ศุภลักษณ์ อัมพุช-ชฎาทิพ จูตระกูล ราชินีวงการค้าปลีก ปักธงดิจิทัลรีเทล

ศุภลักษณ์ ชฎาทิพ

“ค้าปลีก” หนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ช่วยผลักดันจีดีพีของประเทศ ด้วยมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท มีการจ้างงานแรงงานนับสิบล้านราย วันนี้การเติบโตแบบก้าวกระโดดของโลกดิจิทัล และการระบาดของโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ภาคค้าปลีกต้องเร่งปรับตัวครั้งสำคัญ

ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจครั้งสำคัญ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษถอดแนวคิดสุดเอ็กซ์คลูซีฟของ 2 ราชินีแห่งวงการค้าปลีกไทย “ศุภลักษณ์ อัมพุช” แม่ทัพหญิงแห่งเดอะมอลล์ กรุ๊ป และ “ชฎาทิพ จูตระกูล” หญิงเหล็กแห่งสยามพิวรรธน์ สองทัพหน้าผู้สร้างปรากฏการณ์สุดแปลกใหม่ ให้แก่วงการค้าปลีกของไทยตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา กับภารกิจใหม่นำธุรกิจ Go Digital ก้าวสู่ยุคใหม่ของค้าปลีกรับ “digital era”

ก้าวสู่เดอะมอลล์ยุคใหม่

จากจุดเริ่มต้นของเดอะมอลล์ เมื่อเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ผ่านร้อน ผ่านหนาว จนขึ้นแท่นหนึ่งบิ๊กเนมในแวดวงค้าปลีกไทย และกว่า 30 ปีของเดอะมอลล์ กรุ๊ป อยู่ภายใต้การคุมทัพของ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อก้าวสู่เดอะมอลล์ยุคใหม่ สู่การเป็น Future Retail ที่แผนงานตอนนี้ต้องมากกว่าการขยายศูนย์การค้าในรูปแบบออฟไลน์ หากแต่การก้าวสู่โลกดิจิทัลคืออีกหนึ่งบทบาทใหม่ของธุรกิจ

“ศุภลักษณ์ อัมพุช” เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการสะท้อนภาพการทำงานที่คร่ำหวอดในแวดวงค้าปลีกมานานว่า จะว่ากันไปแล้วตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ปั้น physical สโตร์สุดหรูมามากมาย ตั้งแต่เดอะมอลล์, สยามพารากอน, ดิ เอ็มดิสทริค ฯลฯ ดึงคนเข้ามาใช้บริการได้ถึง 1-2 ล้านคนต่อวัน ซึ่งวิกฤตโควิดส่งผลต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศอย่างมาก

อีกปัจจัยเมื่อดิจิทัลเข้ามาดิสรัปต์ ฟิซิคัลสโตร์ของรีเทลจะมีสเกลลดลง ขณะที่โลกดิจิทัลจะกว้างขึ้น ดังนั้นทำอย่างไรเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจให้ยั่งยืนและอยู่รอด แม่ทัพเดอะมอลล์บอกว่า จำเป็นต้อง “ทรานส์ฟอร์ม” องค์กร ดังนั้นการ Go Digital คือสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งในวิกฤตก็ยังมีโอกาสสำหรับบางธุรกิจ เช่น อีคอมเมิร์ซ, โลจิสติกส์ รวมไปถึงด้านสินทรัพย์ดิจิทัล (digital assets) ทำให้เกิดกำลังซื้อใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งโดยส่วนตัวถือเป็นสิ่งใหม่มากที่ต้องเรียนรู้และปรับตัว

ซึ่งเธอเชื่อว่า “ในทุก ๆ วิกฤตยังมีโอกาสใหม่ ๆ เสมอ” เพียงแต่การจะก้าวข้ามวิกฤต พลิกฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้อีกครั้ง ไม่สามารถทำได้โดยใครคนใดคนหนึ่ง นำไปสู่การประกาศความร่วมมือระหว่าง “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” และ “บิทคับ” สตาร์ตอัพยูนิคอร์นตัวล่าสุดของไทย ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรจากหลากหลายวงการ ในการขยายฐานและดึงกำลังซื้อจากคนที่เป็น new rich, new wealth คือกลุ่มคนที่เป็นนักลงทุนในดิจิทัลแอสเสต โดยมีการเปิด BITKUB M SOCIAL ขึ้นมานำร่องสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมลูกค้าทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน

เพื่อต่อยอดสู่การใช้สกุลเงินดิจิทัล การเชื่อมโลกค้าปลีกผสานออฟไลน์และออนไลน์ให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น นำไปก้าวใหม่ครั้งสำคัญของเดอะมอลล์ ที่ยังคงยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางสำคัญ

“อีก 10 ปีข้างหน้า สิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่ตัวเดียว แต่มาเป็นแพ็กเกจ ทั้ง AR VR หรือ digital device นำไปสู่โลกเสมือนที่เติบโตแบบคู่ขนานไปกับโลกจริง โดย 5 ปีในอนาคตจะเท่ากับ 50 ปีในอดีต ดังนั้นเราต้องคิดเร็วทำเร็ว และต้องปรับตัว คนที่ปรับตัวไม่ได้จะเสียประโยชน์ แต่คนที่ปรับตัวได้ ก็จะได้ประโยชน์มหาศาล อย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล ที่มีรายได้มหาศาล”

ไม่เพียงด้านดิจิทัลเท่านั้น หากแต่ในแผนงานของเธอยังมีศูนย์การค้า Bangkok Mall มิกซ์ยูสสุดหรูมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ที่เตรียมปักหมุดยึดพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก และยังเป็นศูนย์การค้าแบบรีจินัลมอลล์ขนาดใหญ่ พื้นที่ 100 ไร่ นับเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของ The Mall Group โดยจะเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่รวม 873,082 ตารางเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2567

“ศุภลักษณ์” ย้ำอีกครั้งว่า ในโลกของการแข่งขันที่ทุกคนต้องเป็นผู้อยู่รอดใน (Survivor Game) และการปรับตัว (ทรานส์ฟอร์ม) คือสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่มีการปรับตัวก็เปรียบเสมือนคุณอยู่ในสงคราม หรือท่ามกลางคลื่นสึนามิ ที่จะมีทั้งฝั่งที่อยู่และไป ซึ่งหากไม่มีการปรับตัวต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด ก็จะไม่รอดชีวิตจากเกมในครั้งนี้

สยามพิวรรธน์ กับค้าปลีกล้ำอนาคต

อีกฟาก “ชฎาทิพ จูตระกูล” เจ้าของฉายาหญิงเหล็กแห่งวงการค้าปลีกเมืองไทย ดอกไม้งามผู้ปลุกปั้น “สยามพิวรรธน์” เจ้าของศูนย์การค้าตระกูลสยาม อาณาจักรค้าปลีกหลากไอเดียไล่เรียงมาตั้งแต่สยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่, สยามพารากอน, ไอคอนสยาม ไปจนถึงสยามพรีเมี่ยม เอาต์เล็ต กรุงเทพ ที่แต่ละศูนย์ล้วนมีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกันออกไป

และขึ้นชื่อว่าสยามพิวรรธน์ แน่นอนว่าการสร้าง New Growth Engine และ New Economy ในการทำธุรกิจร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อสร้างการเติบโตแบบยั่งยืนตามวิชั่นของค่ายที่ยึดมั่นในการ Share Values และ Co-creation และจะต้องสะท้อนวิสัยทัศน์ของสยามพิวรรธน์ในการทำธุรกิจมากว่า 62 ปี

“ชฎาทิพ” เล่าให้ฟังว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาสยามพิวรรธน์ทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเดินหน้าสร้าง “ระบบนิเวศดิจิทัล” ที่จะเชื่อมร้านค้า คู่ค้า กับพันธมิตรค้าปลีกทั่วโลกเป็นของตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนไอเดียกับคู่ค้า การเปิดบริการศูนย์รูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงการจับมือกับพันธมิตรเพื่อนำร่องด้านสินทรัพย์ดิจิทัล

มาวันนี้ เธอบอกว่าเดินหน้าเติมเต็มระบบนิเวศดิจิทัลภายในศูนย์ให้สมบูรณ์แบบขึ้นอีกครั้งด้วยการก้าวไปอีกสเต็ปด้วยการเปิดตัว ONESIAM SupperApp ที่ใช้เวลาเก็บข้อมูล Big Data จากพันธมิตรต่าง ๆ นานกว่า 3 ปี ภายใต้โจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะเอาประสบการณ์ด้านรีเทลของบริษัทขึ้นมาอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่ต้องไม่เหมือนคนอื่น และไม่ใช่แอปพลิเคชั่นขายของเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีทั้ง S-Commerce และ E-S-Commerce ซุ่มพัฒนารูปแบบของการใช้งานต่าง ๆ อีกกว่า 13 เดือนจนเกิดเป็น ภายใต้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท เพื่อสร้างระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่และแอปพลิเคชั่นนี้ขึ้นมา

โดยมุ่งเน้นให้สนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจของบรรดาร้านค้าใน 4 ศูนย์การค้าในเครือ รวมถึงพันธมิตรกว่า 1,000 แบรนด์ ด้วยการเชื่อมโยงกว่า 13 อุตสาหกรรม 50 พาร์ตเนอร์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาร่วมใน Global Ecosystem ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่มลูกค้าที่ทั้งลูกค้าทั่วไป (B2C) และลูกค้าพาร์ตเนอร์ องค์กร (B2B) ตั้งแต่แฟชั่น-บริการ-ร้านอาหาร ไปจนถึงเรื่องของสกุลเงินดิจิทัล

โดยธุรกิจค้าปลีกไม่จำเป็นต้องวางกรอบตัวเอง อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมอีกต่อไป แต่สามารถสร้างธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ จากการเชื่อมต่อกับพันธมิตร อีกทั้งผสานฐานลูกค้าให้มีการบริหารจัดการที่จะส่งประโยชน์สูงสุดพร้อมมอบหลากหลายประสบการณ์บนแพลตฟอร์มเดียว

“การทำแอปพลิเคชั่นก็เหมือนกับวรรณกรรม รามเกียรติ์ ที่ต้องมีหลายตอน หลายพาร์ต และมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันเชื่อมโยงกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างความเกี่ยวโยงเพื่อตอบโจทย์การใช้งานให้มากที่สุด ดังนั้นโจทย์ของเราคือทำอย่างให้ ONESIAM SupperApp ไม่ถูกลืมและต้องหยิบมาใช้งานให้ได้เสมอ ดังนั้นจึงตกผลึกมายังการใช้งานของแอปที่ต้องครบ หลากหลาย และดึงบริการต่าง ๆ ไว้มากมาย”

“สมมุติว่าเราไม่มีตัวนี้ บอกตรง ๆ เราก็เป็นได้แค่ศูนย์การค้า คำถามก็คือ เราอยากเป็นแค่นั้น อยากอยู่แค่นั้นหรือ ธุรกิจหลักเรายังเป็นศูนย์การค้า มีผู้เช่าพื้นที่ต้องรับผิดชอบ อันนี้ต้องต่อยอดต่อไป ถึงเราจะมีตัวซูเปอร์แอป เป็นออนไลน์ เราต้องคิดวิธีที่จะกลับมาให้เกิดธุรกรรม (ออฟไลน์) ในศูนย์การค้า ซึ่งการรีโนเวตสยามพารากอนที่กำลังเกิดขึ้น จะเป็นการทลายกฎอีกครั้ง”

“ถ้าไม่ทำพวกนี้เลย ก็เหมือนเดิม ถามว่าจะขยายฐานลูกค้าได้ไหม ได้เหมือนกัน แต่ไม่เร็ว เวลาขยายฐานลูกค้า เราไม่ได้มีเฉพาะกรุงเทพฯ มีคนต่างจังหวัด มีตลาดต่างประเทศที่เราขยายไปได้ สิ่งนี้จะไม่เกิด ถ้าไม่ทำอะไร ซึ่งการจับมือพันธมิตรทำให้เร็วขึ้น”

“ท้ายที่สุด แม้คนจะพูดว่ารีเทลขาลง แต่สำหรับเราไม่มีวันตายแน่นอน สิ่งที่เราทำกับ ONESIAM SuperApp คือ new engine คือ new economy ถ้าทำสำเร็จจะกลายเป็น one stop service platform มอบประสบการณ์เหนือความคาดหมายทุกรูปแบบของดิจิทัลได้ทั้งหมด นั่นคือก้าวใหม่ของโลกรีเทลในอนาคต”

นับว่าแม้เป็นการ “สร้างดาวคนละดวง” ของ 2 ราชินีแห่งวงการค้าปลีก ห้างยักษ์ในเมืองไทย ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือก้าวสู่โลกค้าปลีกยุคใหม่ “Digital Era”