ฝ่ายค้าน ยื่นอภิปรายประยุทธ์ ถล่มปมของแพง – โรคระบาด

ฝ่ายค้าน ยื่นอภิปรายประยุทธ์ ถล่มปมของแพง – โรคระบาด

6 พรรคฝ่ายค้าน ขอเวลา 36 ชั่วโมง เปิดอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ ถล่ม 4 ปมวิกฤต ของแพงทั้งแผ่นดิน โรคระบาด วิกฤตการเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อม

วันที่ 21 มกราคม 2565 ที่รัฐสภา พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ นายชวนกล่าวว่า ได้หารือภายในเมื่อวันพุธที่ 19 มกราคม 2565 เป็นการภายในแล้วว่า ญัตติดังกล่าวจะมีการอภิปรายช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนระยะเวลาที่จะใช้ในการอภิปราย ให้ตัวแทนผู้ควบคุมเสียงของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้หารือกันต่อไป

ญัตติตามมาตรา 152 ทำได้ปีละ 1 ครั้ง เป็นการเสนอเพื่อสอบถามและให้คำแนะนำรัฐบาล แต่ไม่ถึงขั้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เวลาปฏิบัติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ได้คุยกับผู้นำฝ่ายค้านว่าเราจะรักษามาตรฐานสภา จะนำญัตติดังกล่าวไปตรวจสอบรายชื่อตามวิธีการของสภาให้ถูกต้องตามข้อบังคับ

นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นญัตติที่มีสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมด 173 รายชื่อ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ประเด็นที่นำไปสู่การอภิปรายมี 4 เรื่องใหญ่

  1. วิกฤตเศรษฐกิจในยุคข้าวของแพง ค่าแรงถูก แพงทั้งแผ่นดิน
  2. วิกฤตโรคระบาดทั้งโควิด-19 และโรคระบาด ASF
  3. วิกฤตการเมือง ยุคปฏิรูปการเมืองที่ล้มเหลว ใช้เงินเป็นหลัก
  4. วิกฤตล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ไร้ประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดปัญหามากมาย

เช่น ปัญหายาเสพติด ทุจริต สิ่งแวดล้อมฝุ่นพิษ การบริหารราชการแผ่นดินที่ทำให้ประเทศชาติเสียโอกาส ในการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ รถไฟไทยลาว มีผลกระทบกับเราอย่างไร การประชุมเอเปก เราได้ เราเสียประโยชน์อย่างไร กรอบการอภิปรายในครั้งนี้ ขอเวลาไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมง วันที่เหมาะสมที่สุดคงเป็นหลังวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์


“การเปิดอภิปรายครั้งนี้ โดยกระบวนการยากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสภาได้ แต่สาระที่เรานำเสนอคือข้อเท็จจริงโดยตรงต่อประชาชนผ่านสภา เพื่อให้ประชาชนเห็นข้อเท็จจริงเกิดขึ้น ทำให้เกิดปัญหากับประเทศชาติ ทำให้เกิดความเดือดร้อน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อรัฐบาลจากการกดดันของภาคประชาชน ที่เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากทุก ๆ กลุ่ม ทุก ๆ อาชีพ คิดว่ารัฐบาลจะรับฟังเสียงของเราในสภา และเสียงของประชาชน ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีรัฐบาลน่าจะรับฟัง เพราะตัวรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีคือตัวปัญหาสำคัญที่สุด” นพ.ชลน่านกล่าว