ฤดูซื้อ-ขาย ส.ส. เจอ จ่าย จบ

คอลัมน์ : สามัญสำนึก 
ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง

ยอด ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร กับยอด ส.ส.ของแต่ละพรรค หากนับสถานะ ตอนนี้ 1 คนอาจมี 4 สถานภาพ

สถานภาพแรก เป็น ส.ส.สังกัดพรรค ที่ได้รับเลือกตั้ง

สถานภาพที่สอง เป็น ส.ส.ฝากเลี้ยง ให้อยู่พรรคเดิม แต่ลงมติให้กับพรรคที่คาดว่าจะไปสังกัดใหม่สมัยเลือกตั้งครั้งหน้า

สถานภาพที่สาม เป็น ส.ส.รับจ้างทั่วไป คือสังกัดพรรคที่ได้รับเลือกตั้ง แต่การโหวตกฎหมายสำคัญ การอภิปรายทั่วไป ไม่ได้เป็นไปตามทิศทางพรรคตัวเองสังกัด แต่ขึ้นอยู่กับว่าขั้วไหน ให้ค่าตอบแทนอย่างไร

สถานภาพที่สี่ มี ส.ส. 21 เสียง ที่ก้ำกึ่งว่ายังอยู่ในฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน เพราะถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ทั้งแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) และแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และแกนนำภูมิใจไทย (ภท.) ต่างฝ่ายต่างเคลม ว่ารับฝากเลี้ยง ส.ส.ไว้ในมือพรรคละไม่น้อยกว่า 10 เสียง เพื่อไว้ใช้เป็นอะไหล่ในการลงมติเรื่องสำคัญ และเป็นฐานกำลัง ส.ส.ในสมัยเลือกตั้งครั้งหน้า

แกนนำตัวจริง เสียงจริง ในเพื่อไทย บอกว่า ตอนนี้รับโอน ส.ส.เก่าที่เคยออกไปอยู่พรรคอื่น รวมทั้งกลุ่มที่จะตั้งพรรคใหม่ กลับเข้าพรรคไว้หลายคน มีทั้งสถานภาพ “ฝากเลี้ยง-ตกเขียว” และที่กลับมาสมัครเป็นสมาชิกแล้ว

บางกลุ่มก้อนจะตัดสินใจหลังกฎหมายลูก-กติกาเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ในช่วงกลางปี 2565

แน่นอนว่า “ราคา-ค่างวด” ย่อมผกผัน ตามเวลาที่เข้าสังกัดพรรค 2 ระดับ ทั้งก่อนและหลังกฎหมายลูก มีผลบังคับใช้

ก่อนที่ ทักษิณ ชินวัตร ผู้มีอำนาจนำ ในเพื่อไทย จะมั่นใจคิกออฟแคมเปญ ชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ ไม่มีใครกล้าออกจากพรรค เพราะได้รับรายงานข้อมูลลึกแต่ไม่ลับ จากขุนพลการเมือง ที่รายงานเป็นรูปธรรมล่วงหน้า

ข้อมูลชุดดังกล่าวระบุว่า มีนักการเมืองรุ่นเก๋าเกม-นักธุรกิจรุ่นใหม่ เตรียมยาตราเข้าพรรคเพื่อไทย ลอตละ 10 คน มีคุณสมบัติครบเครื่อง แบบพร้อมชงดื่มทันที “ฐานเสียงดี-มีชื่อเสียง-เด่นดัง และมีเงินดูแลตัวเองได้”

หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองเพิ่ม รัฐบาลอยู่ครบวาระ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นราวกลางปี 2566 หรือจากนี้ไปอีกประมาณ 15 เดือนนับจากนี้

ผู้มีบารมีในเพื่อไทย จึงถีบ-ถอย นับแต้มการเมือง ตามยุทธศาสตร์ 2 ขา คือ ทางหนึ่งส่ง ส.ส.แกนนำขย่ม-เขย่ารัฐบาลทั้งใน-นอกสภาผู้แทนฯ จี้จุดตายเรื่องปัญหาปากท้องประชาชน และความด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาลกึ่งทหารกึ่งพลเรือน

ทางหนึ่งก็รู้ดีว่า ยากที่จะผลักให้รัฐบาลล้ม ถอย-ลาออก หรือยุบสภา เพราะเครือข่ายอำนาจทุกองคาพยพในและเหนือรัฐบาล ยังไม่ต้องการเปลี่ยนตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเป็นอื่น เพราะมีงานสำคัญช่วงเปลี่ยนผ่านหลายวาระ

ทางหนึ่งในฐานะอดีตรัฐบาลต่อเนื่อง 2 สมัย (ยุคไทยรักไทย) ย่อมเข้าใจได้ว่า รัฐบาล “ประยุทธ์” ต้องอยู่ต่อเพื่อจัดงานสำคัญของรัฐบาลไทย ในช่วงปลายปี 2565 คือการเป็นเจ้าภาพประชุม APEC

สนามการเมืองช่วงปี 2565 ไปถึงวันเลือกตั้ง จึงเป็นการแข่งกันเพียง 3 พรรคเท่านั้น

ยืนหนึ่ง คือ พรรคเพื่อไทย ที่ได้ไพร่พล ทุกระดับ เข้าบัญชี ส.ส.ทั้งระบบเขต และระบบปาร์ตี้ลิสต์ มีตัวเลือกล้นหลาม

ยืนเด่น คือ พรรคภูมิใจไทย ที่มีจำนวน ส.ส.ในฝ่ายรัฐบาลเป็นอันดับ 2 และมี ส.ส.ตกเขียวในสภาจากพรรคอื่น ไม่น้อยหน้ากว่า 10 คน

ยืนหยัด คือ พรรคพลังประชารัฐ แม้มีการรัฐประหารพรรคตัวเอง ขับสมาชิกพรรคออก แต่ปรานีให้ดำรงสถานภาพ ส.ส.ต่อไป แกนนำรุกรบทั้งใต้ดิน บนดิน เน้นเป้าหมายได้จำนวน ส.ส.ลงมติเรื่องสำคัญ รับประกัน “เจอ-จ่าย-จบ”

ยืนเดี่ยว-ยืนเสี่ยง คือ พรรคก้าวไกล แม้ชัดเจนที่สุดในฝ่ายประชาธิปไตย แต่เข้ากับพรรคการเมืองใหญ่ได้ยาก เสี่ยงทั้งคดียุบพรรค-คดีความมั่นคง

ยืนระยะเป็นพระรอง ต้องพรรคประชาธิปัตย์ ผลงานที่ผ่านมา ยากที่จะกลับมายืนในลู่พรรคขนาดใหญ่ ต้องลดระดับลงไปแข่งกับพรรคเกิดใหม่ และพรรคขนาดกลาง

กลุ่มพรรคเกิดใหม่ ต้องหาเพื่อนยากในพรรคใหญ่ ทั้งพรรคเจ๊หน่อย พรรคกรณ์ พรรค 4 กุมาร ต้องหาท่อทุนหนา เพราะต้องจ่ายหลักประกันถ้วนหน้า วิ่งมาราธอนจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้งใหญ่