ยุบสภา อย่าหวัง โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง

ทุกพรรคประชุมใหญ่ เตรียม ส.ส.ลงเลือกตั้ง ทั้งกรณียุบสภาและรัฐบาลอยู่ครบวาระ

การยุบสภา ถูกนักการเมืองคนสำคัญพูดถึงไทม์ไลน์ อย่างน้อย 3 คน…โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง

คนหนึ่งคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจตัวจริง หากเอ่ยคำว่า “ยุบสภา” เมื่อไร เมื่อนั้นมีผลในทางปฏิบัติผูกพันทุกองค์กร ลั่นวาจาล่าสุดว่า “จะยุบสภาเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น เป็นเรื่องของนายกฯตัดสินใจ จะบอกก่อนทำไม ทำไมต้องรีบบอก”

คนหนึ่งเป็นผู้มีบารมีสูงสุดทางการเมืองทั้งใน-นอกทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ บอกว่า วัน ว. เวลา น. ไว้ว่า “ยุบสภาผมพูดเอง ผมพูดว่า พอจบเอเปกแล้ว รัฐบาลก็ว่างแล้ว ใช่ไหม ถ้าจะยุบก็ยุบได้ตอนนั้น”

อีกคน เป็นหัวหน้าพรรคอันดับ 2 ในรัฐบาล มีบารมีทาบทับ-ระดับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อนุทิน ชาญวีรกูล เปล่งว่าจาไว้ว่า “การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นอีกเวลาไม่เกิน 11 เดือน เพราะรัฐสภาชุดนี้ก็ต้องหมดอายุในวันที่ 22 มีนาคม 2566 ส่วนตัวผมเอง พอรัฐบาลเข้าปีที่ 3 ก็ต้องพร้อมแล้ว…ถ้าอยากให้เลือกตั้งเร็ว ท่านนายกฯก็ต้องยุบสภา ถ้าท่านไม่ยุบสภา ลาออก ก็ยังไม่ได้เลือกตั้ง”

อำนาจยุบสภาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 108 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขแห่งรัฐ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนั้นได้ก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีเสนอเท่านั้น”

ส่วนในวรรคสอง บัญญัติแนวการปฏิบัติไว้ว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกาจะใช้บังคับเมื่อใดแล้วแต่กำหนดไว้ในนั้นเอง แต่ต้องหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา และต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ

หากยึดไทม์ไลน์ของ พล.อ.ประวิตร และการคาดการณ์ของนายอนุทิน ผนวกกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คาดการณ์ได้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า จะอยู่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเกือบครบวาระรัฐบาล 4 ปี หลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 24 มีนาคม 2562

ทั้งไทม์ไลน์-วาระของ พล.อ.ประวิตร-นายอนุทิน และคำกั๊กของ พล.อ.ประยุทธ์ การเลือกตั้งจะอยู่ในกรอบเวลานักจากเดือนเมษายน 2565 ไปอีก 10-11 เดือนเท่านั้น

นั่นหมายความว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 2 อยู่ครบวาระ 4 ปี บวกกับการเป็นรัฐบาลรักษาการไปอีก “จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายสัตย์”

นักการเมืองคนสำคัญในรัฐบาลสำทับเหตุผลเพิ่มน้ำหนักของการไม่ยุบสภา-อยู่ครบวาระของรัฐบาลประยุทธ์ ไว้ว่า “จะรีบยุบสภาทำไม ตอนนี้ผู้มีอำนาจ เอา ส.ส.ในสภาที่จ้องจะย้ายพรรคเป็นตัวประกัน ถ้าบอกวัน-เวลายุบสภาชัดเจน จะทำให้พวก ส.ส.วางแผนย้ายพรรคได้ พลังประชารัฐจะเสียเปรียบ”

กุนซือนายกรัฐมนตรีพลิกรัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องการย้ายพรรค ใช้กลเกมให้อยู่ในสภาพได้เปรียบ ไว้ว่า “หากมีการยุบสภา ส.ส.ต้องหาพรรค 30 วันก่อนเลือกตั้ง เช่นเดียวกับโดนขับออก ต้องหาสังกัดพรรคใหม่ 30 วัน แต่กรณีลาออกจากพรรคเก่า มีเวลาหาสังกัดพรรคใหม่ 90 วันก่อนการเลือกตั้ง”

เครื่องมือที่แหลมคมทางการเมืองของรัฐบาลอีกชิ้นคือ กฎหมายลูก ที่ยังไม่เห็นว่าลูกผีหรือลูกคน

ท่าไม้ตายของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคใหญ่ จึงยืนกระต่ายขาเดียว วางแผนลับ-ลวง-พราง ให้ ส.ส.ที่เตรียมจะย้ายพรรค อยู่ในสภาพ “ไปไม่ได้ กลับไม่ถึง”

ส่วนพรรคสำรอง “รวมไทยสร้างชาติ” ต้องประสบเหตุแท้งก่อนได้เกิดสู่พิภพการเมือง เพราะโดนพิษคลิปโควตาลอตเตอรี่เกินราคา แลกมูลค่าที่ต้องจ่ายค่าหาเสียงเลือกตั้ง 15 ล้าน ดัน “แรมโบ้-เสกสกล อัตถาวงศ์” พ้นจากทำเนียบรัฐบาล การจัดทัพเรียกเนื้อ-เรียกปลา หา ส.ส.เข้าสังกัดพรรคคงไม่ถึงฝั่งฝัน

แหล่งข่าวจากทีมนายกรัฐมนตรี บนตึกไทยคู่ฟ้า มั่นใจอย่างยิ่งว่า พรรคเศรษฐกิจไทย ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรค ก็ยากที่จะคุม 16 เสียงไว้ในมือได้ทั้งในสภาและสนามเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะมี ส.ส.อย่างน้อย 3-5 เสียง ที่พร้อมโอนชื่อใส่ไว้ในมือหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล-เจ้าพ่อจอมดูด


ยืนยิ่งกว่ายืนยันอีกว่า 3 ป.ยังไปต่อร่วมกันในนามพลังประชารัฐ