“ดร.ดอน นาครทรรพ” ตัวแทนแบงก์ชาติ ชี้สินเชื่ออสังหาฯ ปีนี้ไร้ข้อกังวลปัญหาซับไพร์ม

“ดร.ดอน นาครทรรพ” ตัวแทนแบงก์ชาติ ชี้สินเชื่ออสังหาฯ ปีนี้ไร้ข้อกังวลปัญหาซับไพร์ม โฟกัสประเด็นความสามารถจ่ายหนี้เงินกู้เป็นหลักมากกว่า

งานสัมมนา 3 สมาคมวงการอสังหาริมทรัพย์ ประจำปี 2561 วันที่ 31 มกราคม 2561 โดย ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บรรยายหัวข้อ “แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจ ตลาดเงิน และตลาดทุนของโลกและไทย และผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2561” สรุปดังนี้

จากตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ ธปท.มองจีดีพี 3.9% ขณะที่สภาพัฒน์คาดการณ์ไว้ที่ 4.1% สิ่งสำคัญปี 2561-2562 ไอเอ็มเอฟมองว่าเศรษฐกิจโลกปรับขึ้นต่อเนื่องปีละ 3.9% ถือว่าดี แต่ปีนี้แบงก์ชาติไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจโลกจะเด้งแรงมากนัก แนวโน้ม 3.9% ต้องเรียกว่าติดลมบน เป็นแนวโน้มที่ดี

โดยยุโรป สหรัฐ จีน ขยายตัวดี ปีนี้มองทางยุโรปซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเยอะ ปีนี้ทางยุโรปมั่นใจว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัว ไม่ใช่การฟื้นตัว

ในส่วนเศรษฐกิจไทย ภาพรวมน่าจะมีการขยายตัวที่ดีขึ้น ทั้งการท่องเที่ยว การส่งออกมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง การลงทุนภาครัฐยังเป็นตัวหลัก หากมองย้อนปีที่แล้วถือว่าน่าผิดหวัง เพราะมีการเลื่อนลงทุนภาครัฐหลายโครงการ ปีนี้จะกลับมามีบทบาทอย่างสูง บวกกับการมีงบกลางปี 2562 ออกมาด้วย การลงทุนภาคเอกชนก็ถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน

ในด้านตลาดเงินและสินเชื่อ “อัตราดอกเบี้ย” เป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการ เราทำข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่าทิศทางดอกเบี้ยยังต้องผ่อนคลายอีกระยะหนึ่ง ปีนี้จีดีพี 3.9-4% ถือว่าใช้ได้ แต่ภาพรวมยังดีขึ้นจากการส่งออกเป็นสำคัญ การบริโภคในประเทศไม่เห็นชัดเจน และการลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัวในปีที่แล้ว

ดังนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจยังอยากเห็นการบริโภคที่ดีและกระจายตัวกว่านี้ “วันนี้ไม่มีใครพูดเรื่องแย่ๆ ด้านเศรษฐกิจเลย ถ้ารออย่างนั้นคงต้องรออีกร้อยปีจึงจะขึ้นดอกเบี้ยได้”… ดังนั้น ทิศทางนโยบาย ดอกเบี้ยขาลงน่าจะปิดประตูได้เลย แต่ทิศทางขาขึ้นต้องยืนหลักดอกเบี้ยผ่อนคลาย เป็นข้อมูลสำคัญที่ กนง.จับตามองอยู่ จึงสบายใจได้ว่าดอกเบี้ยยังดีอยู่

ทั้งนี้ ดอกเบี้ยปรับขึ้น เทียบกับสหรัฐ เส้นกราฟยูเคิฟไทยยังต่ำกว่า โดย 3-6-12-60 เดือน พันธบัตรไทยยังมีอัตราผลตอบแทบดีกว่าสหรัฐ ช่วงแรกที่บอกได้คือถ้าสามารถออกพันธบัตรได้ถือเป็นจังหวะที่ดี

ในด้านดอกเบี้ยเงินกู้ โดย MLR อัตราอ้างอิงของแบงก์, ธปท.เก็บข้อมูลแบงก์พาณิชย์คิดดอกเบี้ยปล่อยใหม่เท่าไหร่ (ช่วงสามปีแรกหรือดอกเบี้ยโปรโมชัน) พบว่าต่ำกว่า MLR พอสมควร ในขณะที่เฉลี่ยทั้งอุตสาหกรรมถือว่าต่ำพอสมควร นอกจากนี้ new loan rate ยังต่ำกว่า MLR ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายยังคงไว้ระดับต่ำ

สำหรับภาคอสังหาฯ ปีที่แล้วมองว่าไม่ได้ดีมากนัก ตลาดเริ่มฟื้น มีการปรับขึ้นของราคาอสังหาฯ ยอดการโอน 11 เดือนแรกของปี 2560 มองว่าใกล้เคียงปี 2559 ในขณะที่อุปทานโดยรวม ปี 2559-2560 ใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่เห็นคืออสังหาฯแนวราบตัวเลขหายไปพอสมควร มากระโดดในตัวเลขคอนโด ทำให้ตัวเลขสมดุล

สินเชื่อผู้ประกอบการ ถือว่ามีการระดมทุนค่อนข้างดี การระดมผ่านธนาคารพาณิชย์ทำได้ค่อนข้างดี, พันธบัตรดรอปไปเยอะเพราะต้นปีที่แล้วมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตราสารหนี้ระยะสั้น

ในด้านหนี้เสีย (NPL) ถือว่าดีเพราะทรงตัวในรอบ 4-5 ปี โดยสินเชื่อรายย่อยมีเทรนด์หนี้เสียภาคอสังหาฯ กลับมาสูงสุดในกลุ่มสินเชื่อบุคคล เทียบกับสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบริโภค มีข้อกังวลจะเกิดซับไพร์มในประเทศไทยหรือไม่ ข้อเท็จจริงไม่น่ากังวลเพราะการผ่อนเงินกู้สินเชื่อบ้านแบ่งจ่ายงวดละเท่าๆ กัน ไม่เหมือนซับไพร์มที่ผันผวนไปตามภาวะดอกเบี้ย ในขณะที่เมืองไทย แบงก์เอกชนมีการป้องกันระดับหนึ่งในการคำนวณภาระค่างวดและอายุสินเชื่อ ดังนั้น ตราบใดที่ดอกเบี้ย MLR ไม่ได้ปรับเพิ่ม ปัญหาซับไพร์มจึงไม่มีข้อน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด


“ตอนนี้แบงก์ชาติรอติดตามทิศทางจากตัวเลขไตรมาส 4/60 เรื่องซับไพร์มไม่ได้ห่วง แต่กังวลความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้”