พลิกข้ออ้าง รัฐประหาร 13 ครั้ง เปลี่ยนรูปรัฐ ทุจริต-จาบจ้วงสถาบัน

ภายใต้สถานการณ์อันแหลมคมทางการเมือง ข่าวลือ-ข่าวปล่อยการ “รัฐประหาร” ส่งกลิ่นตลบอบอวลจากลานราษฎร-เชิงบันไดทำเนียบ

แม้กองทัพในยุคที่มี “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะออกมาแสดงความเป็น “ทหารอาชีพ” ว่า การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง-รัฐประหารติดลบ

ทว่าการปฏิวัติจะไม่เกิดขึ้น-ไม่มีใครบอกล่วงหน้า แต่สิ่งที่ “คณะปฏิวัติ” มักใช้เป็น “ข้ออ้าง” เปลี่ยนมืออำนาจ 1.การทุจริต และ 2.การจาบจ้วงสถาบัน-เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน หากย้อนกลับไปในการรัฐประหาร จำนวน 13 ครั้ง มีปัจจัยภายใน-ภายนอกประเทศที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการปฏิวัติซ้ำ-ซ้อน และรัฐประหารตัวเองในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองในหมู่ “คณะราษฎร” ที่มาจากสายพลเรือน ทหารบก-ทหารเรือ

ครั้งที่ 1 วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ครั้งที่ 2 วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ครั้งที่ 3 วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ครั้งที่ 4 วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 ครั้งที่ 5 วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ครั้งที่ 6 วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500

และครั้งที่ 7 วันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ใช้ “ข้ออ้าง” ภัยคอมมิวนิสต์คุกคามประเทศไทยอย่างรุนแรง ในการกุมอำนาจ

ครั้งที่ 8 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ ยกปัจจัยภายนอกและภายใน 1.สถานการณ์ภายนอกประเทศเกิดการยุยงสนับสนุนให้ผู้ก่อการร้าย ก่อความยุ่งยากอยู่ ณ ที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย เป็นภยันตรายต่อประเทศ สถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชน ทั้งมุ่งจะเปลี่ยนระบอบการปกครองไปสู่ระบอบอื่น ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

2.สถานการณ์ภายในประเทศเกิดการยุยงให้ประชาชนและสถาบันต่าง ๆ เป็นปฏิปักษ์และกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล ให้นักศึกษาเดินขบวน ให้กรรมกรนัดหยุดงาน

“การยึดอำนาจครั้งนี้ก็เพื่อรักษาสถาบันที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ให้ดำรงคงอยู่ตลอดไป องค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้รับอารักขาจากคณะปฏิวัติอย่างปลอดภัยแล้วทุกประการ”

ครั้งที่ 9 วันที่ 6 ตุลาคม 2519 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 1.นิสิตนักศึกษาบางกลุ่มได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เหยียบย่ำจิตใจของคนไทยทั้งชาติ โดยเจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศ ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดของชาติและมิให้ประเทศไทยต้องตกไปเป็นเหยื่อของจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์

2.นักการเมืองที่อยู่ในพรรคเดียวกันแตกแยก ไม่ยึดถืออุดมคติของพรรค ไม่ปฏิบัติตามอาณัติที่ประชาชนมอบไว้ให้ ซึ่งพ้นวิสัยระบอบประชาธิปไตยจะดำเนินไปตามวิถีรัฐธรรมนูญได้ “การยึดอำนาจครั้งนี้เพื่อรักษาสถาบันที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐให้ดำรงอยู่ตลอดไป องค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้รับการอารักขาจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอย่างปลอดภัยแล้วทุกประการ”

ครั้งที่ 10 วันที่ 20 ตุลาคม 2520 พล.ร.อ.สงัด ยึดอำนาจเป็นคำรบที่สองเพราะ 1.เกิดความแตกแยกในหมู่ข้าราชการ ประชาชน 2.การเศรษฐกิจและการลงทุนของชาวต่างประเทศ ลดลงและไม่แน่นอน

ครั้งที่ 11 ปฏิวัติ 23 กุมภาพันธ์ 2534 พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ 1.พฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวง 2.ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต 3.รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา 4.การทำลายสถาบันทางทหาร 5.การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

“จากเหตุผลและความจำเป็นทั้ง 5 ประการดังกล่าว คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ไม่สามารถที่จะปล่อยให้สภาวะระส่ำระสายของชาติบ้านเมืองเกิดขึ้นรุนแรงต่อไปอีกได้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงจำเป็นต้องใช้วิธีเข้ายึดและควบคุมอำนาจปกครองประเทศ”

ครั้งที่ 12 วันที่ 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน 1.การบริหารราชการแผ่นดิน โดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบันได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

“ประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมือง ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์”

ครั้งที่ 13 วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1.เกิดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล และหลายพื้นที่ เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต บาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน

ทั้งนี้ เหตุการณ์มีแนวโน้มขยายตัว จนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม

“เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวก ทุกฝ่าย”

ครั้งนี้อาจเช่นเดียวกัน เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนรูปของรัฐ-สาธารณรัฐ การหมิ่นสถาบัน ว่อนทวิตเตอร์และ “ม็อบชนม็อบ”