ซีพี-ปตท.ยึดลงทุน EEC แบ่งเค้ก 4 โปรเจ็กต์ยักษ์

เผยโฉมพันธมิตรยักษ์เอกชน “ไทย-เทศ” ปตท., ITD, ช.การช่าง, ซี.พี.นำทีมยึดลงทุนอ่าวตะวันออก บิ๊กตู่-บอร์ดอีอีซีเคลียร์คัต 4 โครงการใหญ่มูลค่ามหาศาล 6.5 แสนล้าน เบ็ดเสร็จภายในพฤษภาคมนี้ ระบุไฮสปีด-ซี.พี.ดีเดย์ทำสัญญา 15 มิถุนายน ด้าน “พีทีที-กัลฟ์” นอนมามีแค่กลุ่มเดียวชิงท่าเรือมาบตาพุด ผนึกทุนจีนควบท่าเรือแหลมฉบัง คาดความต้องการแรงงานทะลุ 5 แสนคน

ทิศทางการลงทุนโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี วงเงิน 654,305 ล้าน กำลังจะเดินหน้าทั้ง 4 โครงการภายใต้การลงทุนของภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะกุมหัวใจของเศรษฐกิจการลงทุนภาคตะวันออกในอนาคต

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบความคืบหน้าโครงการและกระบวนการประมูล 4 โครงการอีอีซี ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในเดือน พ.ค. 62

เซ็นไฮสปีด ซี.พี. มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ผ่านการพิจารณาคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 61 มีเอกชนซื้อเอกสารประมูล 31 ราย และยื่นข้อเสนอ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (กลุ่ม BSR) และ 2.กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ผ่านการประเมินข้อเสนอแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 62

โดยกลุ่ม CPH เป็น “ผู้ยื่นข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนที่ผ่านการพิจารณา” เสนอให้รัฐอุดหนุนงานโยธาน้อยสุด 117,227 ล้านบาท และคณะกรรมการคัดเลือกได้เข้าสู่ขั้นตอนการเจรจากับกลุ่ม CPH โดยประชุมเจรจา ร่างสัญญาร่วมลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น 6 ครั้ง และประชุมคณะทำงานย่อยเพื่อเจรจาสัญญาไปแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง คาดว่าจะบรรลุข้อตกลงในการเจรจาภายใน 25 เม.ย.นี้

จากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะจัดส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนที่เจรจากับผู้ผ่านการประเมินให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา โดยสำนักงานอัยการสูงสุดจะแจ้งผลการตรวจพิจารณาโดยเร็วต่อ ร.ฟ.ท. โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะเสนอผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุน ให้ กพอ.พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้ คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้ 28 พ.ค. จากนั้นเตรียมการให้ ร.ฟ.ท.ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกภายใน มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นรูปแบบการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ให้สัมปทานเอกชน 50 ปี โดยภาครัฐลงทุนน้อยที่สุด เพื่อภาครัฐจะได้ประหยัดงบประมาณ โดยสามารถนำงบประมาณไปใช้พัฒนาคนและบริการขั้นพื้นฐานของผู้มีรายได้น้อย และประชาชนในด้านอื่น

สร้างช้าปรับวันละ 12 ล้าน

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า รายงานความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงให้บอร์ดอีอีซีรับทราบ ยังไม่ใช่เป็นการรายงานว่าเจรจาสำเร็จแล้ว เพราะการพิจารณายังไม่เสร็จสิ้น จะเร่งให้จบวันที่ 25 เม.ย.นี้ เพื่อส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจ

จากนั้นจะรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นระหว่างเจรจาทั้งหมดให้บอร์ดอีอีซีพิจารณาอีกครั้ง รวมถึงข้อเสนอของ ซี.พี.ที่คณะกรรมการคัดเลือกไม่รับไว้พิจารณาด้วย เพราะอยู่นอกเหนือทีโออาร์และมติ ครม. ส่วนบอร์ดอีอีซีจะนำมาพิจารณาก็ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการคัดเลือก โดยจะให้ทุกอย่างยุติเดือน พ.ค.นี้ ทั้งนี้ การก่อสร้างจะเริ่มได้ต่อเมื่อรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้รับอนุมัติ

รายงานข่าวแจ้งว่า การพิจารณาทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไขทีโออาร์ เช่น ระยะสัมปทาน 50 ปี สร้าง 5 ปี บริหารโครงการ 45 ปี การแบ่งผลตอบแทนตลอดอายุโครงการ นอกจากนี้ ซี.พี.มีข้อเสนอพิเศษมอบให้รัฐ เช่น เสนอผลตอบแทนให้รัฐปีละ 30 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 10 ปี รวม 300 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์ความเป็นเลิศด้านระบบราง ขณะที่รายละเอียดในสัญญาที่กำลังยกร่าง เช่น หากสร้างล่าช้าจะถูกปรับวันละ 12 ล้านบาท ขยายเวลากรณีมีเหตุสุดวิสัย การบอกเลิกสัญญา ส่วนการส่งมอบพื้นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเพราะ ซี.พี.ต้องการให้ ร.ฟ.ท.ส่งมอบให้ 100% ขณะที่ ร.ฟ.ท.สามารถส่งมอบให้ได้ 50%

3 บิ๊กชิงอู่ตะเภาเมืองการบิน

ด้านความเคลื่อนไหวของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เนื้อที่ 6,500 ไร่ มูลค่าลงทุน 290,000 ล้านบาท หลังกองทัพเรือเปิดยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามี 3 กลุ่มยื่นซองประมูล ได้แก่ 1.กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บจ.ธนโฮลดิ้ง (เครือ ซี.พี.) บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ.ช.การช่าง และ บจ.บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้งส์ และ บจ.Fraport AG Frankfurt Airport Service Worldwide พันธมิตรจากประเทศเยอรมนี

2.กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS นำโดย บมจ.การบินกรุงเทพ ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์สถือหุ้นใหญ่ 45% บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ถือหุ้น 35% และ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ถือหุ้น 20% และ 3.กลุ่มกิจการร่วมค้าแกรนด์คอนซอร์เตียม นำโดย บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ ถือหุ้นใหญ่ 80% บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น 10% และ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย 10% และมีกลุ่ม บจ.GMR Group Airport ประเทศอินเดีย บริหารสนามบิน

โครงการนี้ลงทุนรูปแบบ PPP ระยะเวลา 50 ปี ก่อสร้าง 3 ปี และบริหารซ่อมบำรุง 47 ปี โดยรัฐจะลงทุนรันเวย์ที่ 2 ประมาณ 10,000 ล้านบาท และหอบังคับการบินแห่งที่ 2 ประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุน 1.อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 2.ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน ลานจอดรถ และมีสถานีรถไฟความเร็วสูง 3.ศูนย์ธุรกิจการค้า 4.เขตประกอบการค้าเสรี และ 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ส่วนพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ผู้ชนะสามารถเพิ่มเติมได้

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย. คณะกรรมการคัดเลือกได้เปิดซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติทั้ง 3 รายแล้ว อยู่ระหว่างประเมินข้อเสนอ คาดว่าจะพิจารณาข้อเสนอแล้วเสร็จและประกาศผลผู้ผ่านการประเมินที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดได้ภายใน พ.ค.นี้ สำหรับโครงการนี้คาดหมายกันว่า กลุ่ม ซี.พี.จะเป็นผู้ชนะประมูล เพื่อต่อยอดกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

“ยังมีความพยายามในการต่อรอง ระหว่างการเดินหน้าสัมปทานรถไฟความเร็วสูง กับการประมูลเมืองการบิน ที่มีข้อเสนอสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ในบางรายการ” แหล่งข่าวกล่าว

ปตท.-กัลฟ์ฉลุย 2 ท่าเรือ

ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่า 55,400 ล้านบาท การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอและมีผู้ซื้อเอกสาร 18 ราย ต่อมา 15 ก.พ. มียื่นข้อเสนอ 1 กลุ่ม คือ กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ เป็นความร่วมมือระหว่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และ บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล ในกลุ่ม บมจ.ปตท (PTT) ขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือกอยู่ระหว่างการประเมินข้อเสนอ จะแล้วเสร็จและสามารถเจรจากับภาคเอกชนในเดือน เม.ย.นี้

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ลงทุนรูปแบบ PPP วงเงิน 84,361 ล้านบาท โดย
การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ 53,490 ล้านบาท และเอกชนจะลงทุน 30,871 ล้านบาท

หลังเปิดประมูลรอบ 2 มี 2 กลุ่มที่ยื่นซอง ได้แก่ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศจีน และ 2.กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ประกอบด้วย บจ.นทลิน จำกัด, บจ.แอสโซซิเอท อินฟินิตี้, บจ.พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง, บมจ.พริมา มารีน และ บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรักชั่น คอร์ปอเรชั่น จากประเทศจีน

คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาคุณสมบัติ 2 ราย เมื่อเช้าวันที่ 23 เม.ย. โดยกลุ่มจีพีซีเป็นผู้ผ่านการพิจารณาก่อนเสนอให้บอร์ดอีอีซีพิจารณาวันเดียวกัน จากนั้นเปิดข้อเสนอซองเทคนิคและผลตอบแทนคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งผู้ชนะจะใช้เวลาออกแบบและก่อสร้างไม่เกิน 6 ปี และได้สัมปทานการให้บริการบำรุงรักษาโครงการ 35 ปี และเปิดบริการในปี 2566 มีพื้นที่รวม 1,600 ไร่ ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือ 4 ท่า ยาวรวม 4,420 เมตร รองรับการขนถ่ายสินค้าได้ 7 ล้านทีอียู/ปี มีท่าเรือขนส่งรถยนต์ 1 ท่า รองรับรถยนต์ได้ 1 ล้านคัน/ปี

เตรียมรับแรงงาน 5 แสนคน
นอกจากที่ประชุม กพอ. ได้รับทราบความคืบหน้าความต้องการบุคลากรใน 7 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกภายใน 5 ปี (2562-2566) ได้แล้วเสร็จ สำหรับ 3 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เหลือ ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ อยู่ในระหว่างการดำเนินการ

โดยความต้องการบุคลากรใน 7 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ต้องการถึง 475,674 คน ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่อาชีวศึกษาจนถึงปริญญาเอก แบ่งเป็นความต้องการบุคลากรในระดับอาชีวศึกษา 253,114 คน ระดับปริญญาตรี 213,114 คน และระดับปริญญาโท-เอก 8,617 คน

พร้อมกันนี้ ได้ประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน แบ่งการเรียนการสอนตามความต้องการในระดับต่าง ๆ โดยมีสถาบันดำเนินงาน 2 ระดับในระดับอุดมศึกษา มีสถาบันอุดมศึกษาในอีอีซี 155,806 คน สถาบันอุดมศึกษา นอกอีอีซี 66,755 คน ระดับอาชีวศึกษา (รวมสัตหีบโมเดล) ในอีอีซี 177,187 คน และสถาบันอาชีวศึกษา (รวมสัตหีบโมเดล) นอกอีอีซี 75,926 คน