หนี้หมื่นล้านบีบหัวใจ”เพซ” วงการจับตาตัดขายขาดทุน

เพซ ดีเวลลอปเมนท์
เดดไลน์หนี้หมื่นล้านบีบหัวใจ “PACE” ดิ้นหาเงินอุตลุด เผยแผนเพิ่มทุนยังไม่เข้าเป้า แม้ขยายเวลาเป็นครั้งที่ 4 ด้านเกมดึง”แสนสิริ” ช่วยอุ้มซื้อ 2 โปรเจ็กต์ยักษ์ “ตึกมหานคร-คอนโดฯนิมิตหลังสวน” ล้มตึง

 

เดดไลน์หนี้หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า จากข้อมูลงบการเงินไตรมาส 3/2560 ของ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น มีทรัพย์สิน 36,201 ล้านบาท หนี้สินรวม 30,299 ล้านบาท หนี้สินหลักประกอบด้วย เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน 1,130 ล้านบาท เงินกู้ยืมระยะสั้นอื่น ๆ 2,099 ล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินที่ถึงกำหนดชำระใน 1 ปี 8,375 ล้านบาท และที่ไม่ถึงกำหนดชำระใน 1 ปี 1,963 ล้านบาท

หุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 3,817 ล้านบาท และยังไม่ถึงกำหนดชำระใน 1 ปี จำนวน 1,805 ล้านบาท และเงินรับล่วงหน้าและเงินมัดจำจากลูกค้า 3,845 ล้านบาท และภาษีเงินได้รอตัดบัญชีจำนวน 2,205 ล้านบาท

ส่วนรายละเอียดการครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ของเพซฯ ในปี 2561 เริ่มตั้งแต่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 1,500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่อปี 6.5%, 4 มี.ค. 2561 จำนวน 523 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่อปี 7%, 29 เม.ย. 2561 มูลค่า 200 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่อปี 6.25%, 23 ก.ค. 2561 มูลค่า 500 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่อปี 5.8% และ 20 พ.ย. 2561 จำนวน 600 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี

ขยายเวลาเพิ่มทุนครั้งที่ 4

ซึ่งปีที่ผ่านมา เพซฯดำเนินการหลายอย่างในการหาเงินมาชำระหนี้ ทั้งการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน การขายทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อ 26 ม.ค. 2561 บมจ.เพซฯแจ้งขยายเวลาจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นครั้งที่ 4 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นมีระยะเวลาตัดสินใจใช้สิทธิจองซื้อเพิ่มเติม โดยขณะนั้นมีผู้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 75% ของหุ้นที่ออกและเสนอขายทั้งหมด คิดเป็นจํานวนเงินกว่า 2,822 ล้านบาท จากจํานวนเงินเพิ่มทุนทั้งหมด 3,758 ล้านบาท

ขณะที่เมื่อ 8 ม.ค. 2561 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ตกลงซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ PACE 400 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 0.51 บาท รวมมูลค่า 204 ล้านบาท นอกจากนี้ เพซฯแจ้งว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ยังประสงค์จะเข้าลงทุนใน PACE เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้บริษัท และเพื่อให้บริษัท เพซ โปรเจ็ค วัน จำกัด และบริษัท เพซ โปรเจ็ค ทรี จำกัด สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไปตามปกติ

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของเพซฯ และการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ ให้จองสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของเพซฯ

“แสนสิริ” ยกเลิกดีล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีกหนึ่งแผนการหาเงินของเพซฯ เพื่อชำระหนี้ก็คือการตัดขายทรัพย์สิน ซึ่งเมื่อ 7 พ.ย. บมจ.แสนสิริได้ลงนามเอ็มโอยู เสนอราคาเพื่อซื้อโครงการนิมิตหลังสวน (ทั้งโครงการ) และห้องชุดที่พักอาศัยในโครงการ เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส บางกอก จำนวน 53 ห้องชุด ในโครงการอาคารชุดมหานคร กับกลุ่มบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์

แต่เมื่อ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา แสนสิริได้แจ้งยกเลิกเอ็มโอยูเสนอราคาซื้อสินทรัพย์ดังกล่าว โดยระบุว่า หลังจากขยายเวลาการตรวจสอบทรัพย์สินที่จะซื้อจะขาย (due diligence) ครั้งที่ 2 แต่การดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของบริษัทยังไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอต่อการพิจารณาราคาซื้อขายและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง จึงแจ้งยกเลิกการเสนอราคาเพื่อซื้อทรัพย์สินดังกล่าว

ในวันเดียวกันนั้น บมจ.เพซฯได้แจ้งว่า คณะกรรมการบริษัทอนุมัติขายที่ดินในตำบลนิเซโกะ จังหวัดฮอกไกโด ญี่ปุ่น เนื้อที่ 87 ไร่ 3 งาน 33.295 ตารางวา ในราคา 2,050 ล้านเยน หรือ 594.65 ล้านบาท ให้บริษัท Richforest International Investments หลังจากบริษัทเพซฯได้ซื้อที่ดินดังกล่าวเมื่อปี 2559 ในราคา 529 ล้านบาท เงินที่ได้ครั้งนี้จะนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น และระยะยาว

ติดกับโปรเจ็กต์ยักษ์

แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ วิเคราะห์กรณี บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงสองปีที่ผ่านมา เพซฯลงทุนมหาศาลทั้งโครงการมหานคร 77 ชั้น มูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท โครงการมหาสมุทร คันทรี่คลับ หัวหิน มูลค่า 2,300 ล้านบาท และซื้อสิทธิ์ในแบรนด์ของดีน แอนด์ เดลูก้า อินเตอร์เนชั่นแนล จากสหรัฐ ดำเนินธุรกิจคาเฟ่ ซึ่งเป็นการต่อยอดธุรกิจอสังหาฯในรูปแบบใหม่เชิงไลฟ์สไตล์

“เมื่อเดินเกมใหญ่ สภาพคล่องต้องพร้อม ผู้ใหญ่ในวงการก็เอาใจช่วยหลายคน แต่ภาระหนี้มีเยอะ จริง ๆ ธุรกิจไปได้และทำเงิน แต่ไม่บาลานซ์กับหนี้ที่มี คาดว่าจะมีการคัตลอสต์” แหล่งข่าวให้ข้อสังเกต

อนึ่ง บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น บริหารโดยนายสรพจน์ เตชะไกรศรี ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่โลว์โปรไฟล์ ไฮโปรเจ็กต์

โดยบริษัทประกาศสร้างความมั่นใจให้ผู้ร่วมลงทุนว่า จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้เสร็จสิ้นได้ โดยจะตั้งราคาขายเหมาต่อตารางเมตรของตึกมหานคร และจัดสรรเงินที่ได้จากการขายห้องชุดในโครงการเดอะริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส บางกอก และโอนสิทธิในสมาชิกโครงการมหาสมุทร คันทรี่ คลับ 1,500 สมาชิก เพื่อเป็นหลักประกันที่ บจ.เพซ โปรเจ็ค ทรี มีต้นทุนโครงการสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และขาดสภาพคล่องทางการเงิน