
เติบโตเป็นลำดับบนกระดานธุรกิจ สำหรับค่ายสิงห์ เอสเตท บริษัทลูกในเครือบุญรอด บริวเวอรี่ ของตระกูลภิรมย์ภักดี โดยเรื่องใหม่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ของการก่อตั้ง
แผนลงทุนปีนี้ “ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำรงตำแหน่งซีอีโอเมื่อปี 2564 ระบุว่า บริษัทวางแผนลงทุนใหม่ในรอบ 3 ปี (2567-2569) มูลค่ารวม 25,000 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 8,000 ล้านบาท มองว่าตั้งแต่ก่อตั้งสิงห์ เอสเตท ไม่มีปีไหนที่ไม่ได้ลงทุนแบบไม่แอ็กเกรสซีฟ
หมายความว่าสไตล์การทำธุรกิจของสิงห์ มีโมเดลลงทุนแบบแอ็กเกรสซีฟในช่วงที่เป็นซีอีโอ 3 ปีที่ผ่านมา
เป้ารายได้-เส้นกราฟขาขึ้น
ทั้งนี้ ย้อนกลับไปดูการตั้งเป้ารายได้ 2 ปีที่แล้ว (2565-2566) พบว่า ปี 2565 เป้ารายได้ 12,500 ล้านบาท เป้าโต 62% จากปี 2564 ที่เศรษฐกิจไทยซมพิษโควิด ถัดมา ปี 2566 เป้ารายได้ 16,700 ล้านบาท เป้าโต 34% และปีปัจจุบัน 2567 เป้ารายได้ยังคงเป็นเส้นกราฟขาขึ้น เป้าเม็ดเงินโต 18,000 ล้านบาท คิดเป็นเป้าโต 20%
พอร์ตรายได้เกลี่ยน้ำหนักการลงทุน 4 ธุรกิจ “ที่อยู่อาศัย-ฮอสพิทาลิตี้หรือโรงแรม-คอมเมอร์เชียลจากออฟฟิศบิลดิ้ง-นิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า” หากโฟกัสเฉพาะที่อยู่อาศัย ปี 2566 ตั้งเป้ารายได้โต 70% มาพร้อมกับการเปิดตัวใหม่ 10,000 ล้านบาท ในเซ็กเมนต์บ้านซูเปอร์หรู ราคาเริ่มต้น 500 ล้านบาท
ล่าสุด แผนธุรกิจที่อยู่อาศัยปี 2567 ตั้งเป้ารายได้เติบโต 50% คาดว่าเม็ดเงินรายได้อยู่ที่ 5,400 ล้านบาท (คำนวณจากเป้ารายได้ 18,000 ล้านบาท ที่อยู่อาศัยมีสัดส่วน 30% ของรายได้ทั้งบริษัท)
Go Beyond Dream
สำหรับแผนธุรกิจปี 2567 สิงห์ฯตั้งเป้ารายได้รวม 18,000 ล้านบาท เติบโต 20% ผ่านแนวคิด Go Beyond Dream ประกอบด้วย
1.Go Expertise การสร้างซินเนอร์ยีจากความชำนาญของทีมผู้บริหาร ระหว่าง 4 กลุ่มธุรกิจ ดึงจุดแข็งที่แตกต่างและโดดเด่นของแต่ละธุรกิจเพื่อเกื้อหนุนกันและกัน สร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำและส่งมอบคุณค่าแก่ลูกค้า
2.Go Elixir การผนึกกำลังกับพันธมิตรใหม่ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและการลงทุน
3.Go Exceed, Go Exit ความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG13 Climate Change สู่การเป็นองค์กร Carbon Neutrality ของสิงห์ เอสเตท ในปี 2573 เพื่อสร้างความสมดุลของธุรกิจทั้งกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
10 ปีรันอสังหาฯด้วยมืออาชีพ
ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 10 คำถามภาคบังคับหนีไม่พ้นธุรกิจอสังหาฯของกลุ่มบุญรอดฯ มี Learning Curved อะไรบ้างในช่วงเกือบ 1 ทศวรรษ
“แผนธุรกิจทุกอย่างทำได้ตามไทม์ไลน์ ไม่เร็วและไม่ช้ากว่าแผน เรามี 4 กลุ่มธุรกิจ โดยเรสซิเดนเชียลมีน้ำหนักมากขึ้นทุกวัน เมื่อก่อนสัดส่วนรายได้ตั้งไว้ 20% เอง วันนี้เพิ่มเป็น 30% และเพิ่มบนฐานรายได้ที่ใหญ่ขึ้นด้วย ที่เหลือเป็นเป้ารายได้กลุ่มโรงแรม 60% และอื่น ๆ มีทั้งออฟฟิศบิลดิ้ง 3 อาคารหลัก กับนิคมอุตสาหกรรมอ่างทองรวมกันอีก 10%”
โฟกัสธุรกิจที่อยู่อาศัย โมเดลธุรกิจในการควบรวมกิจการเพื่อโตทางลัด มีประสบการณ์การลงทุน 50/50 ในบริษัทร่วมลงทุน แต่เนื่องจากทั้งคู่ต่างเป็น Listed Company บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกติกาในการทำงาน จนกระทั่งถึงวันหนึ่งที่สิงห์ฯตัดสินใจพัฒนาโครงการเอง นำมาสู่การขายเงินลงทุนในบริษัทร่วมเมื่อปลายปี 2563-ต้นปี 2564
จากนั้น สิงห์ฯก็เริ่มพัฒนาโครงการตั้งแต่เดย์วัน ซื้อที่ดิน ออกแบบ สร้าง-ขาย-โอน เรียกว่าเริ่มจากศูนย์ ตั้งแต่ Predevelopment จนถึงสร้างเสร็จและส่งมอบ เท่านั้นไม่พอ ยังตามไปดูแลบริการหลังการขายให้อีกต่างหาก
“หลังจากรีสตรักเจอร์ธุรกิจที่อยู่อาศัย เราใช้เวลาพัฒนาช่วงปี 2564-2565 เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เราเริ่มโอนโครงการศิรนินทร์ เรสซิเดนเซส เริ่มโอนเกือบ 20% เมื่อปลายปี 2564 เป็นโครงการแรกที่เริ่มโอน ตัดโครงการสันติบุรีออกไปก่อนนะ ซึ่งพี่ถือว่าเรามูฟได้เร็วมาก”
ย้อนกลับมาที่คำถาม 10 ปี สิงห์ เอสเตท มีเลิร์นนิ่งเคิร์ฟอะไรบ้าง
“คืออย่างนี้ มันไม่จำเป็นต้องเลิร์นนิ่งเคิร์ฟ เพราะทุกอย่างรันด้วยโปรเฟสชันนอล ไม่ใช่ทีมของบุญรอดฯ แล้วค่อย ๆ เลิร์นนิ่ง ที่จะทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นเพียงการแตกธุรกิจออกมา เพราะฉะนั้น คนที่รันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในธุรกิจของสิงห์ เอสเตท เป็นโปรเฟสชันนอลทั้งหมด”
บรรทัดสุดท้ายของโมเดลรันธุรกิจอสังหาฯ ด้วยทีมผู้บริหารมืออาชีพ ต่อจิ๊กซอว์เป็น 4 กลุ่มธุรกิจ นำความเป็นมืออาชีพของแต่ละธุรกิจมาสร้างพลังธุรกิจร่วมกันหรือซินเนอร์ยี
“เรามีความเข้าใจในธุรกิจ 4 ขา ถามว่าสิ่งที่ควรจะทำได้ ก็คือการทำซินเนอร์ยี มีกี่เรื่อง เริ่มที่ซินเนอร์ยีโลเกชั่น คือการทำมิกซ์ยูส แต่ซินเนอร์ยีในเชิงโปรดักต์ เช่น เวลาเราพูดถึงกลุ่มบ้านลักเซอรี่ โรงแรมเราก็ลักเซอรี่ มีความชนกัน มีความขนานกันลักษณะหนึ่ง ที่ดินที่ภูเก็ต เราก็มีลากูน่า ภูเก็ตอยู่ วันข้างหน้าถ้าเราคิดจะพัฒนาภูเก็ต ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเรามีโรงแรมที่ภูเก็ต”
และ “เวลานึกถึงบ้านที่พักอาศัยในต่างจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ควรจะมีฟาซิลิตี้ประกอบด้วย ทันทีที่คุณมีโรงแรมอยู่ในพื้นที่นั้น มันก็คือสามารถจะสมานกันได้ มี Added Value กันได้ อาจเป็ลูกค้าชาวต่างชาติ หรือคนกรุงเทพฯไปซื้อเก็บไว้ เขามองหาบ้านพร้อมเซอร์วิส ไม่ว่าจะเป็นเซอร์วิสอะไรก็แล้วแต่ พอไปซินเนอร์ยีกับโรงแรม ทำให้โจทย์ตรงนี้มันง่ายขึ้น”
ลงทุนอย่างสิงห์ฯ-ลงทุนเชิงรุก
คำถามให้นิยามการทำธุรกิจปีมังกรทอง แอ็กเกรสซีฟ-ลงทุนเชิงรุกหรือไม่
“สิงห์ เอสเตท ไม่เคยไม่แอ็กเกรสซีฟเลยนะ เราออลเวย์ส โก บียอนด์ ในสิ่งที่เราคาดหวังเสมอ แต่คำว่าแอ็กเกรสซีฟไม่ใช่เอาราคาสู้เพื่อให้ได้ยอดขายสูง ไม่ทำสงครามราคา เราต้องการที่จะสร้างแพลตฟอร์มทุกอย่างให้มันต่อเนื่องได้มากที่สุด โดยที่ไม่พึ่งพิงธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง”
ถัดมา สิงห์ฯเติบโตในเซ็กเมนต์ลักเซอรี่ ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง
โอกาสและความเสี่ยงของเซ็กเมนต์นี้คืออะไร
“โอกาสและความเสี่ยงคือทำของไม่ทัน (หัวเราะ) เราต้องยอมรับข้อเท็จจริง เราไม่ใช่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เราไม่ใช่แสนสิริ เราใหม่สำหรับผู้รับเหมา ในแง่ผู้รับเหมาที่ทำกับแลนด์ กับแสนสิริ เขาผูกปิ่นโตกันไปเรียบร้อยแล้ว เรายังต้องเกาะกับผู้รับเหมาเทียร์ 2 แต่ไม่ใช่เทียร์ 2 ทั้งหมดทำงานกับเราได้ คุณภาพต้องได้ด้วย เราต้องพัฒนาวิธีการทำงาน ให้เมกชัวร์ว่าผู้รับเหมาอาจจะใหม่กับกรรมวิธีก่อสร้างที่ซับซ้อนของเรา ฉะนั้นก็ต้องทำช่วง Preparation มีการเทรน มีแมนบุ๊กให้ชัดเจน อันนี้คือความเสี่ยงที่สุดของพี่”
ถ้าหากว่าผู้รับเหมาเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ มีโอกาสจะทำเองหรือไม่ คำตอบคือคงไม่ทำ มันไม่มีความจำเป็น เพราะคุณไม่จำเป็นต้องทำคนเดียวทุกอย่าง