“ประยุทธ์” ทิ้งทวนงบปี’66 แบ่งเค้ก 3.185 ล้านล้าน แจกพรรครัฐบาล

งบกองทัพ-องค์กรอิสระ ปี 66 1 ทศวรรษกลาโหม ยุคบิ๊กตู่ อู้ฟู่ 2 ล้านล้าน
รายงานพิเศษ

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่ช่วง 1 ปีสุดท้าย อาจยุบสภา หลังจากเป็นเจ้าภาพงานเอเปก พฤศจิกายน 2565 หรือครบวาระ ต้นปี 2566

ว่ากันว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินกว่า 3.185 ล้านล้านบาท จะเป็นการแบ่งเค้กครั้งสุดท้าย-ทิ้งทวนการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล รวม 34 รัฐมนตรี 5 พรรคร่วมรัฐบาล-โควตาทำเนียบ

งบฯฉุกเฉิน บิ๊กตู่ 9.2 หมื่นล้าน

“พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะ “หัวหน้ารัฐบาล” budget เป็น “เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น” ตุนไว้ในกระเป๋า จำนวน 92,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี’65 จำนวน 3,400 ล้านบาท

นับรวมกับ “งบฯบัตรคนจน” กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จำนวน 35,514,624,900 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงบฯปี’65 ถึง 5,514,624,900 บาท

ขณะที่หมวกอีกใบ-กระทรวงกลาโหม จำนวน 197,292 ล้านบาท ลดลง 4,373 ล้านบาท เมื่อเจาะเข้าไปข้างใน พบว่า สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้รับงบประมาณจำนวน 9,238,289,200 บาท เพิ่มขึ้นจากปี’65 จำนวน 86,081,700 บาท

กองทัพบก จำนวน 96,573,434,700 บาท ลดลง 3,039,526,600 บาท กองทัพเรือ จำนวน 40,322,525,100 บาท เพิ่มขึ้น 115,331,600 บาท กองทัพอากาศ จำนวน 36,112,928,100 บาท ลดลง 1,681,616,600 บาท

กองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 14,540,953,400 บาท เพิ่มขึ้น 57,157,400 บาท สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 504,601,500 บาท เพิ่มขึ้น 88,883,500 บาท

ขณะที่ “รัฐมนตรีโควตากลาง” พี่รอง 3 ป.-บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กระทรวงมหาดไทย จำนวน 325,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,065 ล้านบาท

กระทรวงการคลังที่มี “ขุนคลัง” อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้รับงบประมาณ จำนวน 285,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,627 ล้านบาท

กระทรวงการต่างประเทศ ของ “ดอน ปรมัตถ์วินัย” จำนวน 7,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 150 ล้านบาท กระทรวงพลังงาน ที่มี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เป็นเจ้ากระทรวง จำนวน 2,707 ล้านบาท ลดลง 48,700 บาท

10กระทรวง

พลังประชารัฐ เบี้ยน้อยหอยน้อย

สำหรับ “รัฐมนตรีสายตรงประยุทธ์” ได้รับงบประมาณ “เพิ่มขึ้น” ได้แก่ กระทรวงแรงงาน ของ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น ได้รับงบประมาณ จำนวน 54,338 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,636 ล้านบาท

รวมถึง “รัฐมนตรีสายสามมิตร” อย่าง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” กระทรวงยุติธรรม จำนวน 24,693 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 690 ล้านบาท “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 4,490 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 149 ล้านบาท

ขณะที่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรค แม้จะไม่ได้นั่งเก้าอี้ว่าการ แต่ก็ถือว่าคุมทุกกระทรวงในสังกัด

และมี 3 กระทรวงที่ถูก “หั่น” ลดงบประมาณ คือ “โอ๋เล็ก” ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 6,822 ล้านบาท ลดลงจากปี’65 จำนวน 3.1 ล้านบาท

“อิทธิพล คุณปลื้ม” กระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 6,748 ล้านบาท ลดลง 245 ล้านบาท “ตรีนุช เทียนทอง” กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 325,900 ล้านบาท ลดลง 4,526 ล้านบาท

ส่วน “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” รมช.คมนาคม กำกับกรมเจ้าท่า จำนวน 4,732,462,500 บาท เพิ่มขึ้น 154,525,800 บาท พลังประชารัฐจึงเป็น “พรรคแกนนำรัฐบาล” ที่ “เบี้ยน้อยหอยน้อย” ที่สุด

ภท.คุมหมอ-รับเหมาบิ๊กโปรเจ็กต์

พรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค คุมกระทรวงสาธารณสุขได้รับ 156,408 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี’65 จำนวน 2,379 ล้านบาท

ยังมี “งบฯบัตรทอง” จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 142,297,936,700 บาท เพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงบฯปี’65 จำนวน 1,747,742,700 บาท

“โอ๋ใหญ่” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค “รับเหมา” กระทรวงโปรเจ็กต์คมนาคม จำนวน 180,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,337 ล้านบาท

ขณะที่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 5,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 237 ล้านบาท

ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการ-แชร์งบประมาณกับพรรคร่วมรัฐบาล “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รมช.เกษตรและสหกรณ์ กำกับกรมวิชาการเกษตร ได้รับงบฯปี’66 จำนวน 3,068,502,800 บาท ลดลงจากปี’65 จำนวน 3,594,100 บาท

กรมส่งเสริมสหกรณ์ 2,586,889,400 บาท ลดลง 5,006,600 บาท กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จำนวน 1,222,666,100 บาท เพิ่มขึ้น 4,999,500 บาท

“ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย คุมกรมการพัฒนาชุมชน ได้ 5,016,712,500 บาท เพิ่มขึ้น 13,041,500 บาท กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ 34,837,609,100 บาท เพิ่มขึ้น 3,455,185,100 บาท การประปาส่วนภูมิภาค ได้ 3,018,555,700 บาท เพิ่มขึ้น 68,079,800 บาท

ประชาธิปัตย์ขึ้นหม้อ

พรรคประชาธิปัตย์ ของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” นั่งหน้าร้านกระทรวงพาณิชย์ ได้รับงบฯปี’66 จำนวน 6,489 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี’65 จำนวน 144 ล้านบาท

ขณะที่ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เจ้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 126,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,214 ล้านบาท เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณ “เพิ่มมากที่สุด”

จุติ ไกรฤกษ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 24,626 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 ล้านบาท

“โควตารัฐมนตรีช่วยว่าการ” นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย กำกับกรมที่ดิน 6,597,816,500 บาท เพิ่มขึ้น 83,315,700 บาท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 4,782,895,800 บาท เพิ่มขึ้น 129,275,200 บาท

การประปานครหลวง จำนวน 41,865,000 บาท เท่ากับงบฯปี’65 องค์การจัดการน้ำเสีย จำนวน 747,394,100 บาท เพิ่มขึ้น 2,288,700 บาท

“สาธิต ปิตุเตชะ” รมช.สาธารณสุข กำกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 13,142,989,100 บาท เพิ่มขึ้น 2,143,700 บาท กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 302,140,000 บาท เพิ่มขึ้น 23,705,700 บาท

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 1,283,602,700 บาท เพิ่มขึ้น 44,481,800 บาท สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 901,463,500 บาท ลดลง 6,569,600 บาท

“คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” รมช.ศึกษาธิการ กำกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จำนวน 168,051,200 บาท ลดลง 435,900 บาท สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ จำนวน 478,581,600 บาท ลดลง 3,010,900 บาท

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา จำนวน 108,920,900 บาท เพิ่มขึ้น 9,468,600 บาท สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 1,693,502,100 บาท เพิ่มขึ้น 381,286,500 บาท โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จำนวน 212,953,300 บาท ลดลง 37,590,300 บาท

พรรคลุงกำนันกินนิ่ม

พรรคชาติไทยพัฒนา มี “ท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา คุมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับงบ จำนวน 30,638 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบฯปี’65 จำนวน 2,527 ล้านบาท

“ประภัตร โพธสุธน” รมช.เกษตรและสหกรณ์ กำกับกรมปศุสัตว์ จำนวน 5,230,307,000 บาท เพิ่มขึ้น 50,996,900 บาท กรมการข้าว จำนวน 17,343,325,400 บาท เพิ่มขึ้น 15,305,439,400 บาท

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ จำนวน 226,556,500 บาท เพิ่มขึ้น 3,086,600 บาท องค์การสะพานปลา จำนวน 15,000,000 บาท

“พรรคลุงกำนัน” รวมพลังประชาชาติไทย ที่มี “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” นั่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 124,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,301 ล้านบาท

10 อันดับกระทรวงรับงบฯสูงสุด

หากจัดอันดับกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงที่สุด 10 อันดับ ดังนี้ อันดับ 1 งบฯกลาง (12 รายการ) 590,470 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบฯปี’65 จำนวน 3,060 ล้านบาท อันดับ 2 กระทรวงศึกษาธิการ 330,426 ล้านบาท ลดลงจากงบฯปี’65 จำนวน 4,526 ล้านบาท อันดับ 3 กระทรวงมหาดไทย 325,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,065 ล้านบาท อันดับ 4 กระทรวงการคลัง 285,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,627 ล้านบาท อันดับ 5 กระทรวงกลาโหม 197,292 ล้านบาท ลดลง 4,373 ล้านบาท

อันดับ 6 กระทรวงคมนาคม 180,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,337 ล้านบาท อันดับ 7 กระทรวงสาธารณสุข 156,408 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,379 ล้านบาท อันดับ 8 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 126,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,214 ล้านบาท อันดับ 9 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 124,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,301 ล้านบาท อันดับ 10 กระทรวงแรงงาน 54,338 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,636 ล้านบาท

10 อันดับได้รับงบฯน้อยที่สุด

ขณะที่ 10 อันดับที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด ได้แก่ อันดับ 1 กระทรวงพลังงาน 2,707 ล้านบาท ลดลง 48,700 บาท อันดับ 2 กระทรวงอุตสาหกรรม 4,490 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 149 ล้านบาท อันดับ 3 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 237 ล้านบาท อันดับ 4 กระทรวงพาณิชย์ 6,489 ล้านบาท ลดลง 144 ล้านบาท อันดับ 5 กระทรวงวัฒนธรรม 6,748 ล้านบาท ลดลง 245 ล้านบาท

อันดับ 6 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 6,822 ล้านบาท ลดลง 3 ล้านบาท อันดับ 7 กระทรวงการต่างประเทศ 7,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 150 ล้านบาท อันดับ 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 24,626 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 ล้านบาท อันดับ 9 กระทรวงยุติธรรม 24,693 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 690 ล้านบาท อันดับ 10 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 30,638 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,527 ล้านบาท

ส่วนกระทรวงที่ได้รับงบประมาณ “เพิ่มมากที่สุด” 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพิ่มขึ้น 16,214 ล้านบาท อันดับ 2 กระทรวงการคลัง เพิ่มขึ้น 11,627 ล้านบาท อันดับ 3 กระทรวงมหาดไทย เพิ่มขึ้น 10,065 ล้านบาท อันดับ 4 กระทรวงคมนาคม เพิ่มขึ้น 7,337 ล้านบาท และอันดับ 5 กระทรวงแรงงาน เพิ่มขึ้น 4,636 ล้านบาท

ปฏิทินงบฯปี’66-ลุ้นทำงบฯปี’67

หลังจากนี้สำนักงบประมาณจะพิจารณาการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณปี’66 ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วส่งไปรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ

ร่าง พ.ร.บ.งบฯปี’66 คาดว่าจะถูกส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา 1-2 มิถุนายน 2565 ในวาระที่ 1

วันที่ 17-18 สิงหาคม 2565 จะเข้าสู่วาระที่ 2 และวาระที่ 3 วันที่ 29-30 สิงหาคม 2565 วุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯปี’66

วันที่ 6 กันยายน 2565 นำขึ้นทูลเกล้าฯ

อย่างไรก็ตาม การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี’67 คาบเกี่ยวกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กับ “รัฐบาลใหม่”

ไม่แน่ว่า งบฯปี’66 อาจจะไม่ใช่การจัดทำงบประมาณ “ปีสุดท้าย” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นได้