10 อสังหาซิว 1.8 แสนล้าน ฝ่าโควิดกำไร 3 หมื่นล้าน

ส่องผลประกอบการ 9 เดือนแรก 2565 ธุรกิจอสังหาฯ ล่ำซำถ้วนหน้า LWS เผย 37 บริษัทรายใหญ่รายได้รวม 2.3 แสนล้านบาท ฟันกำไรสุทธิ 3.3 หมื่นล้าน โฟกัสท็อป 10 ครองมาร์เก็ตแชร์ 77% คว้ารายได้ 1.78 แสนล้าน กำไรสุทธิทะลุ 3 หมื่นล้าน สะท้อนวิกฤตเศรษฐกิจยิ่งหนักบริษัทยิ่งเติบโต จับตาซัพพลายรอบใหม่ ท็อป 10 แข่งกันลงทุนสร้าง inventory สะสมท่วม 4.4 แสนล้านบาท

ผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 2565 อาจกล่าวได้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์สามารถพลิกฟื้นธุรกิจจากสถานการณ์โควิดได้รวดเร็วกว่าที่คิด

ถึงแม้ภาพรวมตลาดยังมีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น, สงคราม, วัสดุก่อสร้าง-ราคาพลังงานแพง, ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้น ฯลฯ แต่เมื่อถึงเวลาตรวจการบ้านกลับพบว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯจำนวน 37 บริษัท ทำยอดรับรู้รายได้รวมกัน 2 แสนกว่าล้านบาท กำไรรวมกันมากกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท

จุดโฟกัสอยู่ที่วิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้บิ๊กแบรนด์อสังหาฯยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นทุกวัน โดยมีเพียง 10 บริษัทที่มีรายได้สูงสุด ครองส่วนแบ่งตลาดเกิน 3 ใน 4 ของจำนวน 37 รายใหญ่ และมีข้อสังเกตว่า ท็อป 10 ดังกล่าวยังเป็นบริษัทที่หน้าซ้ำ ๆ หรือแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

รายละเอียด 37 บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แก่ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, เอพี ไทยแลนด์, ศุภาลัย, แสนสิริ, พฤกษา โฮลดิ้ง, เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชัน, เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย-FPT, ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้, สิงห์ เอสเตท, แอล.พี.เอ็น. ดีเวลอปเม้นท์-LPN, พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค, ควอลิตี้เฮ้าส์ หรือคิวเฮ้าส์, โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์, ลลิล พร็อพเพอร์ตี้, อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์

อารียา พร็อพเพอร์ตี้, เสนา ดีเวลลอปเม้นท์, มั่นคงเคหะการ, เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์, เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง, ปริญสิริ, ชีวาทัย, เอเวอร์แลนด์, อีสเทอร์น สตาร์ ดีเวลลอปเม้นท์, ชาญอิสสระ, จีแลนด์, สัมมากร, เจ้าพระยามหานคร, พราว เรียลเอสเตท, คุณาลัย, ริชี่เพลซ 2002, ออล อินสไปร์, เอคิว เรียลเอสเตท, ธนาสิริ, ไรมอนแลนด์, เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ และปรีชากรุ๊ป

9 เดือนแรกรายได้-กำไรพุ่ง

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS) บริษัทด้านวิจัยและพัฒนาในเครือ LPN เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการรวบรวมผลประกอบการ 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2565) ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 37 ราย พบว่ามียอดรับรู้รายได้และกำไรสุทธิที่สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยทั้ง 37 รายใหญ่มีรายได้รวมกัน 230,852.39 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 10.80% เทียบกับ 9 เดือนแรกปี 2564 มีกำไรสุทธิ 33,337.92 ล้านบาท (ไม่นับรวมบริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุน) เพิ่มขึ้น 28.02%

โดยมีความสามารถในการทำกำไร (net profit margin) โดยเฉลี่ย 12.93% เพิ่มขึ้นจาก 12.63% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก 2565 และเพิ่มขึ้น 11.41% เทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2564

ท็อบ 10 กำไรสุทธิ

อสังหาท็อป10

AP ท็อปรายได้เฉียด 3 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ มีตัวเลขหลัก 2 รายการที่คนในวงการอสังหาฯจับตามอง นั่นคือ “ยอดรับรู้รายได้” กับ “กำไรสุทธิ” พบว่า AP ยังคงเป็นบริษัทอสังหาฯที่มีรายได้รวมสูงสุดเมื่อเทียบกับ 37 บริษัทรายใหญ่ โดยมียอดรับรู้รายได้ 29,842.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกปี 2564 ที่มีรายได้รวม 24,459.41 ล้านบาท

ในภาพใหญ่ 37 รายมีรายได้รวมกัน 230,852.39 ล้านบาท แต่พบว่ามีเพียงท็อป 10 บริษัท แต่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 77.22% รายได้รวมกัน 178,264.48 ล้านบาท (ดูกราฟิกประกอบ)

ในกรุ๊ปปิ้งบริษัทอสังหาฯ ท็อป 10 ด้านรายได้ ประกอบด้วย บมจ.เอพี ไทยแลนด์, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, ศุภาลัย, แสนสิริ, พฤกษา โฮลดิ้ง, เอสซี แอสเสทฯ, FPT, ออริจิ้นฯ, สิงห์ และ LPN โดยมีรายได้ตั้งแต่ 8,388.33 ล้านบาท จนถึง 29,842.11 ล้านบาท

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้รวม 37 บริษัทที่ 230,852.39 ล้านบาท หักลบด้วยรายได้บริษัทท็อป 10 ที่มีจำนวน 178,264.48 ล้านบาท เท่ากับเป็นยอดรับรู้รายได้ของ 27 บริษัทที่เหลือ จำนวน 52,587.91 ล้านบาท แตกต่างกัน 3-4 เท่า

หรือเฉลี่ยบริษัทท็อป 10 มีรายได้ 17,800 ล้านบาท ขณะที่เฉลี่ยบริษัทลำดับที่ 11-37 มีรายได้เฉลี่ย 1,947.70 ล้านบาท

แลนด์ฯกอดแชมป์กำไรสุทธิ

สำหรับกำไรสุทธิสูงสุด สถิติที่ไม่ได้มีไว้ให้ทำลาย ยังเป็นของ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อยู่ที่ 6,322.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.50% เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกปี 2564 ที่มีจำนวน 4,919.78 ล้านบาท

ในขณะที่กำไรสุทธิของบริษัทท็อป 10 มีจำนวนรวม 30,347.94 ล้านบาท ดังนั้น กำไรสุทธิ 6,322.01 ล้านบาท ของแลนด์ฯ จึงมีสัดส่วนถึง 1 ใน 5 หรือ 20% กรณีเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิของ 37 บริษัท ที่มีจำนวนรวม 33,337.92 ล้านบาท เท่ากับแลนด์ฯ มีสัดส่วน 18.98% หรือเกือบ 1 ใน 5 ของบิ๊กแบรนด์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

บิ๊กเนมเบ่ง Inventory รอบใหม่

ในด้านสินค้าคงเหลือ บวกกับสินค้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนา (inventory) ของบริษัทอสังหาฯทั้ง 37 บริษัท มีมูลค่ารวมกัน 583,266.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.47% เทียบกับ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565

ในจำนวนนี้พบว่า ท็อป 10 ประกอบด้วย 1.แสนสิริ มีมูลค่า inventory สูงสุดที่ 85,055.54 ล้านบาท 2.ศุภาลัย 65,192.84 ล้านบาท 3.พฤกษา โฮลดิ้ง 53,204.81 ล้านบาท 4.เอพี ไทยแลนด์ 50,532.02 ล้านบาท 5.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 47,441.11 ล้านบาท

6.เอสซี แอสเสทฯ 39,488.42 ล้านบาท 7.เฟรเซอร์ฯไทย หรือ FPT 33,658.43 ล้านบาท 8.ออริจิ้นฯ 23,187.41 ล้านบาท 9.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค 21,683.69 ล้านบาท และ 10.ควอลิตี้เฮ้าส์ 20,012.18 ล้านบาท

โดยบริษัทท็อป 10 มีการลงทุนเพิ่มตามสัญญาณการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังยุคโควิดตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา จนถึง 9 เดือนแรกทำให้มี inventory สะสมรวมกัน 439,456.45 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 75.35% ของรายใหญ่ 37 บริษัท

แสนสิริเร่งลงทุน Q4 รับไฮซีซั่น

นายวิชาญ วิริยะภูษิต ประธานผู้บริหารสายงานการเงิน บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการในรอบ 9 เดือนแรกปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ (ส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท) 2,488 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% จากรอบเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,674 ล้านบาท

โดยไตรมาสที่ 3/65 แสนสิริและบริษัทย่อยบันทึกกำไรสุทธิเท่ากับ 1,268 ล้านบาท เติบโต 102% เทียบกับไตรมาส 3/64 และเติบโต 38% เทียบกับไตรมาส 2/65 มีเน็ตมาร์จิ้นโปรฟิตในไตรมาส 3/65 อยู่ที่ 14.3% ของรายได้รวม โตขึ้นจากรอบเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตรากำไรสุทธิ 8.7%

ขณะที่รายได้รวม 9 เดือนมีจำนวน 21,913 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้รวมเฉพาะไตรมาส 3/65 จำนวน 8,855 ล้านบาท โตขึ้น 23% เทียบกับไตรมาส 3/64 และโตขึ้น 13% เทียบกับไตรมาส 2/65 ผลงานมาจากรายได้จากการขายโครงการที่โดดเด่นในทุกกลุ่มที่อยู่อาศัยทั้งทาวน์โฮมและบ้านหรู

“ไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 เทรนด์ตลาดอสังหาฯมีแนวโน้มที่ดี จากการที่ลูกค้าเร่งตัดสินใจซื้อและโอนที่อยู่อาศัยก่อนหมดอายุมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ในการลดค่าโอนและจดจำนองจาก 3% เหลือ 0.01% รวมถึงใกล้หมดอายุการผ่อนปรน LTV (กู้ 100%) ที่กำหนดสิ้นสุด 31 ธันวาคมนี้ นอกจากนี้ปลายปีเป็นไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวและการขายที่อยู่อาศัย แสนสิริเตรียมความพร้อมรองรับความต้องการที่อยู่อาศัยจากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ด้วยแผนการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการมีบ้านของคนทุกกลุ่ม”

เอสซีฯคว้าสถิตินิวไฮ 3 ไตรมาส

นายอรรถพล สฤษฎิพันธาวาทย์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านสนับสนุนองค์กร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC ภายใต้การเป็นผู้นำ living solutions provider ที่มุ่งสู่การเป็นแบรนด์บ้านเดี่ยวอันดับ 1 ในใจผู้บริโภค เปิดเผยถึงผลความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจในรอบ 9 เดือนปี 2565 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 14,329 ล้านบาท เติบโต 6% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2564 เป็นรายได้จากการดำเนินงาน 14,275 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้การขาย 95% อีก 5% เป็นรายได้ค่าเช่าและบริการ

โดยรายได้หลักจากการขาย 13,593 ล้านบาท มาจากรายได้นิวไฮของสินค้าบ้านแนวราบ 12,202 ล้านบาท เติบโต 15% เทียบปีต่อปี กับรายได้จากแนวสูง 1,391 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,621 ล้านบาท เติบโต 9% เทียบปีต่อปี โดยมียอดขายรวมทำนิวไฮ 17,182 ล้านบาท เติบโต 7% เทียบปีต่อปี

ในขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 3/65 ทำนิวไฮในรอบ 3 ไตรมาสเช่นกัน โดยมีรายได้รวม 5,261 ล้านบาท เติบโต 11% เทียบปีต่อปี มีกำไรสุทธิ 652 ล้านบาท เติบโต 20% เทียบปีต่อปี

ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 เอสซีฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมและหนี้สินรวมเท่ากับ 53,504 ล้านบาท และ 32,825 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับแผนลงทุนในไตรมาส 4/65 เตรียมเปิดตัว 11 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท เบ็ดเสร็จทำให้เอสซีฯ มีโครงการเพื่อขายทั้งสิ้น 54 โครงการ มูลค่า 56,500 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 48 โครงการ และคอนโดฯ 6 โครงการ มียอดขายรอโอนหรือ backlog รวม 11,957 ล้านบาท มาจากบ้านแนวราบ 46% กับคอนโดฯ 54%

นอกจากการเติบโตของธุรกิจอสังหาฯเพื่อขาย บริษัทได้รุกขยายการลงทุนธุรกิจบนน่านน้ำใหม่ ทั้งธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อตอบรับโอกาสการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ โดยร่วมลงทุนกับแฟลชกรุ๊ป วางโรดแมปพัฒนาอาคารคลังสินค้าและศูนย์คัดแยกพัสดุ 1 ล้านตารางเมตรภายในปี 2030 ภายใต้บริษัทย่อย บจ.เอสซีเอ็กซ์ วัน (SCX ONE) โดยนำร่องลงทุนคลังสินค้าและศูนย์กระจายพัสดุทั่วประเทศ 300,000 ตารางเมตร แห่งแรกที่ จ.นครสวรรค์ วางแผนเปิดให้บริการปี 2566

ส่วนธุรกิจโรงแรม ล่าสุด บจ.เอสซี เอ็กซ์เพดิชั่น (SCX) ได้เข้าซื้อหุ้น 100% จากบริษัท เอฟเจ บีเคเค จํากัด (FJBKK) ของญี่ปุ่น เตรียมพัฒนาโรงแรมแห่งใหม่ บนทำเลซอยสุขุมวิท 29 จำนวน 300 ห้องพัก

“อีกหนึ่งความสำเร็จของ SC ได้รับการคัดเลือกเป็นหุ้นยั่งยืนต่อเนื่อง 8 ปีซ้อน ซึ่งมีทั้งหมด 170 บริษัทที่ติดอันดับรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) จาก 221 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2565 ตอกย้ำการขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัทภายใต้ยุทธศาสตร์ยั่งยืน สร้างคุณค่า สู่ผู้คนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ESG-Environmental, Social, Governance”