บริษัทน้ำมันต่อรองค่าการกลั่น บี้ ปตท.เฉือนกำไรโรงแยกก๊าซ

โรงกลั่น

รัฐสรุปไม่ลงบีบ “กำไรส่วนเกิน” จากค่าการกลั่น กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันรับไม่ได้กับเงินนำส่งเข้ากองทุนสูงถึงเดือนละ 8,000 ล้านบาทยาว 3 เดือน หวั่นกระทบกับกำไรสุทธิ โรงกลั่นต่อรองยื่นตัวเลขค่ากลั่นใหม่ ขณะที่กองทุนน้ำมันฯติดลบใกล้ 100,000 ล้าน สุดท้ายบีบโรงแยกก๊าซ ปตท.ขอ 1,000 ล้านบาทต่ออายุกองทุน พร้อมกด “ค่าการตลาด” เหลือ 1.40 บาท/ลิตร

ใกล้จะถึงกำหนดเส้นตายภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ที่ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะต้องมี “แหล่งเงินใหม่” ไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อที่กองทุนจะคงความสามารถในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกินกรอบที่ลิตรละ 35 บาท ตามนโยบายของรัฐบาล

โดย 1 ในวิธีการที่จะหาเงินเข้ามานั้นก็คือ ความพยายามที่จะนำสิ่งที่เรียกว่า “ส่วนต่างกำไรที่สูงกว่าปกติ” ของ “ค่าการกลั่นน้ำมัน (Gross Refinery Margin-GRM)” ซึ่งเป็นอัตราความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นของโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศจำนวน 6 แห่ง นำเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯเป็นระยะเวลา 3 เดือน

เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะมีเงินส่วนนี้ส่งให้กองทุนน้ำมันฯได้ เดือนละ 8,000 ล้านบาท หรือเท่ากับใน 3 เดือนข้างหน้า กองทุนน้ำมันฯจะได้รับเงินประมาณ 24,000 ล้านบาท เท่ากับยอดเงินกู้ที่กองทุนพยายามที่จะขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อรักษาสภาพคล่องของกองทุนพอดี

กดค่าการตลาดเหลือ 1.40 บาท

สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานภายหลังการประชุม ครม.วันที่ 21 มิถุนายนสิ้นสุดลงว่า ที่ประชุมได้รับทราบมาตรการขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาติให้ “นำส่งกำไรส่วนหนึ่ง” จากค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลและเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤตราคาน้ำมันแพงเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเงินในส่วนของน้ำมันดีเซลจะนำไปลดภาระการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือใช้บริหารราคาน้ำมันดีเซลในประเทศและเงินในส่วนของน้ำมันเบนซินนำไปลดราคาขายปลีกในประเทศ

โดยกระทรวงพลังงานยังอยู่ระหว่างการหารือกับกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ในแนวทางที่จะดำเนินการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป พร้อมทั้งขอความร่วมมือ บมจ.ปตท. ให้นำส่งกำไรส่วนหนึ่งของโรงแยกก๊าซธรรมชาติเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณ 500-1,000 ล้านบาทต่อเดือน (1 ก.ค.-30 ก.ย. 65)

นอกจากนี้ยังมีการขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันคง “ค่าการตลาด” น้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร ระยะเวลา ก.ค.-ก.ย. 65 จากค่าการตลาด (marketing margin) ปัจจุบันอยู่ที่ลิตรละ 2.1718 บาท หรือเพิ่มขึ้นมาจากวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ค่าการตลาดอยู่ที่ 0.8249 บาท/ลิตร ส่วนในกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศยังคงสูงเกินกว่าราคาที่กำหนดไว้ที่ 35 บาท/ลิตร รัฐบาลจะอุดหนุนราคาส่วนเพิ่มร้อยละ 50 ระยะเวลา ก.ค.-ก.ย. 2565 ต่อไป

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการหารือกับ 6 โรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศ (TOP-PTTGC-IRPC-BCP-SPRC-ESSO) เพื่อหาข้อสรุปในการนำ “กำไรส่วนเกิน” เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า ทุกฝ่ายกำลังคุยกันอยู่ ใช้เวลาหารือกัน ขอความร่วมมือกัน และจะยังคุยกันต่อเนื่องทั้งสัปดาห์ คาดว่าจะได้ข้อยุติภายในสัปดาห์นี้ รวมถึงตัวเลขจำนวนกำไรของโรงกลั่นที่จะนำเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย ซึ่งอาจจะน้อยกว่า 8,000 ล้านบาท

“บรรยากาศการหารือเป็นไปได้ด้วยดี ผู้ประกอบการเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้แทนกองทุนน้ำมันฯก็ได้ชี้แจงถึงสาเหตุและขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ และเมื่อได้ความร่วมมือที่ชัดเจนแล้วจะใช้วิธีไหน ส่วนจะเป็นวิธีการใดก็ต้องไปดูช่องทางกฎหมายว่าจะใช้ช่องทางใด ตอนนี้เรายังไม่อยากใช้อำนาจไปบังคับ เป็นเรื่องของความร่วมมือ ส่วนโจทย์ใหญ่คือ แผนระยะยาว ต้องไปดูว่าสาเหตุเป็นอย่างไร ตอนนี้เหลืออยู่ไม่กี่ตัวแล้วเหลือ น้ำมันดีเซลตัวเดียว ส่วนน้ำมันเบนซินเป็นไปตามราคากลไกตลาดิ นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงผลการหารือกับกลุ่มโรงกลั่น 6 แห่ง เบื้องต้นมีความเห็นพ้องในการตั้ง “ทีมงาน” ขึ้นมาหนึ่งคณะเพื่อเร่งตรวจสอบข้อกฎหมายอย่างรอบคอบ โดยโรงกลั่นทุกแห่งมีความตั้งใจที่จะให้ความร่วมมือ แต่เนื่องจากกลุ่มโรงกลั่นเป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หากดำเนินการไปแล้วอาจกระทบต่อผู้ถือหุ้น ดังนั้นการดำเนินการใด ๆ ต้องทำอยู่ในวิธีการหรือรูปแบบที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

ส่วนการคำนวณตัวเลข “ค่าการกลั่น” ตามสูตรที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ดำเนินการนั้น เป็นตัวเลขสถิติที่ใช้เป็นพื้นฐานข้อมูลอ้างอิงตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค. 2565 ค่าการกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 3.27 บาท ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งทางโรงกลั่นก็จะมีข้อมูลและข้อเท็จจริงว่าทำอะไร อย่างไร มาชี้แจง ส่วนกระทรวงพลังงานจะขอแบ่งอย่างไรต้องขอเวลาหารือให้ได้ข้อสรุปอีกครั้ง โดยล่าสุด สนพ.ได้คำนวณค่าการกลั่นระหว่างวันที่ 1-20 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ 6.35 บาท/ลิตร หรือทะลุ 6 บาทไปแล้ว จากเดิมที่อยู่ระดับ 5.80 บาท/ลิตร (1-16 มิถุนายน 2565)

โรงกลั่นไม่รับวิธีคำนวณค่ากลั่น

แหล่งข่าวในบริษัทผู้ค้าน้ำมันกล่าวถึงการหารือเรื่องการนำกำไรส่วนเกินของค่าการกลั่นส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า เป็นการหารือระหว่างกระทรวงพลังงาน กับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เบื้องต้นทั้ง 6 โรงกลั่นน้ำมันซึ่งประกอบไปด้วย โรงกลั่นน้ำมันไทยและต่างชาติ “ยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐบาล” แต่ “ตัวเลข” กำไรส่วนเกินที่จะจัดเก็บเข้ากองทุนเดือนละประมาณ 8,000 ล้านบาทนั้น กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันมีความเห็นว่า “สูงเกินไป” และ “ปฏิเสธ” วิธีการคำนวณกำไรส่วนเกินของกระทรวงพลังงานที่พยายามจะกำหนด กำไรส่วนเกินเป็นตัวเลขเดียวกันที่ทุกโรงกลั่นน้ำมันยอมรับได้

“โรงกลั่นน้ำมันให้เหตุผลว่า ความสามารถในการทำกำไรจากการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมันแต่ละโรงนั้นไม่เท่ากัน กำลังการกลั่นก็แตกต่างกัน ผลิตภัณฑ์น้ำมันที่กลั่นออกมาได้ก็แตกต่างกัน การที่รัฐบาลจะเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนสูงถึงเดือนละ 8,000 ล้านบาท หรือ 3 เดือนอยู่ที่ประมาณ 24,000 ล้านบาทนั้น โรงกลั่นน้ำมันในกลุ่ม ปตท. (กำลังการกลั่นรวม 890,000 บาร์เรล/วัน) อาจจะนำส่งไหว แต่โรงกลั่นน้ำมันต่างชาติ (352,000 บาร์เรล/วัน) อาจจะนำส่งไม่ไหว เพราะจะกระทบกับกำไรสุทธิของบริษัทในช่วงปลายปีมาก ดังนั้นตัวเลขที่จะนำส่งจึงยังไม่ได้ข้อยุติ ทางกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันจะขอกลับไปหารือตัวเลขที่เหมาะสมอีกครั้ง แต่จะต้องได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้” แหล่งข่าวกล่าว

ค่ายน้ำมันต่างชาติแบ่งรับแบ่งสู้

แหล่งข่าวจากวงการโรงกลั่นกล่าวว่า โรงกลั่นต่างชาติแบ่งรับแบ่งสู้ เพราะไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่นไทยหรือเทศจะทำตามไม่ได้หากไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งขณะนี้ต้องรอดูว่ากระทรวงพลังงานจะหาข้อสรุปเรื่องกฎหมายและออกประกาศอย่างไร และเรตที่คำนวณออกมาควรตามความเหมาะสม ซึ่งแต่ละโรงกลั่นมีอัตราค่าการกลั่นไม่เท่ากัน เช่น บางโรงกลั่นมีการประกัน บางโรงไม่มีประกัน

และที่สำคัญตัวเลขที่เป็นสมมุติฐานของ สนพ.ที่คำนวณเป็นสูตรมานั้นยังไม่มีการคำนวณในส่วนของ “ค่าพรีเมี่ยม” ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหนึ่งเข้าไปด้วย อีกทั้งในกระบวนการกลั่นจะมีสินค้าบายโปรดักต์ที่มีราคาแตกต่างกัน ต้องเอามาถัวเฉลี่ย เพราะบางสินค้า เช่น แก๊ส กลั่นออกมาจำหน่ายตอนนี้ก็ยังขาดทุน ต้องเฉลี่ยไปด้วย

ในขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องกลับไปหาวิธีการนำส่งเงินจากโรงกลั่นน้ำมันเข้ากองทุน จะใช้วิธีการใดที่ไม่ขัดกับ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมไปถึงประมาณการ “รายรับ” ที่จะเข้ามาในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ หากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐได้ด้วย

กองทุนติดลบใกล้แสนล้าน

สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สุทธิล่าสุด ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2565 ปรากฏกองทุนน้ำมันฯติดลบเพิ่มขึ้น -96,598 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการติดลบจากบัญชีน้ำมัน -59,692 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG -36,906 ล้านบาท และหากยังไม่มีแหล่งเงินใหม่ให้กองทุนน้ำมันฯ คาดว่าสิ้นเดือนมิถุนายน กองทุนจะติดลบทะลุ -100,000 ล้านบาท แน่นอน

“จากราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 110-120 เหรียญ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ประมาณ 170 เหรียญบาร์เรล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องใช้เงินอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกินกรอบ 35 บาท/ลิตร เดือนละไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท หรือเท่ากับความต้องการเงินกู้จากสถาบันการเงินจะถูกใช้ได้เพียงเดือนเดียว

ดังนั้นความหวังของกองทุนน้ำมันฯที่จะหนีจากการขาดสภาพคล่องในขณะนี้ก็คือ การนำส่งเงินจากกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศ ที่เบื้องต้นประมาณการไว้ว่าจะได้เดือนละ 8,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ไม่แน่ว่าโรงกลั่นน้ำมันจะให้ความร่วมมือที่จะส่งเงินเข้ากองทุนสูงขนาดนี้หรือไม่

ประกอบกับโรงกลั่นเองก็กังวลว่า มาตรการขอความร่วมมือนี้จะสิ้นสุดภายในระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้านี้หรือไม่ เพราะหากยืดเยื้อไปถึงสิ้นปี โดยที่ไม่มีสถาบันการเงินแห่งใดให้เงินกู้กับกองทุน มีความเป็นไปได้ว่าโรงกลั่นน้ำมันอาจจะต้องนำส่งเงินจากกำไรส่วนเกินของตัวเองสูงถึง 48,000 ล้านบาท เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่โรงกลั่นน้ำมันรับไม่ได้กับจำนวนเงินที่จะต้องนำส่งให้กองทุนน้ำมันฯ” แหล่งข่าวกล่าว

ปตท.ข้องใจค่าการกลั่น

มีรายงานข่าวจากบริษัท ปตท.เข้ามาว่า “ตัวเลขค่าการกลั่น” ที่มีการพูดถึงกันในขณะนี้นั้น “ยังไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้อง” โดยเกณฑ์การคำนวณค่าการกลั่นในกระบวนการกลั่นจะมีผลิตภัณฑ์บายโปรดักต์หลายอย่าง ซึ่งนำออกมาจำหน่ายราคาถูกกว่าน้ำมัน ดังนั้นจะต้องแยกออกมาคำนวณถัวเฉลี่ย เช่น น้ำมัน 1 ลิตร กลั่นออกมาจะได้เบนซิน 30% ดีเซล 20% น้ำมันเตาเท่าไร แล้วขายได้เท่าไร ถัวกันแล้วจึงค่อยมาลบกับน้ำมันดิบอีกที

อีกทั้งแต่ละโรงกลั่นยังมีเทคโนโลยีและประสิทธิภาพในการกลั่นที่แตกต่างกัน มีการใช้น้ำมันที่มีสเป็กแตกต่างกัน และมีต้นทุนในการกลั่นแตกต่างกัน ดังนั้น อัตราค่าการกลั่นจึงไม่ใช่สูงอย่างที่มีการกล่าวถึง และหากหักต้นทุนค่าใช้จ่าย ๆ ต่างออกจะพบว่า ต้นทุนต่างปรับสูงขึ้น

“การคำนวณค่าการกลั่นที่ออกมาสูงกว่า 10 เท่า โดยใช้ฐานเปรียบเทียบจากปีที่ต่ำสุดกับปีที่สูงสุดจึงมีช่วงห่างมาก ในช่วงที่ผ่านมาช่วงโควิด-19 ธุรกิจโรงกลั่นมีทั้งช่วงที่ค่าการกลั่นตกต่ำลงมาก เจอกับภาวะขาดทุน และในยามที่เกิดภาวะไม่ปกติ ในขณะนั้นธุรกิจก็แบกรับความเสี่ยงดังกล่าวไว้”

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงกลั่นยังได้มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างเช่น ไทยออยล์ มีโครงการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในการผลิตน้ำมันยูโร 5 อีกเป็นหลักแสนล้านบาท ส่วนทาง ปตท.มีมาตรการช่วยเหลือทั้ง LNG พ่อค้าหาบเร่แผงลอย NGV สำหรับรถแท็กซี่และโครงการอื่น ๆ อีกหลายด้าน เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้บริโภค กลุ่มเปราะบาง

ส่วนคาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันมองว่า ราคาน้ำมันดิบจะสูงกว่าระดับ 100 เหรียญ/บาร์เรล โดยในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงจากเรื่องค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งขณะนี้อ่อนลงมาถึง 35 บาท/เหรียญแล้ว