เปิดโพลลับเพื่อไทย เจาะยุทธวิธีปักธง ชนะเลือกตั้งหลักสี่ จตุจักร

เปิดยุทธศาสตร์เพื่อไทยชนะเลือกตั้งซ่อมหลักสี่

แกนนำพรรคเพื่อไทยวิเคราะห์ เก็งข้อสอบคู่แข่งในช่วงโค้งสุดท้าย คู่ขนานการทำโพลซึ่งเป็นเคล็ดวิชาเลือกตั้ง ที่เป็นจุดแข็งที่สุดของพรรคเพื่อไทย ได้ตัวเลขกลม ๆ ว่าผู้สมัครต้องได้คะแนนราว 3 หมื่น จึงจะบรรลุชัยชนะ

คู่แข่งที่เพื่อไทยตั้งเป็นโจทย์ในการเข้าจู่โจม ช่วง 1 สัปดาห์สุดท้ายคือ พรรคกล้า และพรรคก้าวไกล ส่วนพลังประชารัฐ แกนนำเพื่อไทยไม่ได้กล่าวถึง

ทีมยุทธศาสตร์เลือกตั้ง ชุดแข่งไทยรักไทย ใช้ตำราเก่า ที่เคยชนะแลนสไลด์ กางแผนที่คู่แข่ง ตัวเก็ง อย่างอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคกล้า ที่เคยเป็นแชมป์เขตจตุจักร พร้อมนำคะแนนเก่าของผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2562 มาตั้ง แล้วคำนวณ ผนวกกับผลโพลลับของพรรค ได้บรรทัดสุดท้าย ตัวเลข 2.5 หมื่น++

ส่วนพรรคก้าวไกล แกนนำเพื่อไทยวิเคราะห์ว่า ไม่ใช่คู่แข่งทางตรง และกระแสไม่เหมือนยุคพรรคอนาคตใหม่ คะแนนเก่าที่ได้ 1.6 หมื่น จึงคิดว่า เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ น่าจะไม่น่าขึ้นมาเบียด พรรคอันดับหนึ่ง

ข้อวิเคราะห์ และยุทธศาสตร์เพื่อไทย จึงถูกแปลงเป็นแคมเปญ และเวทีหาปราศรัยโค้งสุดท้าย โกยคะแนนเก่า และคะแนนใหม่ เจาะทะลวงฐานเสียงเก่าของ 2 พรรคคู่แข่ง เป็นหลัก

เพราะข้อคาดการณ์ของเพื่อไทยคือ ถ้ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่า 60% เพื่อไทยมีสิทธิชนะ แต่ถ้าผู้มาเลือกตั้งน้อย อาจเสี่ยงพ่ายแพ้ แต่เกมนี้ เพื่อไทยจะแพ้ไม่ได้ จึงวางยุทธศาสตร์สุดท้าย ตีขนาบด้วยการ “เคาะประตูบ้านมีรั้ว” ที่เป็นฐานเสียงเก่าของประชาธิปัตย์

หนึ่งในข้อสมมุติฐานของฝ่ายเพื่อไทย ที่พูดถึงพรรคที่เคยชนะคือ “ถ้าหากจะใช้เงินมาบริหารจัดการเรื่องการเลือกตั้ง เช่น ฐานคะแนนของผู้ชนะเคยอยู่ที่ 3 หมื่นคะแนน ถ้าต้องจ่ายมากกว่า 2 เท่า คือ 7 หมื่นคะแนน เพื่อการันตีว่าจะได้ชนะเลือกตั้ง แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะหากลุ่มที่เป็นฐานคะแนน 3 หมื่นเสียง ในภาวะแพแตกจะมาบริหารจัดการได้หรือไม่”

ดังนั้น ทันทีที่ปิดหีบเลือกตั้ง 30 มกราคม 2565 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงชิงธงบอกสาธารณะทันทีว่า ผู้มาใช้สิทธิน้อย หวั่นว่าจะแพ้คะแนนจัดตั้ง

ก่อนหน้านั้นนักจัดการเลือกตั้งเพื่อไทยตั้งวงวิเคราะห์สถานการณ์กันว่า การเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร ต้องปักธงความคิดเรื่อง “จุดยืนทางการเมือง” มากกว่าเรื่องการช่วยเหลือปัญหาความเดือดร้อนทางการเงิน การดำรงชีพ

การออกสตาร์ตหาเสียง 20 วัน จึงถูกแบ่งเป็น 10 วันแรก ให้สุรชาติ เทียนทอง เปิดฉากด้วยแคมเปญ ที่ตอกย้ำพฤติกรรมการทำงานการเมืองในเขตหลักสี่ตลอด 15 ปี คือ “เลือกคนทำงาน เพื่อคืนศักดิ์ศรีคนหลักสี่-จตุจักร”

โดยมีรูปธรรมผ่านการขึ้นป้ายแนะนำผู้สมัคร ใช้ทีมงานชุดเดิมทุกวัน เดินเคาะประตูบ้านตามหมู่บ้าน-ชุมชนบุกไปหาเสียงในค่ายทหาร ขึ้นรถแห่เช้า-เย็น ระดมผู้บริหารและ ส.ส. ของพรรคลงพื้นที่ และเปิดปราศรัยจุดย่อย จุดใหญ่

ปักธงซ้ำ ๆ ที่จุดชุมชนฐานเสียงบ้านไม่มีรั้ว ที่เคยเป็นจุดแข็งของฝ่ายเพื่อไทย คือ ย่านทุ่งสองห้อง ท่าทราย และเปิดเวทีปราศรัยในจุดที่คู่แข่งได้ชัย คือ ลานกีฬาชุมชนเสนานิคม 2 เขตจตุจักร

จากนั้น 10 วันสุดท้าย เปิดแคมเปญ ที่แสดงจุดยืนทางการเมือง ด้วยคีย์เวิร์ด ที่จงใจเบียดคะแนนจากพรรคก้าวไกลและจู่โจมจุดแข็งของพลังประชารัฐ  คือ “เลือกเพื่อไทย เลือกให้ชนะขนาด เลือกสุรชาติ เทียนทอง” และขยายความคิดในโซเชียลมีเดีย ด้วยธง “การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์”

ตอกย้ำด้วยแคมเปญการเลือกตั้งระดับชาติครั้งต่อไป คือ เพื่อไทยต้องชนะแบบหิมะถล่ม หรือแลนดสไลด์ ต้องเริ่มปูพรมจากการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ จตุจักร ให้เป็นรูปธรรม

ผลการเลือกตั้งซ่อมในกรุงเทพมหานคร เสมือนเป็นการซ้อมเลือกตั้งใหญ่ ของเพื่อไทย จึงได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ แม้จะไม่มากเท่ากับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562

แต่ผลการลงคะแนน ที่โหวตให้ฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งเพื่อไทย 29,416 คะแนน + ก้าวไกล 20,301 คะแนน รวม 49,717 คะแนน ขณะที่คะแนนฝ่ายที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 3 พรรค มีเพียง 32,940 คะแนน  มาจากพลังประชารัฐ 7,906 คะแนน + พรรคกล้า 20,047 คะแนน และพรรคไทยภักดี 5,987 คะแนน

ผลการเลือกตั้งซ่อม 3 ครั้ง 3 จังหวัดในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ แพ้หมด 3 เขตรวด นี่ย่อมเป็นเหตุให้ฝ่ายยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย สรุปได้ว่าในทางการเมือง  “หมดเวลาของ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว”

แต่คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต มีโจทย์ข้อใหญ่ เกมสำคัญ ที่พรรคเพื่อไทยต้องตีให้แตก และต้องหาทางแทงให้ทะลุ ในการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งใหญ่ คือ ทำอย่างไร ให้ชนะแลนด์สไลด์ และได้ไฟเขียวในการ “จัดตั้งรัฐบาล”