ส.ส.งูเห่าฝ่ายค้านแผลงอิทธิฤทธิ์ ปักหมุดกันยายน นับถอยหลัง “ประยุทธ์”

นำ ประยุทธ์

มาถึงนาทีนี้ ใครว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงคราวดวงแตก ปิดฉากก่อนครบวาระ 4 ปี อาจต้องคิดใหม่

แม้ว่า พรรคเศรษฐกิจไทย ที่มีหัวเรือใหญ่คือ “ผู้กองนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กับ ส.ส.กลุ่ม 16 ที่เกี่ยวดองกันทางการเมืองตั้งแต่วันนี้จนถึงการเลือกตั้งใหญ่อีกไม่เกิน 1 ปี จะประกาศตัวเลข ส.ส.ในสภา 40 เสียง เดินเกมขู่ “โหวตไม่ไว้วางใจ” รัฐมนตรีรายบุคคล หากรัฐบาลตอบไม่เคลียร์ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะถึงอีกไม่ช้า

ซึ่งนั่น…อาจเป็นเพียงแค่ “คำขู่” หากผลประโยชน์ลงตัวทุกอย่างก็จบ ไม่ต่างกับการลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่ ส.ส.ยกมือโหวตท่วมท้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และเห็นเป็นที่ประจักษ์คือตัวเลข ถึง 12 “งูเห่า” ที่หลบมุมอยู่ในฝ่ายค้าน จากการโหวตงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา เสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในสภาหายไป แต่เสียงฝ่ายค้านก็ร่อยหรอไม่ต่างกัน

สถานะงูเห่าฝ่ายค้าน

เมื่อแกะเสียงเห็นด้วยกับงบประมาณ 278 เสียง ต่อเสียงไม่เห็นด้วย 194 เสียง และงดออกเสียง 2 ปรากฏว่า 12 เสียงงูเห่า เทมาอยู่ฝั่งรัฐบาล ซึ่งเป็น “งูเห่า” หน้าเดิมยกมือสวนมติพรรคฝ่ายค้านหลายรอบ และเคยถูกพรรคลงโทษไปก็หลายราย

งูเห่ารอบล่าสุด แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 7 คน หน้าเก่า 4 คน ที่รู้อยู่แล้ว คือ นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ ส.ส.อีสานใต้ ที่พรรคเคยมีมติภาคทัณฑ์และใช้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาส่งลงสมัคร บวกนางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ ที่สามี “ปวีณ แซ่จึง” ไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย มาเป็นปี ๆ

นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก ยังไม่เคยถูกพรรคลงโทษ หลังจากหายตัวไปในวันโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนกันยายน 2564 ซึ่งครั้งนั้นระบุเหตุผลที่หายตัว เพราะเป็นโควิด-19 และไม่สามารถเดินทางมาชี้แจงต่อทางพรรค จนพรรคเพื่อไทยยังไม่ดำเนินการใด ๆ แต่มาถึงการโหวตรอบล่าสุดชัดยิ่งกว่าชัดว่าไปจากพรรคเพื่อไทยแน่นอน

เพราะอีกด้านหนึ่ง “อ๋อง” ปิยวัฒน์ กิตติธเนศวร ซึ่งเป็นลูกชายของวุฒิชัย ได้ประกาศลงสมัคร ส.ส.เขต 1 ในนามพรรคภูมิใจไทย ไปล่วงหน้าแล้ว

แต่ 3 งูเห่า ล่าสุดซึ่งเผยโฉมออกมาในการโหวตงบประมาณรอบนี้ คือ จักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา และนายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก

“จักรพรรดิ” เป็นนักการเมืองหล่นไม่ไกลต้น เพราเขาคือทายาท “ประจวบ ไชยสาส์น” นักการเมืองรุ่นเก๋า อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงฉายา “อีดี้อีสาน” และยังเป็นน้องของ “ต่อพงษ์ ไชยสาส์น” ที่ไปตั้งรกรากการเมืองอยู่กับพรรคไทยสร้างไทย ไม่แปลกที่ “จักรพรรดิ” ถูกโยงกับพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แต่เพื่อน ส.ส.อีสานในเพื่อไทย ได้ข่าวมาว่า พรรคภูมิใจไทยก็ตามจีบให้เข้าร่วมก๊วนด้วยเช่นกัน

“จักรพรรดิ” เผยถึงอนาคตทางการเมือง ที่ถูกมองจะไปอยู่พรรคไทยสร้างไทยว่า “ยังไม่สามารถตอบได้ ให้เป็นเรื่องอนาคต ยังพูดและสรุปอะไรตอนนี้ไม่ได้ ขอให้เป็นไปตามเวลา”

ส่วน “สุชาติ ภิญโญ” ส.ส.นครราชสีมา เตรียมเปลี่ยนสีเสื้อจากพรรคเพื่อไทย ไปสวมเสื้อภูมิใจไทย ก็โตมาจากการเมืองท้องถิ่น เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) นครราชสีมา ในเขตเลือกตั้งที่ 14 ต้องสู้รบกับ “ไพศาล เกียรติชัยพัฒน” พรรคภูมิใจไทย ที่มี “เสี่ยโรงแป้ง” วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม เป็นแบ็กอัพ

แต่วันนี้ น้องชายของ “สุชาติ” คือ “สมชาย ภิญโญ” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจอมประทัด ที่เคยลงสมัคร ส.ส.เพื่อไทย ก็พลิกกลับมาทำงานให้ “วีรศักดิ์” และเคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีนามพรรคภูมิใจไทยมาแล้ว

ว่ากันว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ “สุชาติ” ถูกจับตามองในพรรคเพื่อไทยมากเป็นพิเศษ กระทั่งกลายเป็นความขัดแย้งเล็ก ๆ ในพื้นที่ ท้ายที่สุดก็เป็นชนวนให้มาอยู่ภูมิใจไทยตามน้องชาย

“นิยม ช่างพินิจ” ส.ส.พิษณุโลก หลายสมัย ตั้งแต่ไทยรักไทย จนถึงพรรคเพื่อไทย ประกาศอย่างเป็นทางการว่าอยู่พรรคภูมิใจไทย

“คงไม่ได้อยู่กับพรรคเพื่อไทยอีก จะไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย เป็น ส.ส.อยากทำงานให้ประชาชน แต่การเป็นฝ่ายค้านไม่มีงบประมาณลงพื้นที่ไปช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ ถ้าเป็นรัฐบาลอย่างน้อยก็ช่วยประสานของบประมาณไปแก้ไขปัญหาได้ จึงตัดสินใจไปร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย ถ้าพรรคจะมีมติขับออกจาก ส.ส.ก็พร้อมรับมติพรรค”

พรรคก้าวไกล พบ “งูเห่าหน้าเก่า” 4 คน ได้แก่ นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย และนายเอกภพ เพียรวิเศษ ส.ส.เชียงราย มาเป็นแพ็กคู่ทำพื้นที่ที่เชียงราย โหวตไว้วางใจรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย ทุกรอบ

เช่นเดียวกับ “อนุมัติ ซูสารอ” ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ ที่เป็นอีกหนึ่งงูเห่าหน้าเดิมที่ลงคะแนนให้ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งถูกเคลมว่าอยู่ใต้สังกัดของ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ

สรุปตัวเลขที่ฝ่ายค้าน มักเคลมว่า มี ส.ส.ฝ่ายค้านอยู่ 208 เสียง แต่ถึงเวลาโหวตจริง เหลือแค่ 193-194 เสียงเท่านั้น ขณะที่ฟากฝั่งรัฐบาล มีตัวเลขอยู่ที่ 269 เสียง ถึงคราวโหวตจริงอาจจะขยับไปมากกว่า 10 เสียง เป็น 270 เสียง++

หากพรรคใหญ่พรรคพลังประชารัฐ 97 เสียง พรรคกลางค่อนใหญ่อย่างพรรคภูมิใจไทย 62 เสียง พรรคกลางประชาธิปัตย์ 52 เสียง พรรคกลางค่อนเล็กชาติไทยพัฒนา 12 เสียง ไม่แตกแถว เมื่อรวมกับเสียงงูเห่า 12 เสียง ก็มีถึง 235 เสียง

ยังไม่นับกับ ส.ส.เพื่อไทย แสดงความจำนงชัดเจนว่า เตรียมเก็บข้าวของย้ายสังกัด แต่ไม่ทำตัวเป็น “งูเห่า” เช่น ส.ส.กลุ่มคุณหญิงสุดารัตน์ ทั้งใน กทม.-อีสาน จำนวนหนึ่ง

ต่อให้ลบเสียงของพรรคเศรษฐกิจไทย+กลุ่ม 16 ที่มีตัวเลขกลม ๆ ที่ 30 เสียง รัฐบาลประยุทธ์ก็ยังหายใจพ้นน้ำ เพราะตัวเลขฝ่ายค้านนับวันไม่ถึง 200 เสียง

แหล่งข่าวพรรคเพื่อไทยวิเคราะห์ว่า การลงมติสำคัญ ๆ ช่วงปีสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง กลุ่มที่เขาจะย้ายพรรคอาจจะ “รับจ็อบ” จากพรรคปลายทาง โหวตตามออร์เดอร์ของพรรคใหม่ที่ย้ายไปสังกัด ซึ่งมีเสียงสูงกว่าทุกครั้งที่พรรคฝ่ายค้านจะเสียแต้ม

“ตอนนี้สถานการณ์ ส.ส.ที่จะย้ายพรรคของ ส.ส.เพื่อไทย ยังมีเท่าที่เห็น 7-8 คน แต่ลึก ๆ อาจจะมีการคุยใต้โต๊ะซึ่งพรรคไม่สามารถทราบได้ แต่ต่อให้มี ส.ส.ย้ายพรรค ก็ไม่มีผลกระทบ พรรคเพื่อไทยเตรียมพร้อม หาคนไว้ตลอดเวลา เพราะมีคนอยากลงสมัคร ส.ส.จำนวนมาก ดังนั้น ใครออกไปก็ไม่กังวล”

แหล่งข่าวยกตัวอย่างของกำนัลแลกเปลี่ยนกับการเป็น “งูเห่า” นอกจาก “กล้วยหวีใหญ่” แล้วยังได้รับการเลี้ยงดูรายเดือน พร้อมทั้งให้งบประมาณ-โครงการในพื้นที่ อย่างต่ำ ๆ โครงการละ 200 ล้าน ส่วนพรรคเพื่อไทย ในฐานะฝ่ายค้านไม่มีอะไรจะให้…

สอดรับกับคำพูดของ “เกรียง กัลป์ตินันท์” รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย (พท.) ผู้มากบารมีในอีสานใต้ฝ่ายเพื่อไทย พูดถึงการหาตัวตาย-ตัวแทน 7 งูเห่าเพื่อไทยว่า

เรื่องนี้เป็นเรื่องมารยาททางการเมือง ถ้าทำแบบนี้ในการเลือกตั้งสมัยหน้า เราก็ต้องเปลี่ยนตัวผู้สมัคร เพราะเรามีผู้สมัครคนใหม่แล้ว ที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้ทุกยุค ทุกสมัย และส่วนใหญ่ที่ออกไปก็สอบตก เห็นได้จากในการเลือกตั้งปี 2562 ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี

“ก็เห็นแล้วไม่ใช่หรือ จ.ศรีสะเกษ ก็คงเหมือนกัน จะสนใจอะไรคนที่หนีเรา เราก็หาคนใหม่ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ก็มีคนออกจากพรรคน้อยบ้างมากบ้าง แต่เมื่อเลือกตั้งแล้ว เราก็ได้ ส.ส.เหมือนเดิม คนใหม่เข้ามาก็ได้เป็น ส.ส. เที่ยวนี้ก็คงเหมือนกัน”

นับถอยหลังงูเห่าแผลงฤทธิ์

อย่างไรก็ตาม คนวงในพรรคเพื่อไทยชี้ช่องให้ “จับตา” ดูห้วงเวลาหลังวันที่ 24 กันยายน 2565 ซึ่งเข้าสู่ช่วง “นับถอยหลัง” 180 วัน หรือ 6 เดือนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเป็นทางการตาม “กติการัฐธรรมนูญ” มาตรา 105 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า “ในกรณีที่ ส.ส.เขตว่างลง ให้มีการเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่าง ‘เว้นแต่’ อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะเหลืออยู่ไม่ถึง 180 วัน”

“งูเห่าสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ได้เต็มที่ เคลื่อนไหวได้ตามอิสระ ไม่ต้องแคร์มติพรรค เพราะที่สุดแล้วไม่ว่าพรรคจะมีมติขับออกจากพรรค หรือลาออกจาก ส.ส.ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกตั้งซ่อม ฝ่ายที่เสียเปรียบคือฝ่ายค้าน นับวันเสียงยิ่งลด”

ท้ายที่สุด ยุทธศาสตร์พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย หวังใช้กระแส (ชินวัตร) มากกว่ากระสุน แต่คนการเมืองย่อมรู้ดี อะไรที่เป็นตัวแปรทำให้ “ชนะ” เลือกตั้ง