ธปท.เกาะติดดีล SCB-บิทคับ เปิด 4 เกณฑ์คุมโฮลดิ้งการเงิน

SCBS BITKUB

 

แบงก์ชาติชี้โจทย์ท้าทายกำกับดูแลสถาบันการเงินยุคโลกเปลี่ยน จับตาหลายแบงก์ทยอยปรับโครงสร้างตั้ง “โฮลดิ้ง” แตกบริษัท ขยายการลงทุนหาน่านน้ำใหม่ ธปท.เร่งปรับตัวให้เท่าทัน เผยยึดหลักกำกับความเสี่ยง 4 ประเด็นหลัก ต้องไม่มีการส่งผ่านความเสี่ยงสู่ธนาคารพาณิชย์ พร้อมเกาะติดข้อมูลดีล SCB ประกาศซื้อหุ้น “บิทคับ” แจงยังไม่ได้รับเรื่องยื่นขออนุญาต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เช่นกรณี ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีการปรับโครงสร้างตั้ง SCBX เป็นกลุ่มธุรกิจการเงิน (holding company) รองรับการแตกธุรกิจ แสวงหาน่านน้ำใหม่ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลก็จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เรวดเร็วของเทคโนโลยีและธุรกิจการเงิน

ธปท.รับมือกำกับ “ยานแม่”

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ปัจจุบันมีสถาบันการเงินปรับโครงสร้างเป็นลักษณะของ “โฮลดิ้ง คอมปานี” และมีอีกหลาย ๆ สถาบันการเงินก็กำลังรอดู เพราะโลกเปลี่ยนไป ความต้องการของระบบเศรษฐกิจการเงินเปลี่ยน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือองค์กรกำกับ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องก้าวตามให้ทัน

แม้ว่าการปรับโครงสร้างเป็นโฮลดิ้ง เพื่อแยกธุรกิจการเงินที่อยู่ในธนาคาร ออกมาเป็นบริษัทช่วยเพิ่มความคล่องตัว อย่างไรก็ดี ธปท.ยังคงมีหน้าที่ดูแลและตรวจสอบบริษัทโฮลดิ้ง และทุกบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินตามหลักการ consolidated supervision

“เพียงแต่ที่ผ่านมา ธปท.อาจจะมองธนาคารพาณิชย์เป็นไข่แดงของกลุ่มธุรกิจ ทำให้วิธีการกำกับอาจจะเข้มข้นกว่า พี่น้องที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน จึงทำให้เกิดการตีความว่า ถ้าทำเป็นโฮลดิ้งแล้ว จะทำให้สามารถหลีกเลี่ยง หรือหย่อนเกณฑ์กำกับ ซึ่งจุดนี้ขึ้นอยู่กับ ธปท.จะมองว่าควรจะกำกับกลุ่มธุรกิจอย่างไร จะเข้มข้น หรือผ่อนคลาย ซึ่งจะต้องสอดรับกับเป้าหมายที่ ธปท.อยากเห็น”

แบงก์แตกบริษัท-แยกความเสี่ยง

ดร.รุ่งกล่าวว่า การที่สถาบันการเงินปรับโครงสร้างตั้งเป็นกลุ่มธุรกิจ โดยแยกธุรกิจในธนาคารออกมาเป็นบริษัทลูก ก็เพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ทำให้สามารถระบุระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ของแต่ละบริษัทได้ง่ายขึ้น ทั้งยังช่วยให้มองภาพผลประกอบการได้ชัดเจนขึ้น รวมถึงการดึงดูดพนักงานและให้ผลตอบแทน โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ร่มเดียวกันธนาคารพาณิชย์

“ถ้าเปรียบธนาคารพาณิชย์เสมือนช้าง ซึ่งมีกระต่ายอยู่ในนั้นก็มองไม่เห็น แต่พอดึงกระต่ายออกมา จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่ากระต่ายวิ่งเร็วขนาดไหน ทำให้ศักยภาพ และมูลค่าของกระต่ายมีความชัดเจนมากขึ้น โดดเด่นขึ้น เป็นการขยายธุรกิจโดยไม่ต้องซุกตัวในธนาคาร อย่างไรก็ตาม ในแง่ของอำนาจการกำกับของ ธปท.ยังมีเหมือนเดิม เพียงแต่ ธปท.จะกำกับกระต่าย เหมือนที่เคยกำกับช้างหรือไม่ เพราะถ้ากระต่ายไม่ได้รับเงินฝาก เงินฝากอยู่กับช้าง การกำกับก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน”

4 หลักการกำกับความเสี่ยง

ดร.รุ่งกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ ธปท.ต้องการคือ 1.เงินฝากยังต้องมั่นคง ธนาคารพาณิชย์ที่รับฝากเงินจึงต้องมั่นคง สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงิน ไม่ว่าจะจัดโครงสร้างแตกธุรกิจยังไง แต่ในส่วนธนาคารพาณิชย์จะต้องมั่นคง 2.ทำอย่างไรไม่ให้ความเสี่ยงจากตัวอื่น ๆ ผ่องถ่ายมาสู่ธนาคารพาณิชย์ที่รับเงินฝากโดยง่าย

“อย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท Card X (บัตรเครดิต) กับ SCB เป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการผ่านความเชื่อมโยงทางด้านการเงิน เช่น การกู้ยืมในกลุ่ม หรือความเชื่อมโยงทางด้านโอเปอเรชั่น เช่น การใช้ระบบไอทีร่วมกันหรือไม่ ต้องดูสิ่งเหล่านี้ว่าจะสะท้อนความเสี่ยงกลับมาที่แบงก์ได้หรือไม่ ถ้าสะท้อนกลับมาเยอะอาจจะต้องคุมเข้มหน่อย แต่ถ้าดูแล้วธุรกิจธนาคารไม่ได้รับผลกระทบก็ปล่อยให้วิ่งได้มากหน่อย เป็นต้น”

3.เรื่องการดูแลข้อมูลลูกค้าเป็นไปตามมาตรฐานที่ดี ลูกค้ามีทางเลือก และได้รับบริการอย่างเป็นธรรม (market conduct) ไม่เอารัดเอาเปรียบ และ 4.มีธรรมาภิบาลที่ดี เพราะความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่ลูก พี่น้อง เปลี่ยนไปแล้ว และที่สำคัญอีกอย่าง คือความสามารถของผู้บริหาร ทั้งที่อยู่ที่โฮลดิ้งอยู่ในแบงก์ และบริษัทลูกต่าง ๆ ต้องเหมาะสมกับธุรกิจที่จะไปดิจิทัลมากขึ้นด้วย

ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงินกล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นหลักการที่ต้องดู ที่อย่างน้อยกลุ่มธุรกิจการเงินต้องตอบคำถามเหล่านี้ แต่ไม่ได้บอกว่า ธปท.มีคำตอบในการกำกับทั้งหมดแล้ว

“ตอนนี้ธุรกิจมีการแยกช้างกับกระต่ายออกมา คำถามคือ ธปท.จะกำกับกระต่ายเข้มข้นแค่ไหน อาจจะไม่ได้เข้มข้นเท่าตอนที่อยู่ในแบงก์ เช่น กรณีเคทีซี เป็นบริษัทบัตรเครดิตก็จะเสรี เทียบกับธุรกิจบัตรเครดิต SCB ที่อยู่ในแบงก์ ซึ่งก็ถูกกำกับแบบเข้มเท่ากับแบงก์ แต่ตอนนี้ขอมาอยู่ในระดับเดียวกับเคทีซี แต่สมมุติเราบอกว่าที่ผ่านมากำกับธุรกิจบัตรเครดิตน้อยไป และตอนนี้ต้องการกำกับมากขึ้น เราก็ทำได้”

เกาะติดดีล SCB ซื้อบิทคับ

สำหรับกรณีธนาคารไทยพาณิชย์แจ้งว่า บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) จะเข้าซื้อบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ในสัดส่วน 51% ด้วยมูลค่าประมาณ 17,500 ล้านบาท ดร.รุ่งกล่าวว่า กรณีนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตอะไรมาที่ ธปท.จึงถือว่ายังไม่ได้อยู่ในกระบวนการพิจารณา ขณะที่ต้องยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีข่าวออกมา ทาง ธปท.ก็ได้สอบถามข้อมูลไป ซึ่งทางไทยพาณิชย์ก็ได้มาเล่าให้ฟังถึงแนวทาง และความสัมพันธ์ของทั้งสองคืออะไร และถึงที่สุดถ้าทางไทยพาณิชย์ยื่นมา ธปท.ก็ต้องมีการพิจารณาในหลักการทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมา ต้องไม่มีการส่งผ่านความเสี่ยงไปสู่แบงก์ในมิติต่าง ๆ ส่วนในแง่มูลค่าราคายังไม่ได้มีการพูดคุย ทางไทยพาณิชย์ระบุว่ายังอยู่ในขั้นตอนที่จะทำดีลดิลิเจนต์

“ความเสี่ยงของกรณีนี้ก็ขึ้นอยู่กับ ธปท.ว่า จะอนุญาตให้บิทคับสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งถ้าทำให้แบงก์เสี่ยงมากขึ้น ธปท.ก็ต้องมีวิธีการดูแลสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เสียไป ก็ต้องใส่กติกา กฎเกณฑ์อะไรเข้าไป ซึ่งถ้าเราใส่กฎกติกามากเกินไป บิทคับก็อาจจะไม่อยากอยู่กับเอสซีบีก็ได้”

สร้างสมดุลเทคโนฯ-ความเสี่ยง

ดร.รุ่งกล่าวด้วยว่า โจทย์ท้าทายการกำกับสถาบันการเงิน คือการหาสมดุลภายใต้เป้าหมายหลากหลาย โดยสถาบันการเงินต้องมีความมั่นคงไม่สุ่มเสี่ยงเกินไป คือ 1.ต้องเข้าใจความเสี่ยง ในโลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว ซึ่ง ธปท.จะคุมยังไงให้พอเหมาะพอดี ไม่ได้มากไปจนทำให้ไม่เกิดนวัตกรรมอันพึ่งควรเกิด และไม่น้อยไปจนเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อสิ่งที่ไม่ควรสุ่มเสี่ยง เช่น เงินฝาก เป็นต้น ขณะเกียวกันต้องเสริมสร้างความรู้ทางการเงินให้กับประชาชน เพราะโลกเปลี่ยนเร็วตกเป็นเหยื่อได้ง่าย เป็นอีกจุดที่ต้องทำคู่ขนาน

“กฎเกณฑ์การทำงานของ ธปท.ก็ต้องขยับทำงานให้เร็วขึ้น และความสามารถของคน (ability) คนของ ธปท.เองก็ต้องทำ และอีกส่วนหนึ่งก็คือประชาชนที่เราต้องอัพเกรดความรู้ความเข้าใจ ทำทุกอย่างด้วยความสมดุลภายใต้โลกที่เปลี่ยนเร็ว ถือเป็นความท้าทายมากให้เราก้าวตามโลกที่หมุนเร็วขึ้น” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงินกล่าว