“สมคิด”ปั๊ม 2.4 ล้านล้านก่อนเลือกตั้ง คมนาคมรับลูกเทกระจาดประมูลบิ๊กโปรเจ็กต์จบสิ้นปี

ลุ้นโค้งสุดท้าย “สมคิด” ไล่บี้เมกะโปรเจ็กต์คมนาคม วงเงินกว่า 2.4 ล้านล้าน เดดไลน์สปีดประมูลให้เสร็จสิ้นปีนี้ก่อนเลือกตั้ง ครบทุกโหมด บก ราง น้ำ อากาศ หวังเป็นพระเอกขับเคลื่อนการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ด้าน “อาคม” จัดไทม์ไลน์ประมูลละเอียดยิบ ทั้งรถไฟฟ้าสารพัดสี ทางคู่เฟส 2 และสายใหม่ ท่าเรือ สนามบิน รถไฟรางเบา ลั่น พ.ย.นี้ชง ครม.เกลี้ยง ปีหน้าขายทีโออาร์

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 7-8 เดือนที่เหลือก่อนจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2562 ได้เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ เนื่องจากโครงการใหญ่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผน ถ้าโครงการไหนที่จะต้องจัดซื้อจัดจ้าง ประมูล หรือเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอให้เสร็จสิ้นปีนี้ ห้ามล่าช้าอีกเด็ดขาด

เร่งเวนคืนบางใหญ่-กาญจน์

จากการติดตามงานของกรมทางหลวง (ทล.) มีความคืบหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่ที่ยังล่าช้า เช่น มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ยังติดปัญหาเวนคืนที่ดิน ก็สั่งให้รีบเคลียร์ให้จบ เพื่องานก่อสร้างจะได้เดินหน้าต่อไป

ส่วนกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ให้คิดเส้นทางคู่ขนานเลียบชายฝั่งทะเลกับถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นเส้นทางในโครงการ “ไทยแลนด์ ริเวียร่า” หรือถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย เพราะรัฐบาลกำลังโปรโมตการท่องเที่ยวภาคใต้อยู่ จะให้เริ่มต้นภายในปี 2562 นี้ โดยให้ปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อนำมาสนับสนุนโครงการนี้

สั่งสร้างไฮสปีดถึงสุราษฎร์

ขณะที่โครงการระบบรางถือว่าเป็นพระเอกของคมนาคม ภาพรวมคืบหน้าตามเป้าหมายทั้งสายเหนือและอีสาน แต่มีให้ศึกษาส่วนที่จะเชื่อมต่อลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ในอนาคต เช่น รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. ได้สั่งการให้ศึกษาความเป็นไปได้เพิ่มเติมให้เชื่อมต่อลงไปถึง จ.สุราษฎร์ธานี ให้รับกับรถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม.ที่มีแผนศึกษาจะตัดเข้า จ.ระนอง และต่อไปยังฝั่งทะเลอันดามัน

“หากเชื่อมต่อทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันได้ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์สูงสุด ดังนั้นอย่างน้อยทั้งทางคู่และความเร็วสูงจะต้องถึง จ.สุราษฎร์ธานี ก่อน จะรับกับนโยบายของรัฐบาลกำลังส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ลูปรถไฟตามภาคต่าง ๆ จะต้องมีความคืบหน้า จึงให้เพิ่มเส้นทางรถไฟเข้าไปเสริม ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และการรถไฟฯจะต้องไปหารือร่วมกัน”

ยังเร่งรัดกรมการขนส่งทางบกพัฒนาโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า จะเป็นสถานีย่อย (sub terminal) สำหรับขนส่งสินค้า หากทำเองไม่ได้ก็เปิดให้เอกชนในระดับโลกเข้ามาประมูล

ยก 4 สนามบินภูธรให้ ทอท.

ด้านทางอากาศ เป็นที่สรุปว่า บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) จะรับ 4 สนามบินจากกรมท่าอากาศยานไทย (ทย.) ไปดูแลเพิ่ม 4 แห่ง ได้แก่ 1.ท่าอากาศยานอุดรธานี 2.ท่าอากาศยานสกลนคร 3.ท่าอากาศยานตาก และ 4.ท่าอากาศยานชุมพร ซึ่งภายในปีนี้จะเปิดประมูลให้เสร็จ พร้อมกันนี้ให้มีทางเลือก โดยให้ผู้ประกอบการภายนอกที่นอกเหนือจาก ทอท.เข้ามาดูแลสนามบินที่มีศักยภาพด้วย

งานของกรมเจ้าท่าต้องให้มองภารกิจที่กว้างและใหญ่ขึ้น เพราะมีเส้นทางทะเลที่ต้องดูแลค่อนข้างยาว เช่น เพิ่มเรือเส้นทางสัตหีบ-หัวหิน เปิดวิ่งเส้นทางอื่นจากภาคกลางลงไปตามแนวไทยแลนด์ ริเวียร่า และเส้นทางสุราษฎร์ธานี-เกาะสมุย เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนและเพิ่มการท่องเที่ยวทางน้ำให้มากขึ้น

“ทั้งหมดนี้จะชักช้าไม่ได้ เหลือแค่ 7-8 เดือนก่อนเลือกตั้ง ผมไม่อยากให้ปล่อยไว้เฉย ๆ ไปตามกระบวนการ อีกทั้งเศรษฐกิจที่เติบโตในวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากโครงการของคมนาคมที่เชื่อมต่อกันได้หมด จึงไม่อยากให้ชักช้า อยากให้เร่ง และต้องคิดเป็นภาพใหญ่ทั้งประเทศ ถ้าเราสร้างเส้นทางที่เชื่อมต่อกันได้หมดและเกิดประโยชน์กับภูมิภาค เราจะกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอย่างแท้จริง ทางเหนือและอีสานเชื่อมกับเส้นทาง belt and road ของจีน ทางใต้เชื่อมต่อได้ทั้งสองฝั่งทะเล ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของ CLMV”

เปิดไทม์ไลน์ประมูล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คมนาคมมี 21 โครงการสำคัญจะต้องผลักดัน ซึ่งเดือน ส.ค.-ต.ค.นี้ จะมีโครงการเสนอ ครม.จำนวนมาก ประกอบด้วย 1.รถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง 2,217 กม. มูลค่ารวม 3.98 แสนล้านบาท ซึ่งเส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ พร้อมมากที่สุด จะเสนอ ครม.สิ้นก.ค.นี้ วงเงินกว่า 7.9 หมื่นล้านบาท อีก 8 เส้นทาง ให้คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ทำข้อมูลเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ซึ่งบอร์ด ร.ฟ.ท.ได้ทำข้อมูลเสร็จแล้ว รอส่งกลับให้คมนาคมพิจารณา เพื่อนำเสนอ ครม.ในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้

2.รถไฟฟ้ามีสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 23.6 กม. วงเงิน 101,112 ล้าน จะเปิดประมูลต.ค.นี้ ส่วนสายสีส้มตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี 23 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง ขณะที่สายสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ 13.4 กม. วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท จะเสนอ ครม.เดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ พร้อมกับสายสีแดงเข้มรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ วงเงิน 7,596 ล้านบาท กับสีแดงอ่อนตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา 19,042 ล้านบาท และยังได้เร่งการก่อสร้างสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ให้เสร็จตามกำหนดในปี 2563 ส่วนระบบอาณัติสัญญาณ กำลังเริ่มเข้าพื้นที่ ขณะที่ขบวนรถทางรองนายกฯสมคิดจะเดินทางไปญี่ปุ่นวันที่ 17-21 ก.ค.นี้ เพื่อติดตามและเร่งรัดการผลิตจากบริษัทฮิตาชิ

ส่วนสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี 34.5 กม. วงเงิน 46,643 ล้านบาท และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง 30.4 กม. วงเงิน 45,797 ล้านบาท กรมทางหลวงส่งมอบพื้นที่ให้แล้ว ยังเหลือพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้านโครงการรถไฟรางเบา จ.ภูเก็ต ระยะทาง 60 กม. กว่า 3.9 หมื่นล้านบาท จะเสนอ ครม.อนุมัติในสิ้นปีนี้และออกทีโออาร์ในปีหน้า


3.โครงการทางน้ำ จะเป็นโครงการใน EEC มีท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะเสนอ ครม.และประมูลสิ้นปีนี้ 4.ด้านการบิน มีจัดหาเครื่องบิน 23 ลำ กว่า 1แสนล้านบาทของการบินไทย อยู่ระหว่างการพิจารณาของบอร์ดสภาพัฒน์ จะเสนอครม.สิ้นปีนี้ ขณะเดียวกัน ให้ ทอท.แก้ปัญหาแออัดสนามบินภูเก็ต ถึงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศได้เปิดให้บริการแล้ว แต่ยังพบการใช้ระบบปรับอากาศเก่าและช่องตรวจคนเข้าเมืองแคบ ส่วนสนามบินดอนเมืองจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมและมีทางเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง