เลาะอำนาจ พรรคประชาธิปัตย์ จุรินทร์ บริวารเป็นพิษ-ส.ส.ไหลออก

ประชาธิปัตย์
รายงานพิเศษ

ข่าวคดีล่วงละเมิดทางเพศ พัวพัน “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็น “แผลเป็น” ในยุคที่มี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 8

“จุรินทร์” ถูกตั้งคำถามถึงการแต่งตั้งบุคคลที่มีประวัติ “ด่างพร้อย” เข้ามานั่งในคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.)

กลายเป็น “จุดบอด” ของ “จุรินทร์” ในการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญภายในพรรค-รัฐบาล โดยไม่สกรีน-เช็กประวัติ นำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติภูมิของ “พรรคเก่าแก่”

จุรินทร์ จมพิษถุงมือยาง

ก่อนหน้านี้ในช่วงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ “จุรินทร์” ถูกพรรคฝ่ายค้าน โดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทยเปิดโปง “ผังคนใกล้ชิด” กลางสภา โยงถึงเครือข่ายทุจริตถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.)

โดยมี “ตัวละครหลัก” คือ “สุชาติ เตชจักรเสมา” ประธาน อคส.ในขณะนั้น ซึ่งนายจุรินทร์ ในฐานะ รมว.พาณิชย์ เป็นคนลงนามแต่งตั้งเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ก่อนนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในวันที่ 5 พฤษภาคม 2563

ไม่นับรวมกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน หยิบเรื่องร้องเรียน “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กรณีร่ำรวยผิดปกติ จน “ดร.เอ้” ต้อง “พิสูจน์ตัวเอง” ด้วยการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินในช่วงดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

บริวารเป็นพิษ เลือดเก่าไหลออก

ใน “ยุคจุรินทร์” นอกจาก “บริวารเป็นพิษ” แล้ว ยังเป็นยุคที่มี “เลือดเก่าไหลออก” มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรรค 76 ปี มิหนำซ้ำเลือดที่ไหลออกยังไปซบกับ “พรรคคู่แข่ง” ที่พร้อมจะเบียดประชาธิปัตย์ให้หล่นจากเก้าอี้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าแทบทั้งสิ้น

หากกางดูตำแหน่ง-โครงสร้าง กก.บห.พรรค ในยุคที่จุรินทร์เป็นหัวหน้าพรรค เทียบกับ “ยุคอภิสิทธิ์” นายจุรินทร์พยายามดึงคนมาเป็นมือไม้-ขุนพลข้างกาย เพื่อ “ถ่ายเลือดเก่า” กลุ่ม-ก๊วนของนายอภิสิทธิ์ออกไป

โดยเฉพาะ “ปริญญ์” ที่ถูกดึงมาเป็นรองหัวหน้าพรรค และ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย” ซึ่งเข้ามาแทน “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ-ลมใต้ปีกนายอภิสิทธิ์

นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งเข้ามาเป็นคณะทำงานในฝ่ายบริหาร-ฝ่ายนิติบัญญัติจำนวนหลายคณะ รวมถึงมอบหมายภารกิจสำคัญ อาทิ ผู้อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.

ขณะที่รองหัวหน้าพรรค-แม่ทัพภาคใต้ ก็ดึง “เดชอิศม์ ขาวทอง” มาแทน “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” ที่ถูกบีบในทางอ้อมให้ออกจากพรรค เพราะไม่ว่านายนิพิฏฐ์จะมีข้อเสนอให้ “ปฏิรูปพรรค” อย่างไรก็ไม่มีเสียงตอบรับจากนายจุรินทร์

รวมถึง “อันวาร์ สาและ” ส.ส.ปัตตานี ที่แสดงความเห็นต่อ “ผู้บริหารพรรคชุดปัจจุบัน” ในที่ประชุมของพรรคทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการจนถูก “ขึ้นบัญชีดำ” และอาจไม่ส่งชื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเดิมครั้งหน้า

ต่อมา “อันวาร์” ต้องสละเก้าอี้ กก.บห. และให้ “เลือดใหม่” ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช มานั่งเก้าอี้รองเลขาธิการพรรคแทน

สำหรับ กก.บห.พรรค “ยุคอภิสิทธิ์” ที่ไม่มีชื่ออยู่ใน “ยุคจุรินทร์” ได้แก่ นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู นายวิฑูรย์ นามบุตร นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ นายไพร พัฒโน เอกนัฏ พร้อมพันธุ์

น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธุ์ นางกันตวรรณ ตันเถียร นางฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง น้องสาว “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” และเป็นอาของ “ฟูอาดี้” ลูกชายของนายสุรินทร์

“อดีต กก.บห.ประชาธิปัตย์รายหนึ่ง” เปรียบเทียบ กก.บห.ชุดอภิสิทธิ์ กับ กก.บห.ชุดจุรินทร์ ว่าเป็นเรื่องธรรมดา คนที่หัวหน้าพรรคแต่งตั้ง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เป็นรองหัวหน้าภารกิจที่เป็นโควตาของหัวหน้าพรรค ก็ต้องเลือกคนที่ไว้ใจและคนที่มั่นใจว่าทำงานได้

“สุดท้ายเป็นความรับผิดชอบหัวหน้าพรรค เพราะตำแหน่งที่แต่งตั้งคือ รองหัวหน้าพรรค ตามภารกิจที่หัวหน้าพรรคมอบหมาย”

สำหรับ กก.บห.ชุดปัจจุบัน 36 คน ประกอบด้วย 1.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค 2.นายนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรค 3.นายไชยยศ จิรเมธากร รองหัวหน้าพรรค 4.นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค

5.นายเดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรค 6.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค 7.นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค

8.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรค 9.นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค 10.นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค 11.นายอัศวิน วิภูศิริ รองหัวหน้าพรรค 12.นายกนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรค 13.นายสรรเสริญ สมะลาภา รองหัวหน้าพรรค 14.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค

15.นายธนา ชีรวินิจ รองเลขาธิการพรรค 16.นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ รองเลขาธิการพรรค 17.พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร รองเลขาธิการพรรค 18.นายชัยชนะ เดชเดโช รองเลขาธิการพรรค 19.น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองเลขาธิการพรรค 20.นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการพรรค 21.นายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์ เหรัญญิกพรรค 22.นายวิรัช ร่มเย็น นายทะเบียนสมาชิกพรรค

23.นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค 24.นางขนิษฐา นิภาเกษม 25.นางกษมา วงศ์ศิริ 26.นายชวลิต รัตนสุทธิกุล 27.นายถนอมศักดิ์ แป๊ะเส้ง 28.นายทวีโชค อ๊อกกังวาล 29.นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ 30.นางสุพัชรี ธรรมเพชร 31.นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล 32.น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ 33.น.ส.รัชดา ธนาดิเรก 34.น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล 35.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ 36.นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข

“อดีต กก.บห.ประชาธิปัตย์อีกราย” กล่าวถึงขั้นตอน-กระบวนการเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารพรรคว่า ตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคมี 2 ประเภท

ประเภทที่ 1 รองหัวหน้าพรรคประจำภาค มาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิก ประเภทที่ 2 รองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ หัวหน้าพรรคจะเป็นผู้เสนอ-โควตาหัวหน้าพรรค 7 คน

“การเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่ง กก.บห.ได้ ต้องมีคุณสมบัติ เช่น เคยเป็น ส.ส. เคยเป็นรัฐมนตรี แต่หัวหน้าพรรคสามารถขอมติที่ประชุมใหญ่พรรคยกเว้นข้อบังคับได้”

เจตนารมณ์ของข้อบังคับพรรคกำหนดคุณสมบัติ กก.บห.พรรคต้องดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน เพื่อกลั่นกรองเบื้องต้นที่มีนัยสำคัญ

เว้นข้อบังคับ เลือก “ปริญญ์”

อย่างไรก็ตาม กรณีของ “ปริญญ์” เป็นการเสนอชื่อโดยหัวหน้าพรรค ขณะเดียวกัน หัวหน้าพรรคยังเป็นผู้ขอมติต่อที่ประชุมใหญ่ยกเว้นข้อบังคับ

ดังนั้น หลักการแต่งตั้ง กก.บห.พรรคประชาธิปัตย์ แบ่งออกเป็น 1.กก.บห.พรรค ที่เคยเป็น ส.ส. หรือเคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อน 2.กก.บห.พรรคที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่ง “คนในพรรค” ใช้ศัพท์ว่า “ตะลุมบอน”

และ 3.กก.บห.ที่หัวหน้าพรรคขอมติที่ประชุมพรรคเพื่อขอยกเว้นข้อบังคับพรรค (ต้องเคยเป็น ส.ส. หรือ รัฐมนตรี) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแต่งตั้งรองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ 7 คน

อย่างไรก็ตาม ทุกตำแหน่งใน กก.บห.ต้องผ่านด่านการลงคะแนนและได้รับคะแนนเกิน 50% จึงจะสามารถขอยกเว้นข้อบังคับได้

“ไม่เหมือนกับ รองหัวหน้าภาค คนเสนอส่วนใหญ่เป็นสมาชิก หัวหน้าพรรคจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว แต่รองหัวหน้าภารกิจ หัวหน้าพรรคจะเป็นคนเสนอชื่อทั้งหมด ส่วนจะเสนอเท่ากับโควตาที่มีได้ หรือมากกว่าโควตาที่มีได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรค” อดีต กก.บห.รายเดิมเปรียบเทียบความแตกต่างของกระบวนการแต่งตั้งระหว่างตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประจำภาคกับรองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ

จุดบอดของการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดของพรรคประชาธิปัตย์ คือ การให้อำนาจหัวหน้าพรรคในการเลือกคนของตัวเองมากจนเกินกรอบข้อบังคับ