เบื้องหลังตั้ง สมช.แก้วิกฤตพลังงาน-อาหาร ตัดไฟชุมนุมประท้วง ลัดวงจรความมั่นคง

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค.ชุดเล็ก
พล.อ. สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.

พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สั่งการ-มอบหมายให้ “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ” รับหน้าสื่อ-รับมือวิกฤตความมั่นคงทางพลังงาน-อาหาร คำถามตัวโต คือ “ผิดฝาผิดตัว”

ทว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไว้ใจ-เชื่อมือให้ “เลขาธิการ สมช.” มารับงานใหญ่-งานยากที่เป็น “เผือกร้อน”

“เลขาธิการ สมช.” คือ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ “ศปก.ศบค.” เป็นแกน-กลั่นกรองข้อเสนอจากหมอ-เอกชน-ประชาชน ก่อนถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สวมหมวกผู้อำนวยการ ศบค.

ยิ่งปรากฏการณ์ “โยนกันไปโยนกันมา” ระหว่างกระทรวงพลังงาน ที่รับผิดชอบ-แก้ปัญหาราคาน้ำมันขึ้นสูง กับกระทรวงพาณิชย์ ที่ดูแลเรื่องการควบคุมราคาสินค้า-ราคาแพง โดยเฉพาะอำนาจในการกำหนดค่าการกลั่น-กำไร 6 โรงกลั่น

สุ่มเสี่ยงที่จะเกิด “ศึกในพรรคร่วมรัฐบาล” กลายเป็นเหตุการณ์ซ้ำรอย เมื่อครั้งการแก้ไขปัญหาโควิด-19 จนพล.อ.ประยุทธ์ต้องทุบโต๊ะ-ยึดอำนาจกระทรวงสาธารณสุข-กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดตลาด

“สถานการณ์คงไม่สิ้นสุดในระยะเวลาอันใกล้ จะให้มีการประชุมร่วมกัน หารือ ในเรื่องของการเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ตามสมมุติฐาน หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ จะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้มีปัญหาในเรื่องวินัยการเงินการคลังต่อไปในอนาคต จึงต้องเตรียมแผนความพร้อมไว้ ทั้งมิติทางด้านพลังงาน มิติทางด้านอาหาร มีผลกระทบทั้งสิ้น จึงต้องวางแผนระยะยาว” พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมาตรการช่วยเหลือและลดภาระประชาชนจากผลกระทบราคาพลังงานเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565

สำทับด้วยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงคำปรารภ-ข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ ในที่ประชุม ครม.ในวันเดียวกัน ว่า ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน นายกรัฐมนตรีเตรียมการมอบหมายให้ สมช. หารือเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงานและอาหาร เพื่อเตรียมแผนเผชิญเหตุ เนื่องจากจะเป็นประเด็นสำคัญของไทยและโลก หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

กระแสตีกลับเชิงปรามาสรวดเร็ว พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการ สมช. จึงเปิดหน้า-หน้าตึกแดง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติทันควัน

“สมช.มาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร ผมทำงานภายใต้ สมช. ผมเป็นเลขาฯ สมช. และเป็นประธานคณะกรรมการเตรียมพร้อมแห่งชาติ ไม่ว่าจะเกิดประเด็นอะไรที่กระทบความมั่นคง คณะกรรมการชุดนี้สามารถหยิบยกขึ้นมาดำเนินการได้ อนาคตอาจมีการตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อติดตามและทำข้อเสนอให้รัฐบาล ส่วนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 จะใช้เมื่อมีความจำเป็นและน่าจะอยู่ในแผน”

เมื่อสแกนโครงสร้าง-อำนาจและหน้าที่ ของ “คณะกรรมการเตรียมพร้อมแห่งชาติ” ที่มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ

กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน

ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เสนาธิการทหาร เสนาธิการทหารบก เสนาธิการทหารเรือ เสนาธิการทหารอากาศ เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

เจ้ากรมการสรรพกำลังกลาโหม เจ้ากรมยุทธการทหาร เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหาร อธิบดีกรมทางหลวง อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนส่วนราชการหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พิจารณา

ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมและการป้องกันประเทศ (กรรมการและเลขานุการ) นักวิเคราะห์นโยบายและแผนสำนักยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมและการป้องกันประเทศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คนที่ 1) และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมและการป้องกันประเทศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คนที่ 2)

อำนาจและหน้าที่ 1.ประเมิน วิเคราะห์ สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงและนำไปสู่วิกฤตการณ์ระดับชาติ ซึ่งเป็นการกระทำจากมนุษย์หรือจากภัยธรรมชาติ ภัยคุกคามด้านการทหาร สถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อการป้องกันประเทศ และความมั่นคงเกี่ยวกับฐานทรัพยากร รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

2.เสนอแนะ จัดทำนโยบาย ติดตาม ประเมินผล พัฒนา และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ แผนบริหารวิกฤตการณ์ และแผนผนึกกำลังและทรัพยากรเพื่อการป้องกันประเทศ รวมทั้งยุทธศาสตร์หรือแผนที่เกี่ยวข้อง

3.เสนอแนะแนวทาง มาตรการ อำนวยการ และประสานการปฏิบัติตามนโยบาย ยุทธศาสตร์หรือแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4.พัฒนาระบบกลไกและแผนการบริหารจัดการภาครัฐในภาวะวิกฤต เพื่อให้ครอบคลุมในด้านการเตรียมพร้อมด้านทรัพยากร ด้านการป้องกัน การแก้ไข การฟื้นฟู และการประสานเชื่อมโยงระบบบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

5.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความจำเป็น และ 6.ดำเนินการอื่นตามที่ประธานหรือสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่ง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 ที่มีเลขาธิการ สมช.เป็นสมาชิกและเลขานุการ

ขณะที่ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่ “อยู่ในแผน” เร่งด่วน-ระยะกลาง-ระยะยาว ที่ “พล.อ.สุพจน์” เล็งเป้า-ปักหมุดไว้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 มี พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) และมีเลขาธิการ สมช.เป็นกรรมการ

แหล่งข่าวระดับสูงทำเนียบรัฐบาลวิเคราะห์เหตุผล-เบื้องหลัง “ทหารนำเศรษฐกิจ” ว่า เนื่องจากความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงทางอาหารเกี่ยวข้องกันทั้งหมด อาจจะต้องมีเจ้าภาพ คือ สมช. และส่งการดำเนินการเรื่องทางแก้ไขเป็นเรื่องของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือมีหน้าที่โดยตรง

“ถ้ามีเรื่องที่เกี่ยวข้องกันทั้งความมั่นคง พลังงานและอาหารอาจจะต้องความมั่นคงนำ แก้ปัญหาในเชิงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ไม่ให้นำไปสู่โมเดลเหมือนในต่างประเทศที่มีการชุมนุมประท้วง”

หากเทียบโครงสร้างกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559

และคณะกรรมการความมั่นคงระดับชาติ 3 คณะ ได้แก่ กอ.รมน. สภาความมั่นคงแห่งชาติ และคณะกรรมการเตรียมความพร้อมแห่งชาติ ล้วนแล้วแต่มี “เลขาธิการ สมช.” เป็นแกนสำคัญโดยตำแหน่งในการรักษาความมั่นคง

เมื่อปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องอาจลุกลามนำไปสู่การชุมนุม-ประท้วง จนกระทบต่อความมั่นคง-เสถียรภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เลขาธิการ สมช. จึงต้องยื่นมือมานั่งบน “หัวเรือใหญ่” อย่างปฏิเสธไม่ได้