เซ็นทรัลพัฒนา เดินตามแผน 5 ปี  ทุ่ม 1.4 หมื่นล้าน  คลอดมิกซ์ยูสน้องใหม่ ‘ เซ็นทรัล นครสวรรค์ – เซ็นทรัล นครปฐม ’ รองรับเมืองรองเติบโต

หลังจาก บริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN โบกธงชัยเปิดตัวอสังหาริมทรัพย์รูปแบบมิกซ์ยูสในพื้นที่เมืองรองที่มีศักยภาพเติบโตสูง เพื่อรองรับการใช้ชีวิตของทุกคน ทั้ง  เซ็นทรัล โคราช, เซ็นทรัล อยุธยา, เซ็นทรัล ศรีราชา และเซ็นทรัล จันทบุรี ซึ่งทุกที่ล้วนประสบความสำเร็จอย่างสูง 

ช่วงโค้งสุดท้ายของไตรมาสนี้ CPN ก็ได้ฤกษ์ตัดริบบิ้นโครงการมิกซ์ยูสยักษ์ใหญ่ ได้แก่ เซ็นทรัล นครสวรรค์ และ เซ็นทรัล นครปฐม ที่รวมทั้งศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม โรงแรม บ้านจัดสรร โรงพยาบาล Urban Park ไว้ครบ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในพื้นที่ รวมทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ

เซ็นทรัล นครสวรรค์ และ เซ็นทรัล นครปฐม นับเป็น 2 โครงการมิกซ์ยูสใหม่ล่าสุด ที่จะเข้ามาเสริมศักยภาพเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเมืองรอง สร้างแลนด์มาร์กใหม่ใจกลางเมือง ด้วยงบลงทุน 14,000 ล้านบาท วางแผนเปิดให้บริการภายในไตรมาส 1-2 ปี 2567 

นับเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ใหญ่ฉลอง 40 ปี CPN ตามแผนธุรกิจ 5 ปี (2565-2569) ที่วางงบลงทุนไว้ราว 120,000 ล้านบาท ตามแผน ‘Retail-Led Mixed-Use Development’ พร้อมทั้งขับเคลื่อนสู่อนาคตภายใต้เจตจำนงของแบรนด์ ‘Imagining better futures for all’ อันเป็นการตอกย้ำฐานะความเป็นดีเวลลอปเปอร์เบอร์หนึ่งของไทย

ย้ำบทบาทการเป็น Place Maker สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

การเปิดเกมรุกของ CPN ครั้งนี้ ย้ำชัดถึงเจตจำนงของแบรนด์ที่กางแผนรุกการลงทุน 50 โครงการ ทั้งคอมมูนิตี้ มอลล์ 17 แห่ง ที่อยู่อาศัยกว่า 70 โครงการ อาคารสำนักงาน 13 โครงการ และโรงแรมรวม 37 โครงการ กระจายครอบคลุม 30 จังหวัดในไทย และต่างประเทศ

ชนวัฒน์ เอื้อวัฒนสกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและโครงการ CPN เผยว่า การขยาย Retail-Led Mixed-Use Development เป็นการยกระดับการใช้ชีวิตของผู้คน ชุมชน และเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ ซึ่งมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างความเจริญให้เมืองที่ CPN ได้เข้าไปพัฒนาพื้นที่ ทั้งยังเป็นการสร้างความเจริญด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศได้อีกด้วย

นอกจากนี้ การเปิดตัว 2 โครงการมิกซ์ยูสในพื้นที่ ‘2 นคร’ ครั้งนี้ ยังเป็นการสร้างและยกระดับโครงการมิกซ์ยูสโมเดลใหม่ไปอีกขั้น ทั้งด้านการพัฒนาโครงการขนานใหญ่ การเชื่อมโยงกับชุมชน และการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ชนวัฒน์ เผยด้วยว่า การยกระดับคุณภาพชีวิต ภายใต้การขยาย Retail-Led Mixed-Use Development ของ CPN จะสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายองค์ประกอบ คือ

New Frontier of Mixed-Use Development การใช้แนวทางที่ใหม่ ด้วยการผสมผสานความยั่งยืน ที่เป็นมาตรฐานของการพัฒนาโครงการและการสร้างแผนแม่บท ที่เชื่อมโยงไปสู่ Neighbouring Component, แลนด์มาร์กสำคัญในเมือง และชุมชนโดยรอบ

Urban Township ยกระดับเมืองศักยภาพอย่างนครสวรรค์ ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและประตูสู่ภาคเหนือ และนครปฐม เป็น Center of Satellite City รองรับการขยายตัวของเมือง โดยทั้งสองโลเกชัน นับเป็นการบุกเบิกโครงการมิกซ์ยูสแห่งอนาคต ที่ใส่ใจทั้ง health & wellness, multi-generation lifestyles, nature, art & cultural รวมไปถึงการเปิดพื้นที่เพื่อชุมชน เป็นพื้นที่ส่วนรวมมากขึ้น

Customer & Tenant Centric การใช้กลยุทธ์การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ทั้งจาก The 1 และการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน สู่การสร้างสรรค์โครงการ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้ในเชิงลึก ทั้งช่วยให้พันธมิตรธุรกิจนำเสนอสินค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ขยายโอกาสสร้างความเติบโตทั่วประเทศ ที่สำคัญยังมีการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ ที่สอดคล้องไปกับโครงการ

‘เซ็นทรัล นครสวรรค์’ มิกซ์ยูสใจกลางเมืองปากน้ำโพ

เริ่มด้วยโปรเจกต์แรกกับการบุกทำเลใจกลางเมืองนครสวรรค์ สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันของคนหลายเจเนอเรชัน ด้วยมูลค่าโครงการ 5,800 ล้านบาท บนที่ดิน 42 ไร่ ประกอบด้วยศูนย์การค้า GFA 76,000 ตารางเมตร เปิดให้บริการช่วงไตรมาส 1 ปี 2567, โรงแรม 200 ห้อง, คอนโดมิเนียม และ Urban Park ขนาดใหญ่ 2 ไร่ โดยตัวโครงการจะครอบคลุมประชากรกว่า 1 ล้านคน รวมประชากรในนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ กำแพงเพชร, อุทัยธานี, ชัยนาท, ลพบุรี และพิจิตร

ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด CPN ให้เหตุผลของการปักหมุดโลเกชันเมืองปากน้ำโพของเซ็นทรัล นครสวรรค์ ว่า จังหวัดนครสวรรค์นับเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนล่าง เป็นประตูเชื่อมสู่ภาคเหนือ เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจแนวเหนือใต้ และยังเป็นฮับของการขนส่ง ทั้งรถไฟสายต่างๆ ซึ่งจากจุดนี้จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะวัฒนธรรมไทย-จีน ที่มีประวัติศาสตร์และมีชุมชนชาวจีนใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง GPP อยู่ที่ 120,000 บาทต่อปี 

สำหรับคอนเซ็ปต์การดีไซน์เซ็นทรัล นครสวรรค์ อิศเรศ จิราธิวัฒน์ Head of Food and Fashion Partner Management บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ให้ข้อมูลว่า การดีไซน์ภายในศูนย์การค้าเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมไทย-จีน เข้ามาเป็นส่วนต่างๆ 

การออกแบบแต่ละโซนเป็นแบบ Holistic View เชื่อมโยงแต่ละโซนเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ทั้ง Chinese Village ที่ประกอบด้วย Food Destination, Chinese Market, Authentic Café, Supermarket Retail Magnet: Synergy within Central Group: Central Department Store, Supersports, PowerBuy, Tops, B2S, Officemate และ go! WOW 

“เซ็นทรัล นครสวรรค์ จะเป็นมากกว่าเมืองผ่าน แต่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ผู้คนต้องมาเยือนอย่างแน่นอน” อิศเรศ ย้ำ 

‘เซ็นทรัล นครปฐม’ สู่ศักยภาพ Smart City & Eco Industrial Town 

อีกหนึ่งเมกะมิกซ์ยูสบนทำเลศักยภาพ ที่มีมูลค่าโครงการ 8,200 ล้านบาท บนที่ดินเกือบ 100 ไร่ ประกอบด้วยศูนย์การค้า GFA 69,000 ตารางเมตร โรงแรม 200 ห้อง คอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร และ Urban Park ขนาด 4 ไร่ โดยศูนย์การค้าเคาะช่วงเปิดให้บริการในไตรมาส 2 ปี 2567 

หากซูมอินแล้ว จะพบว่าบนทำเลศักยภาพจังหวัดนครปฐมนี้ ยังเป็นที่ตั้ง ‘เซ็นทรัล ศาลายา’ ที่เปิดให้บริการเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นจุดชี้ให้เห็นว่า นครปฐมมีศักยภาพมากเพียงพอ ที่จะมีเซ็นทรัลตั้ง 2 ศูนย์การค้าได้

ชนวัฒน์ ย้ำถึงเรื่องนี้ว่า จากการศึกษาของ CPN พบว่า นครปฐมเป็นจังหวัดที่มีแนวโน้มการเติบโตและศักยภาพด้านเศรษฐกิจที่มากเพียงพอต่อการสร้างเมืองใหม่ และเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตขนาดใหญ่ในไลฟ์สไตล์ใหม่ ภายใต้ความยั่งยืนและการสร้างสรรค์ โดยโครงการจับกลุ่มคนเมือง คนรุ่นใหม่ ครอบคลุมประชากร 1 ล้านคน และยังขยาย New Catchment ไปราชบุรีและกาญจนบุรีได้อีกด้วย 

ด้าน ดร.ณัฐกิตติ์ พูดถึงสาเหตุที่ยึดเกตเวย์นครปฐมอีกแห่งหนึ่งว่า ศักยภาพของทำเลแห่งนี้เป็นเมืองที่เชื่อมต่อไปยังจังหวัดใกล้เคียง คือ ราชบุรีและกาญจนบุรี อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่กำลังมุ่งสู่สมาร์ตซิตี้ และเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่สร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และสังคมชุมชน

นอกจากนี้ นครปฐมยังเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และธรรมชาติ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของเมืองเก่า ความรุ่งเรืองของอู่อารยธรรม และแลนด์มาร์กสำคัญอย่างพระปฐมเจดีย์ โครงการเซ็นทรัล นครปฐม จึงเข้ามาต่อยอดความเป็นเมืองที่มีเสน่ห์และมีเรื่องราว และเป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติถึง 35-40% ของพื้นที่สีเขียวทั้งหมดของจังหวัด โครงการเซ็นทรัล นครปฐม ยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ให้กับเมืองด้วย

“ด้วยตัวเลขรายได้ที่สูงติดอันดับ 10 จังหวัด ที่ GPP สูงกว่า 375,000 บาท การเติบโตทางเศรษฐกิจ, รายได้ครัวเรือนสูง เติบโตจากปีที่แล้วถึง 5% อยู่ที่ประมาณ 34,000 บาทต่อเดือน ทั้งยังครอบคลุมประชากรกว่า 1 ล้านคน และยังสามารถเชื่อมผู้คนได้หลากหลาย จึงมั่นใจว่าพื้นที่แห่งนี้จะเป็นหนึ่งหมุดหมายที่ผู้คนเลือกมาอย่างแน่นอน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด CPN ย้ำ

สำหรับร้านค้าในเซ็นทรัล นครปฐม นั้น อิศเรศให้รายละเอียดว่า จะจัดทัพพันธมิตรธุรกิจในกลุ่มเซ็นทรัล ได้แก่ B2S, Office Mate, PowerBuy, Tops Market, Supersports, go! WOW มาไว้ครบ 

ทั้งยังมีโซนไฮไลต์อื่นๆ อาทิ Pathom Landmark: สะท้อนความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ของคนนครปฐม, Pathom Samosorn: Authentic Lifestyle Food Destination กับพื้นที่ Semi-Outdoor Market และ Pathom Club เป็น Sport Fashion Destination ประกอบด้วยสินค้า Sport Fashion, Gadget, Fitness และ Running Track ที่เชื่อมต่อกับโซน Park ที่อยู่ใจกลางโครงการ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตของทุกคนได้อย่างครบถ้วน

ถึงจุดนี้ มั่นใจได้ว่า เซ็นทรัล นครสวรรค์ และ เซ็นทรัล นครปฐม ภายใต้การพัฒนาของ CPN จะเป็นหมุดหมายแห่งใหม่ ที่ไม่เพียงเป็นแลนด์มาร์กของ ‘2 นคร’ เท่านั้น แต่ยังมีส่วนยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจภาพรวมของเมืองรองให้เติบโตมากขึ้นได้อีกด้วย