ขั้วทักษิณ-ขั้วประยุทธ์ 3 ป.วัดกำลัง ฝ่ายไหนเร้าใจ ส.ส.มากกว่ากัน

ประยุทธ์ ทักษิณ

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 2 สมัย กำลังเฟ้นหา ส.ส.และพรรคแนวร่วม สำหรับการตรึงอำนาจหลังเลือกตั้งสมัยหน้า

ฝ่ายทักษิณ ตั้งหลัก-ยืนพื้นจากการวางกำลัง ส.ส.เขต 400 จุดทั่วประเทศ และดีลนักการเมืองรุ่นใหญ่-รุ่นใหม่ เข้าพรรคเพื่อไทย ทั้งรูปสมบัติ-ทรัพย์สมบัติพร้อมสรรพ เข้าบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ ทั้งตัวจริง-ตัวสำรองกว่า 100 ชื่อ

บัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ฝ่ายทักษิณ หลังจากเปิดหน้า “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” ไปแล้ว 2 อีเวนต์ แต่ผลที่ได้ในทางคะแนนความนิยม ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมาย

ทำให้แกนนำเพื่อไทย ต้องปูพรมทำโพลโฟกัสกรุ๊ปกับกลุ่มแกนนำทางความคิดการเมืองหลายกลุ่ม รวมทั้งอินฟลูเอนเซอร์-ชาวโซเชียล เพื่อเช็กฟีดแบ็ก ว่า “อุ๊งอิ๊ง” ติดกระแส-แปลผลเป็นคะแนนเลือกตั้งได้มากน้อยเพียงใด มีปัจจัยอะไรที่จะทำให้เลี้ยงกระแสความนิยมได้หรือไม่

นักการเมืองในพรรคส่วนใหญ่ ให้ความเห็นว่า ยังไม่มีอีเวนต์ “อุ๊งอิ๊ง” ที่เปรี้ยงปร้าง และยังไร้บารมีทางการเมือง และแม้ไม่มี “อุ๊งอิ๊ง” เพื่อไทยก็ชนะเลือกตั้ง แต่การปรากฏตัวของทายาทชินวัตร เป็นเพียงการแสดงฤทธิ์เดชทางการเมืองว่า “ทักษิณเอาจริง” เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แกนนำเพื่อไทยสายเก๋า ยังกังวลว่า หากชู “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร” ขึ้นเป็นเบอร์ 1 แล้วเพื่อไทยต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะไม่สามารถเป็นตัวจริง ในการดีลพรรคการเมืองอื่น เข้าร่วมรัฐบาล และอาจมีเงื่อนไข ปัจจัยภายนอก-เหนือกว่ารัฐบาล ที่ยากจะเจรจา แม้มีกุนซือมากมาย แต่สุดท้ายก็ต้องเจรจากับทักษิณคนเดียว

สำคัญที่สุด หากกระแสประชาชนเปลี่ยนทาง ว่าฝ่ายประชาธิปไตย ที่มีเบื้องหลังเป็นทักษิณ อาจมีวาระซ่อนเร้น อาจสร้างความไม่ไว้วางใจให้กับมวลชน

ข้อระแวงของพรรคการเมืองขนาดใหญ่กว่าระดับกลาง คือ หากต้องกลับไปร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย ต้องหมอบไปขอโทษเรื่องเก่า อีกทั้งไม่อยากให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จากประสบการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่ยุคไทยรักไทย พรรคขนาดกลาง-เล็ก ทุกพรรค ถูกดูดตัว ส.ส.จนเกลี้ยง หมดความเป็นพรรค ต้องสลายตัวไปรวมกับไทยรักไทยพรรคเดียว

ขณะเดียวกัน นักการเมืองสายแข็งทั้งหลาย วิเคราะห์คู่แข่งทักษิณ ในขั้วประยุทธ์และ 3 ป. ไว้ว่า หากต้องเลือกอยู่กับขั้วประยุทธ์ ต่อไปสมัยหน้า-น่าจะได้เปรียบมากกว่า

ข้อแรก คือ อยู่กับขั้วประยุทธ์ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีผู้นำไร้บารมี เพราะมี พล.อ.ประยุทธ์ และมีตัวเลือกอื่นที่ฝ่าย 3 ป.เลือกจัดสรรไว้ มีบารมีในระดับเดียวกัน

ข้อสอง คือ พล.อ.ประยุทธ์ และ 3 ป. ไม่มีการลักไก่-แบ็กดอร์หรือเทกโอเวอร์ ซื้อตัว ส.ส.ลับหลัง

ข้อสาม วาระและโครงการในคณะรัฐมนตรี หากมีการเจรจากับ 3 ป.คือจบ ไม่มียืดเยื้อ

ข้อสี่ การออกอาวุธทางการเมืองของฝ่าย 3 ป.แม่นยำ และมีกองหนุนนอกรัฐบาล เช่น เกมลับ-ลวง-พราง เรื่องยุบสภา โดยประกาศวัน-เวลา คร่าว ๆ แต่ไม่ถอย ไม่เฉพาะเจาะจง ทำให้ ส.ส.ที่เตรียมย้ายพรรค ไม่สามารถขยับตัวได้ ต้องอยู่ในสภาพงูเห่า

ข้อห้า อยู่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ต้องต่อรอง แต่ทุกวาระได้ตามที่ตกลงกันไว้ ทยอยเข้า ครม.อย่างไม่มีข้อขัดแย้ง ยกเว้นเรื่องรถไฟฟ้าบางสี ที่มีการขัดขากันในเรื่องเก่า แต่ที่สุดแล้ว 1 ใน 3 ป. ก็ชะลอและถอยตั้งหลักอย่างดุษฎี

“พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าไม่แน่จริงในทางการเมือง คงประคองตัวเองอยู่บนตำแหน่งได้ไม่นานถึง 8 ปีกว่า และยังยืนระยะได้จนถึงยุบสภา หมดวาระรัฐบาล 4 ปี” แหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาล ระบุ

ข้อด้อยของขั้วประยุทธ์ แม้ว่าที่ผ่านมาเพลี่ยงพล้ำเฉพาะกรณีการแก้รัฐธรรมนูญกลับไปเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ ซึ่งเป็นเกมที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เห็นด้วย แต่ พล.อ.ประวิตรเห็นชอบและเป็นคนคุมเกมในสภา ผลการลงมติจึงออกมาตามทิศทาง ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการในกฎหมายลูก

จุดตำหนิอีกจุดของกลุ่มอำนาจ 3 ป. คือ การดึงศัตรูมาเป็นพวก แต่บางรายสร้างความเสียหายทางการเมืองให้ พล.อ.ประยุทธ์ จนต้องบีบ-ดีด ออกห่างตัวพ้นจากทำเนียบรัฐบาล เช่นกรณี “แรมโบ้-เสกสกล อัตถาวงศ์”

นอกจากนี้เครือข่ายอำมาตย์ อาจมีเรื่องหมางใจ กรณีอุบัติเหตุการออกอากาศที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ทำให้ต้องจ่ายต้นทุน ผอ.ททบ.5 ขอพ้นจากตำแหน่งก่อนเวลาอันควร แต่ไม่กระเทือนอำนาจการเมืองของฝ่าย 3 ป.

เดือนเมษายน 2565 เช็กเสียง ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่ได้ 474 เสียง ฝ่ายรัฐบาล 266 เสียง ฝ่ายค้าน 208 เสียง พรรคที่ไม่มีฝ่ายคือ พรรคเศรษฐกิจไทยจำนวน 16 เสียง


เปรียบเทียบความได้เปรียบ-เสียเปรียบทางการเมืองแล้ว แกนนำพรรคการเมืองระดับเก๋าเกม นาทีนี้ จึงพิจารณาเลือกไว้ล่วงหน้าแล้วว่า หลังเลือกตั้งปีหน้า จะจับกับขั้วไหน