พลังประชารัฐ ชน ประชาธิปัตย์ โค้งสุดท้าย เลือกตั้งซ่อม วัดพลัง “บิ๊กป้อม”

ประวิตร นำ

 

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายเลือกตั้งซ่อมภาคใต้ในวันที่ 16 มกราคม 2565 พรรคการเมืองที่ส่งนักเลือกตั้งลงสนาม ชิงเก้าอี้ผู้แทนราษฎร 2 ที่นั่ง ใน 2 เขตเลือกตั้ง จ.ชุมพร และ จ.สงขลา

ดูเผิน ๆ แม้เป็นการชิงเก้าอี้กันเองระหว่างพรรคการเมืองขั้วรัฐบาล คือมวยคู่เอกระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าฝ่ายไหนชนะเสียงในสภาย่อมเพิ่มกับฝ่ายรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นกัปตันเรือ

แต่ความจริงแล้วสนามเลือกตั้ง 2 เขต ทั้งสงขลาและชุมพร พรรคการเมืองเจ้าของพื้นที่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ มิอาจยอมแพ้ได้อีกต่อไป เพราะยิ่งกว่าคำว่า “ศักดิ์ศรี” ค้ำคอ ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐหวังกินรวบพื้นที่ภาคใต้ที่อยู่ในมือของพรรคประชาธิปัตย์

“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ลงทุนไปถึงหน้างาน

ชุมพร ปชป.ตัดพลังประชารัฐ

ส่องสนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 มีท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ดังนี้ 1.อำเภอเมืองชุมพร (ยกเว้นตำบลวังใหม่ ตำบลบ้านนา ตำบลหาดพันไกร ตำบลบางลึก และตำบลถ้ำสิงห์) 2.อำเภอสวี (ยกเว้นตำบลเขาทะลุ และตำบลเขาค่าย)

พรรคประชาธิปัตย์-แชมป์เก่า ส่ง “อิสรพงษ์ มากอำไพ” หลานภรรยาของ “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส เจ้าของเก้าอี้เดิม และเป็นอดีตเลขานุการของ “นพพร อุสิทธิ์” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ชุมพร ซึ่งนายนพพรคือพี่เขยของลูกหมี

คะแนนของ “อิสรพงษ์” จะมาจาก “พลังชุมพร” เป็นกอบเป็นกำ

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเดิมพันสูง-แพ้ไม่ได้ ส่ง “ทนายแดง” ชวลิต อาจหาญ อดีต ส.ส.สอบตก-คะแนนอันดับ 2 จำนวน 32,219 คะแนน เมื่อคราวการเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม 2562

หลังจากได้ “ศิริศักดิ์ อ่อนละมัย” อดีต ส.ส.ชุมพรหลายสมัยที่ย้ายขั้วมาจากพรรคประชาธิปัตย์ และไม่ได้มาตัวเปล่า กำคะแนนของทีม “ชุมพรต้องเดินหน้า” มาใส่คูหา-หีบเลือกตั้งด้วย

สงขลา เขต 6 ผู้แทนฯถาวร

เลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา เขต 6-มีท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ดังนี้ 1.อำเภอหาดใหญ่ (เฉพาะตำบลพะตง ตำบลบ้านไร่ และตำบลบ้านพรุ) 2.อำเภอคลองหอยโข่ง 3.อำเภอสะเดา (ยกเว้นตำบลสำนักแต้ว และตำบลสำนักขาม)

พรรคประชาธิปัตย์-เจ้าของเก้าอี้เดิม ส่ง “สุภาพร กำเนิดผล” อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ภรรยา “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา รองหัวหน้าพรรค รับผิดชอบภาคใต้ “ป้ายแดง” หลังสร้างผลงาน “รักษาแชมป์” ให้ได้

พรรคพลังประชารัฐ ส่ง “อนุกูล พฤกษานุศักดิ์” หรือ “โบ๊ต” กรรมการบริหาร และ Price Strategist บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) ลูกของ “หัวคะแนนเก่า” นายถาวร

“ในเขตเลือกตั้ง ผม น้อง ๆ ทั้งสองฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ก็มีผู้สมัครที่เสนอตัวผ่านกระบวนการของพรรคแล้ว พรรคพลังประชารัฐก็เป็นลูกของหัวคะแนนเก่าผม ลูกของคุณอนันต์ ก็รักกัน เคารพกัน รักใคร่ชอบพอกันทั้งครอบครัว” นายถาวรกล่าว

เลือกตั้งซ่อม ส.ส.-ผู้แทนฯ ถาวร เสนเนียม หลังเปิดบ้าน “ยกมือ” ให้ออกมาเสมอ-ชนะทั้งคู่ ไม่ว่าพลังประชารัฐ หรือ ประชาธิปัตย์ ใครจะชนะต้องเป็น “ผู้แทนฯถาวร”

พรรคน้องใหม่-ไม้ประดับ

ขณะที่พรรคน้องใหม่-พรรคไม้ประดับที่จะลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 พรรคก้าวไกลส่ง “วรพล อนันตศักดิ์” หรือ “โอ๊ต” เด็กหนุ่มวัย 25 ปี พรรคก้าวไกล อาชีพไรเดอร์ ยังศึกษาระดับปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นนักกิจกรรมและเลขาธิการเครือข่ายปกป้องสิทธิและเสรีภาพนักเรียนนักศึกษา

แต่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล้าประกาศขอเปลี่ยนภาคใต้ให้เป็น “สีส้ม” พร้อมออกแรงเชียร์ว่า “เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ อดีตไรเดอร์ ตัวแทนแรงงาน เข้าใจเศรษฐกิจแห่งอนาคต เข้าใจตลาดแรงงานรูปแบบใหม่ ๆ เข้ามาเป็นผู้แทนฯของชุมพร เขต 1 เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ปลดปล่อยศักยภาพของชุมพรเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้เสียทีหนึ่ง”

พรรคกล้าส่ง “ผู้กำกับหนุ่ย” พ.ต.อ.ทศพล โชติคุตร์ “อดีตตำรวจติดตาม” นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ในช่วงที่ “กรณ์” เป็น รมว.คลัง แต่ต้องขวัญเสียไม่น้อยเมื่อถูกมือมืดยิงใส่รถหาเสียง กระทั่ง “หัวหน้ากรณ์” ออกมาวิจารณ์เดือดว่า “หมาลอบกัด ไม่ใช่การเมืองสร้างสรรค์ เป็นแนวการเมืองตกยุค ทุกอย่างอยู่ที่ประชาชนตัดสิน” ในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจก็รวบตัวได้

พรรคเต้-พระราม 7 ไทยศรีวิไลย์ส่ง “หมวดสมชาย, ร.ต.ท.สมชาย แพ่งยงยุทธ ข้าราชการตำรวจบำนาญ อายุ 65 ปี เกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองสารวัตรฝ่ายอำนวยการ ภ.จว.ชุมพร

เลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา เขต 6 พรรคกล้า ส่ง นายพงศธร สุวรรณรักษา หรือ “ทนายอาร์ม” ทนายความด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน

พรรคก้าวไกลส่ง “ธิวัชร์ ดำแก้ว” อดีตผู้ช่วย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นกรรมการบริหาร สนนท.ในปี 2552 ก่อนหน้านี้นายธิวัชร์ยังเคยเป็นนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการที่ดินฯ สภาผู้แทนราษฎร

แม้ว่าต้องเจอคู่แข่งสุดแกร่งในพื้นที่ ไม่ว่าจากพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคพลังประชารัฐ ทว่า “ธิวัชร์” ถือเป็น “มือขวา” ของพิธา

รู้งานการเมืองในสภา หัวหน้าพรรคก้าวไกลจึงตั้งความหวังไว้ไม่น้อยถึงขั้นไปหาเสียงในค่ายที่กองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายรัตนพล ปรับความเข้าใจคนในกองทัพให้แบ่งคะแนนก้าวไกล

ศึกศักดิ์ศรี ผอ.เลือกตั้ง

หากการเลือกตั้งซ่อมทั้ง 3 เขตเป็นช้างชนช้าง ระหว่างผู้เล่น-ผู้สมัคร ผอ.การเลือกตั้ง ก็เปรียบได้กับ “ศึกแห่งศักดิ์ศรี” เพราะมีแกนนำระดับขุนพลภาค-คีย์แมนของแต่ละพรรคถือธงรบ-กุมบังเหียนเป็นแม่ทัพสมรภูมิเลือกตั้งซ่อม

เลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 ชุมพร พรรคพลังประชารัฐ มี “สันติ พร้อมพัฒน์” ผู้อำนวยการพรรคเป็น “หัวเรือใหญ่” พรรคประชาธิปัตย์-พรรคที่ผูกขาดความเป็น “พรรคคนใต้” ส่ง “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ขุนพลปักษ์ใต้คุมทัพ

เลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 6 สงขลา พรรคพลังประชารัฐ ส่ง “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น แม่ทัพภาคตะวันออกมาสู้ศึกต่างถิ่น-ต่างแดน พรรคประชาธิปัตย์ได้รองหัวหน้าภาคใต้ “ป้ายแดง” เดชอิศม์ มาประเดิมชัย

ประวิตร ลงพื้นที่ แผ่พลังป้อม

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐทั้ง จ.ชุมพร และ จ.สงขลา มีสิ่งที่พรรคอื่นไม่มีนั่นคือ ส่วนผสมที่ชื่อว่า “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ใช้เวลา “นอกเวลาราชการ” ลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครหาเสียง

แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์คู่ตัด-คู่เดือดใน 2 จังหวัด ชุมพร-สงขลาของพรรคพลังประชารัฐ มี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นหัวหน้าพรรค หากวัดบารมี “พล.อ.ประวิตร” ณ วันนี้กับ “จุรินทร์” บวกกับ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รมว.เกษตรฯ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเสียเปรียบ

เพราะพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในภาวะ “พรรคแตก” ถ่ายเลือดเก่าสู่เลือดใหม่ คนที่คุมฐานการเมืองย้ายสำมะโนครัวไปช่วยพรรคพลังประชารัฐหาเสียง

ที่สนามเลือกตั้งซ่อมชุมพร พล.อ.ประวิตรขึ้นเวที 7 วันก่อนเลือกตั้ง สวมเสื้อพรรคพลังประชารัฐให้กับ “นายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย” อดีต ส.ส.ชุมพร 6 สมัย พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นคนที่พา “ชวลิต อาจหาญ” ก่อนจะลงเอยได้เป็นผู้สมัคร ส.ส.พร้อมกับกล่าวว่า

“พรรคพลังประชารัฐเข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ช่วยเหลือแก้ปัญหาปลดหนี้ให้กับประชาชน ทั้งโครงการคนละครึ่ง บัตรประชารัฐ สวัสดิการแห่งรัฐ จึงขอให้มั่นใจพรรคพลังประชารัฐ และเลือกเบอร์ ‘ทนายแดง’ เป็น ส.ส.เขต 1 เพื่อดูแลพี่น้องประชาชน”

จากนั้น “พล.อ.ประวิตร” ลงพื้นที่ปราศรัยที่เขตเลือกตั้งซ่อมสงขลา ทั้งวันที่ 10 มกราคม 2565 และปราศรัยย้ำอีกครั้งก่อนถึงวันหย่อนบัตรในวันที่ 14 มกราคม 2565

กังขาบิ๊กป้อมช่วยหาเสียง

ขณะที่การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตรถูกจับจ้องจากพรรคการเมืองคู่แข่งว่าใช้อิทธิพลการเป็นรองนายกฯพี่ใหญ่ในรัฐบาล ทำให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบคู่แข่งขันหรือไม่

“ราเมศ รัตนะเชวง” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประสานงานส่วนกลางกล่าวว่า ในการเลือกตั้งซ่อมเขต 6 สงขลาขณะนี้มีความกังวลในส่วนของอำนาจรัฐที่เข้ามาก้าวล่วงการเลือกตั้งในครั้งนี้

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดควรออกคำสั่งกำชับห้ามปรามให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องถอยห่างออกไป ให้กับ กกต. ดังนั้น เจ้าหน้าที่ควรวางตัวเป็นกลาง ไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบในอีกหลายส่วน ในฐานะเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งส่วนกลาง ได้สั่งการให้ทั้งสองเขตเลือกตั้งทั้งที่ จ.ชุมพร และสงขลาจับตาและเก็บข้อมูลทุกกรณีที่เกิดจากความไม่เป็นกลางของอำนาจรัฐ

น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เกรงว่าการมาของรองนายกฯจะมีการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องโดยมิชอบ หรือจะไปใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของข้าราชการในพื้นที่เพื่อแสวงหาความนิยมให้ตนเองผ่านเครือข่ายข้าราชการหรือไม่

“อยากฝากให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ติดตามการลงพื้นที่ดังกล่าวของ พล.อ.ประวิตรอย่างใกล้ชิด อาจเป็นการช่วยรณรงค์หาเสียงหรือไม่”

ด้านพรรคพลังประชารัฐชี้แจงว่า การเดินทางไปร่วมหาเสียงเลือกตั้งให้กับนายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 6 สงขลา ยืนยันว่าเป็นการใช้เวลาหลังราชการแล้วเท่านั้น

“การลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดภาคใต้ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคว่า การลงพื้นที่ตรวจราชการทุกจังหวัดที่ผ่านมา เพื่อติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนงานด้านการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามปกติ ซึ่งมีการวางแผนและตารางงานล่วงหน้านานแล้ว”

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งซ่อมสงขลา-ชุมพร เดือดยิ่งกว่าเดือด