
เหตุเกิดในวันแถลงผลการทำงานศาลปกครองครบรอบ 23 ปี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ทำให้โกลาหลเล็กน้อยถึงปานกลาง จากการนำเสนอข่าวบนช่องทางออนไลน์ พาดหัวข่าว “คดีคอนโดฯ แอชตัน อโศก หากไม่คืบใน 3 เดือน ศาลปกครองชี้ กทม.อาจต้องสั่งรื้อตึก”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีผลกระทบต่อการรับรู้ของเจ้าของห้องชุดจำนวน 668 ห้องชุด ในโครงการแอชตัน อโศก ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในวันเดียวกัน ทางศาลปกครองก็ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า ศาลไม่ได้สั่งให้รื้อถอนคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 โดยย้ำคำตัดสินของศาลปกครองคือ สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ส่วนการบังคับคดีเป็นเรื่องของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะผู้ออกใบอนุญาตก่อสร้าง
ล่าสุด ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบไปยังกระทรวงคมนาคม ในฐานะเป็นเจ้าภาพที่เข้ามาดูแลปัญหาแอชตัน อโศก ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดเมื่อเดือนตุลาคม 2566 โดยแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมอธิบายสั้น ๆ ว่า คดีแอชตัน อโศก ในเรื่องประเด็นการรื้อถอนหรือไม่นั้น ถือว่าหมดข้อกังวลในประเด็นนี้ไปตั้งแต่ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ สั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง
ย้อนกลับมาดูต้นเรื่อง เอกสารข่าวของศาลปกครอง สรุปสาระสำคัญทางศาลปกครองสูงสุดชี้แจงคดีแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 ศาลไม่ได้สั่งรื้อถอน การบังคับคดีเป็นเรื่องของ กทม. รายละเอียดมีดังนี้
ศาลปกครองเตือน กทม.เร่งสางปัญหาคดีถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดฯแอชตัน อโศก ก่อนลุ้นอีกคดี ที่สยามสมาคมฟ้องให้ กทม.บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ยังอยู่ในการพิจารณาศาลปกครอง
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่สำนักงานศาลปกครอง นายประวิตร บุญเทียม ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่นในชั้นปกครองสูงสุด ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงกรณีปัญหาการบังคับคดีแอชตัน อโศก ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างว่า คดีนี้ศาลสั่งให้มีการเพิกถอน ใบอนุญาตก่อสร้างตึกแอชตัน อโศก เนื่องจากเห็นว่าเป็นการออกใบอนุญาตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น การบังคับคดีเป็นเรื่องที่ กทม.จะต้องไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ศาลไม่ได้สั่งว่าจะต้องรื้อ หรือจะบังคับคดีเป็นอื่นใด

อย่างไรก็ตาม ยังมีคดีคอนโดฯแอชตัน อโศก อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดอีก 1 คดี เป็นคดีที่สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. และผู้อำนวยการเขตวัฒนา
ในกรณีที่ออกใบอนุญาตให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างโครงการอาคารคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก ถ.สุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี) เขตวัฒนา กทม. โดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
คดีนี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ว่า ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหรือ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา ใช้อำนาจ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณี ดำเนินการต่อบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการอาคารคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก ถ.สุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี) เขตวัฒนา กทม. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับกรณีที่ต้องใช้อำนาจกฎหมาย ในการออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารโครงการแอชตัน อโศก ดังกล่าว ก็ให้ดำเนินการเฉพาะแต่ส่วนของอาคารที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เฉพาะในส่วนของอาคารที่สูงเกินกว่าความกว้างถนนให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
นับตั้งแต่วันที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ผู้อำนวยการเขตวัฒนา บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารพิพาท กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
อัพเดตคดีแอชตัน อโศก
เรื่องเดียวกันนี้ นายวีระวัฒน์ วีรารักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากได้มีการเผยแพร่ข่าวในสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2567 หัวข้อข่าว “คดีคอนโดฯแอชตัน อโศก หากไม่คืบใน 3 เดือน ศาลปกครองชี้ กทม.อาจต้องสั่งรื้อตึก”
โดยได้มีการนำเสนอเนื้อหาข่าวเกี่ยวกับกรณีปัญหาการบังคับคดีแอชตัน อโศก ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างว่า คดีนี้ศาลสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างตึกแอชตัน อโศก เนื่องจากเห็นว่าเป็นการออกใบอนุญาตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลไม่ได้สั่งว่าจะต้องรื้อ หรือจะบังคับคดีเป็นอื่นใด
ฉะนั้น อีก 3 เดือนต่อจากนี้ จะครบกำหนดตามคำพิพากษาที่ให้ กทม. บริษัท อนันดา เอฟเอ็ม เอเชีย อโศก จำกัด และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารภายใน 180 วัน ทั้ง 3 หน่วยงานดังกล่าวจะต้องหาข้อยุติให้ได้โดยเร็ว หากหาทางออกไม่ได้ กทม.ก็ต้องมีหน้าที่บังคับให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาการ ด้วยการรื้อถอนส่วนของอาคารที่สูงเกินกว่าความกว้างถนนให้เสร็จภายใน 90 วัน”
ซึ่งเนื้อหาที่มีการเผยแพร่มีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อาจก่อให้เกิดความสับสน และอาจทำให้ท่านเจ้าของร่วม รวมทั้งประชาชนเข้าใจผิดในสาระสำคัญของคดีของศาลปกครองสูงสุด
อุทธรณ์-คดียังไม่ถึงที่สุด
ทั้งนี้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด (“บริษัท”) จึงขอชี้แจงว่า รายละเอียดในข่าวดังกล่าวข้างต้น เป็นเนื้อหาคำพิพากษาคดีของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 450/2560 คดีหมายเลขแดงที่ 2413/2565
ระหว่าง สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ผู้ฟ้องคดี) กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1), ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ผู้อำนวยการเขตวัฒนา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก (ผู้ร้องสอดที่ 1) รฟม. (ผู้ร้องสอดที่ 2) นิติบุคคลอาคารชุด แอชตัน อโศก (ผู้ร้องสอดที่ 3)
โดยศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้ “ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันปรึกษาหารือกับผู้ร้องสอดที่ 1, 2 เพื่อหาแนวทางแก้ไขการก่อสร้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายภายใน 180 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด หากไม่สามารถแก้ไขได้ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 3 ใช้อำนาจรื้อการก่อสร้างส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายภายใน 90 วัน”
ซึ่งปัจจุบันคู่ความทุกฝ่ายได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ไปยังศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด คดีดังกล่าวจึง “ยังไม่ถึงที่สุด” และ “ยังไม่มีการบังคับคดีใด ๆ” (อ่านเพิ่มเติมคำพิพากษาศาลปกครองกลาง หน้า 31)
ศาลไม่กำหนดเวลาบังคับคดี
อย่างไรก็ตาม กรณีโครงการแอชตัน อโศก มีอีก 1 คดี คือ คดีหมายเลขดำที่ อส.67/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อส.188/2566 ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวก (ผู้ฟ้องคดี) กับผู้อำนวยการเขตวัฒนาฯ ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด (ผู้ร้องสอด) ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566
โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างโดยมิได้กำหนดระยะเวลาการบังคับคดีแต่อย่างใด (อ่านเพิ่มเติมคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หน้า 132-133)
มั่นใจคณะทำงานคมนาคม
ทั้งนี้ บริษัทมีความเชื่อและมั่นใจในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐถึงการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น โดยในวันที่ 24 ตุลาคม 2566 กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการแต่งตั้ง “คณะทำงานเพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบให้กับประชาชน จากกรณีอาคารชุดแอชตัน อโศก”
กระทรวงคมนาคมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาแก่ผู้ได้รับผลกระทบการอนุญาตใช้พื้นที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และมีอำนาจในการเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน
ซึ่งปัจจุบัน คณะทำงานอยู่ระหว่างการพิจารณา และเร่งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้ ทั้งนี้ บริษัทยินดีให้ความร่วมมือในการดำเนินการของคณะทำงานอย่างเต็มที่ และรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาครัฐให้ความใส่ใจต่อความเดือดร้อนของประชาชน