“พงศ์เทพ” สวนทาง “จาตุรนต์” ดีลบิ๊กเนม หลังฉากเพื่อไทย

เมื่อมีเข้ามา ย่อมมีคนที่จากไป นี่คือสถานการณ์ล่าสุดของ “พรรคเพื่อไทย” เพราะกลุ่มของ “จาตุรนต์ ฉายแสง” ที่ไปแผ้วถางเส้นทางการเมืองใหม่ ภายใต้พรรคเส้นทางใหม่ เลือกกลับเส้นทางเดิม เข้าพรรคเพื่อไทย เมื่อกติกาเลือกตั้งเปลี่ยนจากสูตรจัดสรรปันส่วนผสม แบบบัตรใบเดียว มาเป็นสูตร เสียงข้างมากแบบผสม บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์

เข้าทางพรรคใหญ่ มากกว่าพรรคเกิดใหม่ เมื่อทีมจาตุรนต์ และผองเพื่อนมองว่า เส้นทางใหม่-ไปต่อยาก จึงเจรจากลับเข้าพรรคเพื่อไทย

ในทางตรงข้ามกัน “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่เคยมีตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาพรรคเพื่อไทย และมือทำงานด้านกฎหมายของพรรค กลับยื่นใบลาออกจากทุกตำแหน่ง ไม่เว้นแม้แต่สมาชิกพรรค

“จาตุรนต์” กับ “พงศ์เทพ” เดินสวนทางกัน

ทว่า หลังจากพรรคเพื่อไทย ปรับโครงสร้างใหม่-ใหญ่ แทบจะปฏิรูปพรรค หลัง “กลุ่มแคร์” อันประกอบด้วย ภูมิธรรม เวชยชัย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เข้ามารีแบรนด์พรรคเพื่อไทย

การปรับโฉมพรรค ที่มี “กลุ่มแคร์” เป็นแกนหลักในการบริหาร ดึงทีมงานเบื้องหน้า เบื้องหลัง แบ็กอัพ ในยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตา มีส่วนผสมของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม

“กลุ่มแคร์” กลายเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คุมทิศทาง-หางเสือพรรคเพื่อไทย ที่เมืองไทย เขียนสคริปต์การเมืองให้ พี่โทนี่-ทักษิณ โชว์วิสัยทัศน์ทุกวันอังคาร

แต่ในทางกลับกัน นักการเมืองในเพื่อไทย ที่หวังได้รับสปอตไลต์ เมื่อพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนจากยุคคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นำทัพ มาเป็นยุคกลุ่มแคร์ คุมหางเสือ กลับไม่ได้อย่างที่หวัง บางคนอาจหลบหลังฉาก ไม่มีพื้นที่ทางการเมืองให้เฉิดฉาย

ส่วน “พงศ์เทพ” ที่อยู่หลังฉากก่อนยื่นใบลาออก ให้เหตุผลว่า ไมใช่เพิ่งคิดจะลาออก แต่จะลาออกนานแล้ว เพราะอยู่ในการเมืองมานาน

จริง ๆ ตั้งใจจะถอนตัวจากการเมืองตั้งแต่ก่อนปี 2564 แต่ก็ติดงานนั้น งานนี้ ติดเรื่องงานรัฐธรรมนูญ ติดเรื่องเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจจนยืดเยื้อ ถ้าจะอยู่ต่อไปก็จะยืดเยื้อไปเรื่อย ๆ จึงไปยื่นลาออกก่อนประชุมใหญ่พรรคที่ขอนแก่น เมื่อ 28 ตุลาคม 2564

“ส่วนงานที่เคยทำ เช่น เรื่องรัฐธรรมนูญก็มีอาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นโต้โผอยู่ ผมก็บอกว่าถ้าอยากให้ผมช่วย ก็ยินดีเหมือนเดิม ไม่มีปัญหาอะไร”

พงศ์เทพตั้งใจ วางมือการเมือง “ตอนนี้ผมตั้งใจจะวางมือทางการเมือง แต่อนาคตก็ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น บ้านเมืองเป็นอย่างไร แต่ช่วงนี้เห็นคนรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมือง สนใจทางการเมือง และเข้ามาผลักดันทางการเมืองก็มีเยอะขึ้น ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี อย่างรุ่นผมทำการเมืองมา 20 กว่าปีแล้ว วันนี้อายุก็มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็น่าจะเป็นผู้ดูคนรุ่นหลัง ๆ เขาเป็นคนทำ”

เหตุผลที่ลาขาดจากการเป็นสมาชิกพรรคด้วย ก็เพราะถ้าอยู่ในสมาชิกพรรคก็จะไม่พ้นที่ยังวนเวียนอยู่กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้น เมื่อไม่อยู่เป็นสมาชิกพรรค อย่างน้อยบทบาททางการเมืองก็เบาลง เลือกได้ เมื่อไหร่อยากจะแสดงความเห็นอย่างไร ไม่ต้องผูกพันกับพรรค จะเห็นตรงกับพรรค หรือมองต่างกับพรรคอย่างไรก็ไม่ต้องกังวล

“เพราะถ้าผมเป็นสมาชิกพรรค หรือแสดงความคิดเห็น มันเป็นท่าทีของพรรคหรือเปล่า…ผมก็ต้องระวังหรือจะไปกระทบพรรคหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม มีตามข่าวว่ามี “บิ๊กเนม” กลับเข้ามาในพรรค ทำให้พื้นที่ทางการเมืองในพรรคเพื่อไทยลดน้อยลงหรือไม่ พงศ์เทพบอกว่า “ไม่เกี่ยวกันครับ ไม่เกี่ยวกันที่กลับเข้ามาก็รักใคร่ชอบพอกันทั้งนั้น ทั้งท่านจาตุรนต์ ฉายแสง ท่านณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไม่ได้เกี่ยวกันเลย”

“อย่างที่เรียน ผมยื่นใบลาออกตั้งแต่ก่อนการประชุมใหญ่พรรค ท่านเลขาฯ ประเสริฐ (จันทรรวงทอง) ท่านสมพงษ์ (อมรวิวัฒน์ อดีตหัวหน้าพรรค) บอกให้พ้นการประชุมใหญ่ไปก่อน ผมจึงรอยื่นอีกรอบหนึ่ง ไม่ได้เกี่ยวกับท่านอะไรเข้ามา”

“จริง ๆ ท่านที่กลับเข้ามาก็ถือว่าดี เคยทำงานร่วมกันมาตลอด ท่านจาตุรนต์ทำงานกันมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยนี่นะฮะ ก่อนพรรคถูกยุบก็นั่งทำงานด้วยกัน”

“พงศ์เทพ” ไม่ตอบตรง ๆ ว่าจะไม่เห็นเขาในนามพรรคไทยสร้างไทยหรือไม่

“ผมไม่ได้ตกลงกับพรรคการเมืองอื่น แล้วจึงลาออกจากพรรคเพื่อไทย…ไม่ใช่นะครับ ส่วนการช่วยเหลือทางการเมือง ผมก็ช่วย อย่างองค์กรอื่น ๆ ต้องการให้เราไปช่วยด้านใด เราก็ช่วยอยู่แล้ว แม้กระทั่งพรรคพวกเพื่อนฝูงกัน ใครขอไปให้ความคิดเห็น ผมก็ไปให้หมด ไม่ได้สนใจว่าเป็นพรรคไหน ขอให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ผมก็ทำให้”

“ยกตัวอย่าง ถ้าเสนอกฎหมายอะไรแล้วมาถามผมว่ามุมมองเรื่องนี้ผมเห็นอย่างไร ผมก็จะบอกมุมมองไปให้ ไม่ได้สนใจว่าอยู่พรรคไหน แต่ถือว่าทำประโยชน์ต่อส่วนรวม ถ้าเขาเอาไปใช้”

คนยังเข้า ๆ ออก ๆ พรรคเพื่อไทยยังมีต่อ ถ้าการเมือง-การเลือกตั้ง เริ่มชัด “พงศ์เทพ-จาตุรนต์” ไม่ใช่รายสุดท้าย