ส่องทิศทางกำไร หุ้นโรงพยาบาล จากยุคโควิด สู่ ‘โรคประจำถิ่น’

หุ้นโรงพยาบาล

กำไรหุ้นโรงพยาบาลในไตรมาส 1 กลับมาค่อนข้างโดดเด่น หลังความกังวลโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แต่วิวัฒนาการโควิดในไทย ไปสู่ โรคประจำถิ่น หุ้นโรงพยาบาลยังน่าสนใจหรือไม่

วันนี้ไปร่วมพูดคุยค้นหาคำตอบกับ คุณปิยะฉัตร รัตนสุวรรณ นักวิเคราะห์อาวุโส จากบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ครับ

Q: ถ้าประเมินกำไรหุ้นโรงพยาบาลไตรมาส 1 ต่อเนื่องไตรมาส 2 ถ้ามองแล้วกลุ่มโรงพยาบาลประกันสังคม หรือว่ากลุ่มโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยต่างชาติ กลุ่มไหนจะดูโดดเด่นกว่ากันครับ

ในไตรมาส 1 เรามองว่ากลุ่มโรงพยาบาลที่มีคนไข้ต่างประเทศหรือ FLY-IN น่าจะโดดเด่นกว่าในเชิงการเติบโตของรายได้และกำไร เพราะในภาพรวมของโรงพยาบาล นอกจากทุกโรงจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวดีมานด์ของคนไข้ปกติ หรือว่าภายในประเทศแล้ว

โรงพยาบาลที่เป็นประกันสังคมก็อาจจะได้การฟื้นตัวจากเรื่องคนไข้ประกันสังคมด้วย รวมทั้งโอมิครอนก็ทำให้ทุกโรงพยาบาลก็มีรายได้โควิดเพิ่ม อันนี้คล้ายกันหมด

แต่ว่าโรงพยาบาลที่รับคนไข้ต่างประเทศ จะมีสัดส่วนหรือว่ามีส่วนของรายได้คนไข้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาด้วย เพราะฉะนั้นก็เลยเหมือนกับมีรายได้ส่วนเพิ่มถ้าเทียบกัน

ซึ่งตอนนี้เราทำไปทั้งหมด 6 ตัว จากที่ Cover 8 ตัว โดยภาพรวม Year on Year (การเติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อน) รายได้ของทุกโรงพยาบาลโตขึ้นหมด แต่โดยภาพรวม Quarter on Quarter (การเติบโตจากไตรมาสก่อนหน้า) ก็จะผสม บางตัวโตขึ้น บางโรงพยาบาลก็ลดลง

ซึ่งในแง่ของกำไรจะคล้ายๆ การเติบโตของรายได้คือ มีการเติบโต Year on Year แต่ว่า Quarter on Quarter จะผสม ก็คือบางตัวลดลง บางตัวเพิ่มขึ้น

โดยตัวที่ YoY โดดเด่นที่สุดจะเป็น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์(BH) ซึ่งเป็นผลจากไตรมาส 1 ปีที่แล้วดูค่อนข้างแย่ มีการปิดประเทศบางส่วน และคนกลัวที่จะมาโรงพยาบาล

ส่วน BDMS กับโรงพยาบาลพระรามเก้า(PR9) ซึ่งก็เป็นโรงพยาบาลรับคนไข้ต่างประเทศเหมือนกัน เราคาดว่าสองตัวนี้กำไรจะเป็น New Record High คือสูงเป็นประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลที่รับคนไข้ต่างประเทศ จะดูค่อนข้างเด่นในไตรมาส 1

Q: ถ้าดูต่อเนื่องถึงผลเอฟเฟ็กต์หุ้นโรงพยาบาล ต่อ วิวัฒนาการโควิด ไปสู่ โรคประจำถิ่น ความคิดเห็นของนักวิเคราะห์มองอย่างไรบ้างครับ

เรามองว่ามันเป็นบวกกับกลุ่มโรงพยาบาลทั้งหมด เพราะถ้าโควิดเป็นโรคประจำถิ่น พูดง่ายๆ มันก็จะเหมือนกับเป็นรายได้อีกก้อนหนึ่งเข้ามาให้กับทุกโรงพยาบาล มากน้อยแล้วแต่

ที่บอกว่าจะเป็นรายได้เข้ามา ก็เป็นเพราะว่าถึงแม้ว่าตอนนี้การติดเชื้อโควิดจะเริ่มลดลง ทำรายได้โควิดให้กับโรงพยาบาลลดลง แต่มันจะไม่กลายเป็นศูนย์ เพราะโควิดจะไม่หายไป จะอยู่กับเราเหมือนโรคหวัดอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นจากเดิมที่โรงพยาบาลทุกโรงไม่เคยมีรายได้โควิด ก็จะมีรายได้โควิดเข้ามา

จะมาจากอะไรบ้าง หลังจากที่เป็นโรคพื้นถิ่น ยังไงก็เชื่อว่าจะมีคนที่ต้องนอนโรงพยาบาล อาการหนัก แต่อาจจะไม่ได้เยอะ มีการรักษาผู้ป่วยนอก(OPD) เพิ่มขึ้น เป็นแบบน้ำมูกไหล ปวดหัว เป็นโควิดแบบอาการไม่มาก มีการทำ RT-PCR มีเอกซเรย์ปอด มีฉีดวีคซีน มีอาการ Long Covid

พวกนี้คือคนไข้จะเพิ่มขึ้นให้กับโรงพยาบาล แต่ Question ตอนนี้คือว่า ก้อนรายได้อันนี้มันจะขนาดไหน อันนี้ยังตอบไม่ได้ ยังไม่ชัดเจนเพราะว่า มันยังขึ้นอยู่กับเชื้อของโควิดในอนาคตว่า จะพัฒนาไปทำให้อาการมันน้อย

สมมติถ้าอาการมันน้อยมากจะเหมือนกับหวัดที่คนไม่ต้องไปโรงพยาบาล เรารู้สึกเป็นหวัดก็กินยา นอนพัก หรือถ้ามีอาการอยู่ ก็จะทำให้เกิดดีมานด์ว่า ฉันต้องไปหาหมอ ไปให้หมอตรวจ อาจจะต้องมีการเอกซเรย์

และจะขึ้นอยู่กับยา ที่จะมีการพัฒนาขึ้นในอนาคต จะมียารักษาพิเศษ เป็นโควิดกินอันนี้เลย ก็ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลด้วยซ้ำ ก็อาจจะยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ อันนี้ยังเป็นอะไรที่เราต้องรอดู

รวมทั้งวัคซีนและพฤติกรรมของคน การใส่หน้ากาก ล้างมือจะยังอยู่ต่อไปหรือไม่ ถ้ายังอยู่ การติดเชื้อก็อาจจะลดน้อยลง เพราะฉะนั้นเราก็มองว่ามันมีอยู่แน่ แต่ตอนนี้สิ่งที่ไม่รู้คือรายได้มันจะเยอะแค่ไหน

Q: ถ้าดูเทคนิคหรือกลยุทธ์ในการช้อนหุ้นโรงพยาบาลพื้นฐานดี อัพไซด์เปิด เราแนะนำตัวไหนบ้างครับ

ต้องดูหุ้นที่มีรายได้เติบโตดี กำไรเติบโตดี มีความได้เปรียบในการแข่งขัน ไม่ได้มีการแข่งขันที่รุนแรง เอาราคาตลาดเทียบกับราคาเป้าหมาย มีรีเทิร์นเกิน 10% ตัวนี้จะเป็นอะไรที่น่าลงทุน

ตอนนี้เรามองโรงพยาบาลที่ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศ มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นกว่าเพื่อน และหุ้นเด่นที่ชอบคือ BDMS ซึ่งมีคุณสมบัติอย่างที่บอกไปเกือบทั้งหมด ราคาเป้าหมาย BDMS อยู่ที่ 27.3 บาท ถ้าเทียบกับราคา ณ วันนี้ อาจจะดูอัพไซด์น้อยลงแล้ว เพราะราคาของโรงพยาบาลขึ้นมาค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นคนที่สนใจ อาจต้องรออ่อนสักนิดหนึ่ง เพราะว่าตอนนี้ Gap ของรีเทิร์นเริ่มหดลง