ประยุทธ์ยินดี ไทยครบรอบเป็นสมาชิก UN 75 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ประยุทธ์ยินดีในวาระครบรอบ 75 ปี การเป็นสมาชิก UN ของไทย ย้ำภารกิจ 3 เสาหลัก ชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG “ความสมดุลของสรรพสิ่ง”

วันที่ 15 ธันวาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวาระครบรอบ 75 ปี การเป็นสมาชิกสหประชาชาติของไทย ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ในโอกาสนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงสาระสำคัญของคำปราศรัย ดังนี้

ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหประชาชาติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2489 ถือเป็นสมาชิกลำดับที่ 55 สหประชาชาติเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการบรรเทาทุกข์ แก้ไขปัญหาของประชาคมโลก จรรโลงสันติภาพและความมั่นคง ปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และดำเนินงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งตลอดระยะเวลา 75 ปี ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีภูมิใจที่ไทยได้มีส่วนร่วมในภารกิจทั้ง 3 เสาหลักของสหประชาชาติอย่างแข็งขัน ได้แก่

เสาหลักที่ 1 ด้านสันติภาพและความมั่นคง ไทยสนับสนุนภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติอย่างต่อเนื่อง โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้ง ชายและหญิงกว่า 27,000 คน เข้าร่วมปฏิบัติการเพื่อสันติภาพในภูมิภาคต่าง ๆ กว่า 20 ภารกิจ รวมทั้งในปัจจุบันไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมในภารกิจรักษาสันติภาพ ณ สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน

เสาหลักที่ 2 ด้านสิทธิมนุษยชน ไทยให้ความสำคัญกับการปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน จนได้รับการยอมรับด้านการส่งเสริมสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมให้กับประชากร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็ก สตรี ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ตลอดจนในสถานการณ์โควิด-19 ไทยเป็นประเทศรายได้ระดับกลางที่ประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชากรกลุ่มต่าง ๆ

เสาหลักที่ 3 ด้านการพัฒนา ไทยเร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายหลัก (SDGs) ภายในปี 2573 โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy : SEP) เป็นแนวทางในการขับเคลื่อน

นอกจากนั้นยังมุ่งนำเสนอการสร้าง “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” ในเวทีสหประชาชาติผ่านโมเดล BCG ตลอดจน ในการประชุมเอเปกที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2565 ไทยนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อส่งเสริมการเติบโตในระยะยาวที่มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน

นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยได้รับความไว้วางใจจากประชาคมระหว่างประเทศ ไทยเป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่ของสำนักงานสหประชาชาติในภูมิภาคเอเชีย เป็นที่ตั้งของเอสแคป (ESCAP) และอีกกว่า 40 หน่วยงานของสหประชาชาติ ขณะเดียวกัน ไทยมุ่งมั่นพัฒนาความสามารถของบุคลากรในด้านการทูตพหุภาคี โดยการสนับสนุนให้ปฏิบัติงานหรือดำรงตำแหน่งสำคัญในสหประชาชาติ

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าไทยให้ความสำคัญกับการเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เชื่อมั่นว่าความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของนานาประเทศ โดยมีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลางความร่วมมือเป็นทางออกให้ฝ่าฟันวิกฤตต่าง ๆ โดยเฉพาะความท้าทายรูปแบบใหม่ได้

โดยไทยยืนยันความพร้อมเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือพหุภาคีภายใต้สหประชาชาติ ให้สหประชาชาติเป็นกลไกแห่งการขับเคลื่อนที่เสริมพลังโลกให้เข้มแข็งกว่าเดิม รวมทั้งไทยจะคงบทบาทที่ “เข้มแข็ง สร้างสรรค์ และต่อเนื่อง” ในเวทีสหประชาชาติ และเวทีโลก

อนึ่ง การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวาระครบรอบ 75 ปี การเป็นสมาชิกสหประชาชาติ สะท้อนว่าสหประชาชาติเป็นเรื่องใกล้ตัว ประเทศและประชาชนไทยต่างได้รับประโยชน์จากสหประชาชาติ รวมถึงเป็นการเน้นย้ำถึงพันธกรณีของไทยต่อสหประชาชาติ และแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ผ่านบทบาทที่สร้างสรรค์