สภาตีตก ร่างกฎหมายล้มล้างคำสั่ง คสช. ฉบับ ไอลอว์-ปิยบุตร

สภามีมติ 229 ต่อ 157 เสียง กฎหมายล้างคำสั่ง คสช. ทั้งฉบับไอลอว์ และฉบับของปิยบุตร ที่เสนอตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่

วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้มีการลงมติร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …. (นายจอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 12,609 คน เป็นผู้เสนอ)

และร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. …. (นายปิยบุตร แสงกนกกุล กับคณะ เป็นผู้เสนอ ครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งทั้ง 2 ฉบับได้ที่ประชุมมีมติในคราวเดียวกัน โดยที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการด้วยเสียง 229 ต่อ 157 เสียง งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 2 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 391 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาที่ประชุมรัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณากฎหมาย หรือที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และโครงสร้างอำนาจที่เกี่ยวข้องในยุค คสช. รวมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4

ครั้งแรก วันที่ 4 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมสภาได้พิจารณา 244 เสียง ต่อ 5 เสียง งดออกเสียง 6 ไม่เห็นชอบให้มีการตั้งญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 ที่เสนอโดยพรรคอนาคตใหม่ และพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ของ “ไอลอว์” พร้อมด้วยประชาชนที่เข้าชื่อ 98,041 คน แต่แม้ได้เสียงเห็นชอบมากกว่าเสียง ไม่รับหลักการ คือ 212 ต่อ 139 เสียง แต่ที่ถูกตีตกเพราะ ไม่ผ่านเงื่อนไขเสียง ส.ว. 1 ใน 3

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 รัฐสภาตีตกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของกลุ่ม Re-Solutiion ที่มี “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1.35 แสนคน เป็นผู้นำเสนอ วันนั้นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมถูกรัฐสภา “ไม่รับหลักการ” ด้วยมติ 473 ต่อ 206 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง