ชัชชาติ ตอบ ถ้าทำงานในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. กับนายกฯ ชื่อ เศรษฐา

ชัชชาติ - เศรษฐา มองความหวัง – โอกาสประเทศไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก

เสียงมหาชนชาวกรุงเทพมหานคร 1.4 ล้านเสียง เทคะแนน-แลนด์สไลด์ ให้ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เป็นผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17

ชัชชาติ สวมบทผู้ว่า กทม.มา 1 เดือนเต็ม ทุก ๆ เช้า เขาทำการไลฟ์สดตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ก็มีผู้คนเข้าไปดูการไลฟ์สดแล้วนับหมื่นคน

ยิ่งกว่ารายการเรียลิตี้โชว์ช่วงไพรม์ไทม์ กลายเป็น “ความหวังใหม่” ของคนกรุงเทพ

“เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) เป็น CEO ที่โลดแล่นอยู่ในโลกทวิตเตอร์ แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ยืนอยู่ขั้วตรงข้ามกับผู้มีอำนาจปัจจุบันอย่างชัดเจน ปักธงทางความคิดเคียงข้าง ม็อบคนรุ่นใหม่

เคยมีกระแสข่าวว่าจะมานั่งเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของพรรคเพื่อไทย เสียด้วยซ้ำ

เมื่อทั้งสองคนมาอยู่บน “เวทีเดียวกัน” พูดเรื่อง “ความหวัง” บนเวทีงานสัมมนาของ “หนังสือพิมพ์มติชน” แลกเปลี่ยนความคิดในหัวข้อ Stronger Bangkok : Stronger Thailand”

ความหวังของประเทศไทยยังมีอยู่หรือไม่ ต่อไปนี้คือทรรศนะของคนทั้ง 2

เริ่มจากคำถาม…ปัญหาของประเทศไทยที่ต้องเร่งแก้ไข

เศรษฐา มองว่า ผมว่าเรื่องความหวังและแรงบันดาลใจสำคัญที่สุด ชาวกรุงเทพฯ มีความหวัง มีแรงบันดาลใจเพราะส่วนใหญ่ ได้ผู้ว่า กทม.คนใหม่มา เป็นปัญหาที่ต้องยอมรับว่าผู้นำของแต่ละชุมชนเป็นผู้ให้ความหวังและแรงบันดาลใจพอสมควรเหมือนกัน

อีกเรื่องคือ เรื่อง ส.ว. รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องใหญ่ กฎกติกาที่ต้องอยู่ร่วมกันก็ต้องพึ่งเรื่องรัฐธรรมนูญที่คิดว่าแฟร์ ถูกต้องและเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง

“เรื่อง ส.ว.ต้องอยู่ของมันไป ต้องยอมรับว่ายังเป็นจุดที่เป็นปัญหาอยู่ ดังนั้น อีกไม่กี่เดือนจะเลือกตั้งใหญ่ ผมว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นน่าจะให้ความหวังกับประชาชนได้”

“เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน)
“เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน)

แล้วความหวังอยู่ตรงไหน…? เศรษฐา ตอบว่า “ก็ได้มีโอกาสได้เลือก แม้จะมี ส.ว. 250 คน ก็ตามที ถ้ามีพรรคการเมือง ไม่ใช่พรรคการเมืองเดียว ถ้าได้เกิน 253 เสียง ถ้าไม่นับประธาน รองประธานสภาแล้ว ผมว่าเป็นหน้าที่ของ ส.ว. ที่ต้องให้เกียรติความต้องการประชาชน”

“เราเองเห็นแล้วว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นสิ่งที่ให้ความหวังกับเรา แต่สำคัญกว่านั้นคือ เรื่องของปากท้อง รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมได้ จะอธิบายว่าปัญหายูเครน น้ำมันแพง ทำให้เราต้องอยู่ในภาวะปัจจุบัน แต่ประเทศอื่นก็ต้องอยู่ด้วยเหมือนกัน”

“ปัญหาน้ำมันแพงจะแก้ด้วยอะไร ได้คุยกับเลขาธิการสภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติน้ำเสียงท่านเป็นห่วงว่าผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะขึ้นดอกเบี้ย โดยให้เหตุผลหลาย ๆ อย่าง ทั้งป้องกันเงินไหลออก เรื่องค่าเงินบาทอ่อน เป็นคำอธิบายที่ประชาชนคนไทยอาจไม่เข้าใจ และไม่สนใจ เขาสนใจแต่ว่ารายจ่ายเขาจะขึ้นถ้ามีการขึ้นดอกเบี้ย”

เศรษฐา อธิบายว่า การขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ไม่ใช่ Demand pull ที่มีความต้องการ Goods and Service เยอะขึ้น ทำให้เกิดการสุรุ่ยสุร่าย จึงต้องขึ้นดอกเบี้ยมาเบรก แต่ปัจจุบันเป็น Cost push ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ถ้าขึ้นดอกเบี้ยไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเหรอ หน่วยงานรัฐพยายามหาคำอธิบายว่าทำไมต้องขึ้นดอกเบี้ย แต่คำอธิบายจริง ๆ คือ ทำอย่างไรถึงมีกินมีใช้ ราคาสินค้าพื้นฐาน ต้นทุนอาหารก็ขึ้น รัฐบาลต้องคำนึงถึงมากยิ่งขึ้น

ปีที่ผ่านมาจำนวนประชากรดร็อปลงเป็นครั้งแรก เราต้องพึ่งประชากรที่อยู่ในประเทศไทย ถ้าเหตุผลที่ลดลงเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของคนไหลออกไปอยู่ต่างประเทศ หาโอกาสใหม่ๆ ที่ดีกว่า และตัวผู้นำก็ไม่อยากให้เขาอยู่ ซึ่งไม่ถูกควรรับฟังปัญหา แต่เชื่อว่ายังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมที่อยากให้เขาอยู่ และการมีลูกน้อยลงก็เป็นเรื่องสำคัญ

ประเทศไทยมีนโยบายหลาย ๆ อย่างที่ดี ทั้ง Green Economy Digital Economy การให้ความหวังและแรงบันดาลใจ แต่อยากให้รัฐบาลวาดโรดแมปที่ชัดเจนกว่านี้ได้หรือไม่ คนจะได้มีความหวัง

“ถ้าของเหล่านี้ไม่มีไทม์ไลน์ที่ชัดเจน จะวัดผลกันได้อย่างไร ไม่ใช่มาสร้างภาพหลอก ๆ กันไป และหวังให้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เรื่อง Geopolitics ก็เป็นเรื่องสำคัญ เราเป็นประเทศเล็ก เราเลือกข้างไม่ได้ ต้องบาลานซ์หลาย ๆ ฝ่ายเกิดขึ้น เรื่องการลงทุนต้องพึ่ง หลายๆ ชาติไม่ใช่แค่จีน สหรัฐอเมริกา หรือขั้วใดขั้วหนึ่ง”

“การที่ผู้นำต้องออกไปเจอ ไปเจรจาอย่างชัดเจนเป็นเรื่องของการให้ความหวังและการให้กำลังใจ ซึ่งน่าจะเรียนรู้ได้จากผู้ว่าราชการ กทม. อีกสี่ปีท่านคงได้ ถ้ามัวแต่กลัว ไม่เกี่ยวกับเรื่องการสื่อสาร ภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องของความตั้งใจมากกว่า”

“อีลอน มัสก์ เขาอยากเจรจากับนาย ก. นาย ข.เหรอ เขาก็ต้องอยากให้ผู้นำประเทศมาเจรจา พร้อมกับแพ็คเกจ ที่จะให้เขา”

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เป็นผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17
“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ด้าน “ชัชชาติ” กล่าวว่า “10 วันนี้เห็นความหวังมาก วันที่ 22 พฤษภาที่ได้รับเลือกตั้ง ผมขึ้นเวทีแล้วพูดว่า ปัญหาที่ผ่านมาบ้านเรามีความขัดแย้ง ประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ใช้อารมณ์ความรู้สึก ซึ่งจริง ๆ แล้วเมื่อเราขัดแย้งกัน จะมีคนกลุ่มหนึ่งได้ผลประโยชน์จากความขัดแย้งตรงนี้”

ถ้าเราหันหน้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ใช้เหตุผลให้มากขึ้น ผมเชื่อว่าประเทศไทยไปได้ คิดว่าไม่มีเวลาไหนที่เหมาะกับเวลานี้อีกแล้วสำหรับโอกาสของเมืองไทย

“ผมว่ามีความต้องการเยอะ ถ้าดูในภูมิภาคฮ่องกงก็แย่ สิงคโปร์ก็แพง ถ้าทำให้ดีเรามีโอกาสไม่แพ้ที่ไหนในโลก”

“เศรษฐา” หันหน้ามอง “ชัชชาติ” ก่อนพูดเสริมว่า เมืองจีนปิดฮ่องกง regional office ทั้งหลายย้ายไปอยู่สิงคโปร์ซึ่งเกาะแค่นี้ (ยกมือขึ้นมาทำมือบ่งบอกถึงขนาดของสิงคโปร์ที่เล็กกว่าเมืองไทย) แต่ของไทยมีชัดเจน long term resident visa ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่เขาไม่มา เช่น ภาษีส่วนบุคคลที่สู้สิงคโปร์ ฮ่องกงไม่ได้ การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจำเป็นมาก

ด้าน “ชัชชาติ” กล่าวว่า เรามีโอกาสมากมาย ถ้าคิดเป็น strategy long term ผมว่าไปได้ หรือ การท่องเที่ยวผมไปโรงแรมแถวอโศกก็เต็มแล้ว เพราะมี demand สะสมที่จะมาเมืองไทย เรารวมเป็นหนึ่ง มีการนำที่ดี มียุทธศาสตร์ระยะยาว ถือว่าประเทศไทยไม่แพ้ประเทศไหน

“ความร่วมมือของคนในประเทศ โดยเฉพาะคนในกรุงเทพฯ ผมเห็นมีพลังเยอะมากไม่ได้คิดว่าเป็นฝ่ายไหน เจอคนก็ไม่รู้หรอกว่าชอบใคร สีไหน แต่ทุกคนอยากทำกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น ถ้าเรารวมพลังกันได้เราเปลี่ยน กรุงเทพฯ เปลี่ยนประเทศได้ในอนาคต”

“แนวคิดเราพยายามเปลี่ยนความคาดหวังให้เป็นความร่วมมือ ถ้าเราร่วมมือกันทุกอย่างจะดีขึ้นได้ เวลาออกไปวิ่งเจอพี่น้องประชาชนฝากกรุงเทพฯ ด้วย ผมบอกไม่รับฝาก แต่ขอให้มาช่วยกัน ถ้าวินมอเตอร์ไซค์ 6 พันวินตัวเองให้สะอาด เมืองก็สะอาดขึ้นมหาศาล หรือแต่ละร้านช่วยดูหน้าร้านให้สะอาด เมืองก็เปลี่ยนได้แล้ว”

สรกล อดุลยานนท์
สรกล อดุลยานนท์

เมื่อผู้ดำเนินรายการ “สรกล อดุลยานนท์” หรือ “หนุ่มเมืองจันท์” ถาม “ชัชชาติ” ว่า ถ้าทำงานในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.กับนายกฯ ชื่อ เศรษฐา จะทำงานง่ายไหม…

“ชัชชาติ” เงียบไป 3 วิ ก่อนตอบว่า “คือนายกฯ จริง ๆ แล้ว ตามลำดับชั้น เป็นหัวหน้า ถ้าหัวหน้าดีก็ดี พูดตามหลักนะ”

สำหรับความหวัง ของ “ชัชชาติ” ย้ำคำเดิมว่า “กรุงเทพฯ ไม่แพ้เมืองไหนในโลก”

“เคยพูดเสมอว่าเหมือนกับเพชรที่ยังไม่เจียระไนขอให้เจียระไนนิดหน่อย ช่วยกันเปลี่ยน ถ้าเทียบในภูมิภาคเราขึ้นมายืนได้ไม่ยาก เรามีทุกอย่างพร้อม คนอยากจะมา มีเด็กรุ่นใหม่เก่ง ๆ เยอะแยะ อยู่ด้วยความหวัง ลดความทะเลาะ ลดความเกลียดชัง ลดความขัดแย้ง รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เชื่อว่าเราสามารถสร้างกรุงเทพฯ ให้ไม่แพ้เมืองไหนในโลกนี้ได้”

“เศรษฐา” พูดในประเด็นเดียวกันว่า ประเทศไทยคนมองในแง่ไม่มีความหวัง ไม่มีแรงบันดาลใจก็มองได้ แต่ปัญหาที่ถูกหยิบยก บางเรื่องบั่นทอนพอสมควร แต่เราเองควรจะเข้าใจว่าประเทศไทยมีดีๆ อยู่เยอะ เรื่องบุคลากร เด็กรุ่นใหม่ ที่ตั้งภูมิศาสตร์ของเรา การที่เรามีอาหารอยู่ได้เองไม่ต้องพึ่งประเทศอื่น เพียงแต่เราต้องการนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐให้เขาสร้างความหวังขึ้นมา ถ้าเป็นอะไรจับต้องไม่ได้ ลม ๆ แล้ง ๆ การเดินหน้าต่อไปก็เหนื่อย

ไม่ได้ฝักใฝ่การเมือง การเลือกตั้งครั้งต่อไปเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทยได้ ลืมกติกาที่เราต้องอยู่กับมันไปว่าจะถูกหรือไม่ถูก แต่ผมเชื่อว่าพลังมวลชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ถ้าชอบคนปัจจุบันอยู่ก็ต้องเลือกเขา ถ้าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ก็ไปเลือกพรรค หรือคนที่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ อย่าหมดหวัง อย่าหมดกำลังใจ

“เพราะโครงสร้างของประเทศไทยถือว่าเราอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก เราเหนือกว่าประเทศอื่นเยอะ เรื่องผู้นำเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ว่าฯ กทม. แสดงออกให้เห็น 1 เดือนที่ผ่านมา เป็นทั้งแรงบันดาลใจ และความหวังของคนทั้งประเทศ”