ประยุทธ์ แถลง ยุทธศาสตร์ว่าด้วยโรคไม่ติดต่อ ชูพัฒนาอย่างยั่งยืน

ประยุทธ์ กล่าวถ้อยแถลงยุทธศาสตร์ว่าด้วยโรคไม่ติดต่อ ชูเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ย้ำแผนเตรียมความพร้อมด้านภัยฉุกเฉินทางสาธารณสุข

วันที่ 12 เมษายน 2565 เวลา 19.27 น. ตามเวลาประเทศไทย (หรือเท่ากับเวลา 12.27 น. ของกรุงอักกรา) ณ กรุงอักกรา สาธารณรัฐกานา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศว่าด้วยโรคไม่ติดต่อและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Strategic Dialogue Meeting on Non-Communicable Diseases (NCDs) and Sustainable Development Goals (SDGs)) ผ่านรูปแบบการประชุมแบบ hybrid โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของถ้อยแถลง ดังนี้

นายกรัฐมนตรีชื่นชมรัฐบาลกานา รัฐบาลนอร์เวย์ และองค์การอนามัยโลก ที่ริเริ่มจัดเวทีเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อครั้งนี้

โดยที่ผ่านมาไทยได้ดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงเป้าหมาย SDG 3.4 เรื่องการลดอัตราการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อลงหนึ่งในสาม และเป้าหมาย SDG 3.8 เรื่องการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายในปี 2573

“ไทยประสบความสำเร็จในการขยายการเข้าถึงบริการสุขภาพระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมประชากรมากกว่าร้อยละ 99.6 ตั้งแต่ปี 2564 มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ขณะเดียวกัน รัฐบาลกำหนดให้การแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเป็นวาระแห่งชาติ ร่วมมือกับทุกภาคส่วนกำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานในระดับชาติ กำหนดให้รายงานผลต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนด้านการส่งเสริมสุขภาพ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การบริการที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อมีข้อจำกัดและท้าทาย ซึ่งควรบรรจุเรื่องการป้องกันและรักษาโรคไม่ติดต่อในแผนการเตรียมความพร้อมภัยฉุกเฉินทางสาธารณสุขทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ

รวมทั้งเห็นว่า ระบบหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมและเข้มแข็งจะสนับสนุนการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ และส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ

พร้อมยืนยันคำมั่นที่จะปฏิบัติตามปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 3 ว่าด้วยการป้องกันและการควบคุมโรคไม่ติดต่อ เพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย SDG 3.4 และเป้าหมายอื่น ๆ ด้านสุขภาพเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

อนึ่ง การประชุมเชิงยุทธศาสตร์ฯ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าในการปฏิบัติตามปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 3 ว่าด้วยการป้องกันและการควบคุมโรคไม่ติดต่อ (Political declaration of the third high-level meeting of the General Assembly on the prevention and control of NCDs) ซึ่งผู้นำประเทศและรัฐบาลในภูมิภาคต่าง ๆ ได้เข้าร่วมกล่าวถ้อยแถลงดังกล่าวเพื่อเน้นย้ำประเด็นสุขภาพให้เป็นส่วนหนึ่งของทุกนโยบาย (health in all policies) ในระดับประเทศ


โดยไทยได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันความร่วมมือและประเด็นด้าน NCDs และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) ให้มีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่อง