากที่ให้อำนาจกับทหารแทรกซึมการเมืองไทยมาเป็นเวลายาวนาน” รศ.พวงทองกล่าว