กดปุ่มสายสื่อสารลงดินรับ5G กทม.เร่งปิดดีลทรู-ยันค่าเช่าต่ำกว่าTOT

กทม.-กสทช. กดปุ่มโปรเจ็กต์ 2 หมื่นล้าน นำ “สายสื่อสารลงใต้ดิน” ปั้นมหานครไร้สายแห่งอาเซียน กาง 4 พื้นที่นำร่อง 6.95 กม. ถนนวิทยุ รัชดา นราธิวาสฯ ก.ค.-ต.ค.นี้ บลัฟทีโอทีค่าเช่าถูกกว่าและรองรับ 5G เคทีเร่งปิดดีลทรูให้จบ มิ.ย.นี้ 

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า วันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา กทม.เซ็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกันนำสายสื่อสารในพื้นที่ กทม.ลงใต้ดินทั้งหมด ระยะทาง 2,450 กม.ภายใน 2 ปี หรือแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 2564

โดย กทม.มอบให้ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) วิสาหกิจของ กทม.เป็นผู้ดำเนินการ วงเงินกว่า 20,000 ล้านบาทจะไม่ใช้งบประมาณของ กทม. แต่ใช้เงินจากเอกชนที่มาเช่าบริการพื้นที่มาดำเนินการ

“ที่เซ็น MOU กับ กสทช. 24 เดือน เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการ เมื่อแล้วเสร็จจะพลิกโฉมกรุงเทพฯให้เป็นเมืองแห่งอนาคต ที่มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อการสื่อสารและโทรคมนาคมรองรับการเป็น smart city”

สำหรับระยะทาง 2,450 กม. ได้ผู้รับเหมาแล้ว แบ่งดำเนินการ 4 พื้นที่ เริ่มโมเดลนำร่อง 4 จุด 4 พื้นที่พร้อมกัน รวม 6.95 กม. ภายในเดือน ก.ค.นี้จะเริ่มขุดเจาะและวางท่อร้อยสาย ใช้เวลาดำเนินการ 90 วัน ได้แก่ พื้นที่ 1 กรุงเทพฯเหนือ 620 กม. นำร่องบริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระราม 1-ถนนเพชรบุรี รวม 1.4 กม. มีกิจการร่วมค้าเอสซี, แอลเอสทีซีและฟอสส์ดำเนินการ

พื้นที่ 2 กรุงเทพฯตะวันออก 605 กม. นำร่องบริเวณถนนรัชดาภิเษก จากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีศูนย์วัฒนธรรม ถึงซอยรัชดาภิเษก 7 และซอยประชาสันติ และถนนเทียมร่วมมิตร 1.95 กม. กิจการร่วมค้าเอดับบลิวดี ดำเนินการพื้นที่ 3 กรุงธนเหนือ 605 กม. นำร่องถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 68 รวม 1.7 กม. กิจการร่วมค้าจีเคอี แอนด์เอฟอีซี ดำเนินการพื้นที่ 4 กรุงธนใต้ 620 กม. นำร่องถนนวิทยุ ช่วงถนนพระราม 1 ถึงถนนพระราม 4 รวม 1.9 กม. กิจการร่วมค้าเอสซี, แอลเอสทีซีและฟอสส์ ดำเนินการ

“ตั้งเป้าภายในปี 2562 จะขุดวางท่อร้อยสายและนำสายสื่อสารลงใต้ดินให้ได้อย่างน้อยพื้นที่ละ 150 กม. และเร่งทุกพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามกำหนด ไม่ให้กระทบต่อผิวจราจร และหากผู้ประกอบการรายใดไม่นำลงดินจะถือว่าทำผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาด”

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สายสื่อสารที่รกรุงรังบนถนนเป็น 1 ในปัญหาของกรุงเทพฯ ที่รัฐบาลให้เร่งจัดระเบียบนำลงใต้ดิน ให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตประชาชนและรองรับการที่จะนำกรุงเทพฯไปสู่มหานครไร้สายแห่งอาเซียน อีกทั้งเทคโนโลยีก่อสร้างท่อร้อยสายของ กทม.จะรองรับระบบสื่อสารในอนาคต เช่น 5G

“ส่วนเรื่องค่าเช่าท่อร้อยสายที่กังวลว่า กทม.จะคิดแพงกว่าของทีโอที ที่ราคาขั้นต่ำ 9,600 บาท/ซับดักต์/เดือน กทม.กำลังจัดทำอัตราค่าเช่าให้ กสทช.พิจารณา นำมาเปรียบเทียบให้ได้ราคาสมเหตุสมผลก่อนประกาศใช้ ขอให้มั่นใจว่าจะไม่สูงเกินกว่าของทีโอที และไม่ผลักภาระค่าบริการให้ประชาชน ส่วนการนำสายสื่อสารลงดินจะเป็นภาระกับผู้ประกอบการ กสทช.จะให้เงินยูโซ่หรือเงินบริการทั่วถึง ให้ผู้ประกอบการนำสายสื่อสารลงดินในส่วนที่ กทม.ก่อสร้างแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการ 16 รายจะปฏิเสธไม่นำสายลงดินอีกไม่ได้”

นายฐากรย้ำว่า โครงการนี้ กทม.ไม่ได้ทำงานซ้ำซ้อนกับทีโอที ซึ่งพื้นที่ที่ทีโอทีทำอยู่ 400-500 กม.ก็อยู่ในความรับผิดชอบของทีโอที ในส่วนของ กทม.จะทำพื้นที่ส่วนที่ขยายใหม่

นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการเคที กล่าวว่า ภายในเดือน มิ.ย.นี้จะเจรจากับ บจ.ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น ซึ่งผ่านการพิจารณาเช่าบริการท่อร้อยสายที่ กทม.ลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 30 ปี ขณะนี้ได้ข้อตกลงในหลักการใหญ่แล้ว เช่น การใช้ท่อ การดูแลโครงการ แต่ยังมีรายละเอียดเรื่องค่าเช่า เพราะทรูจะมีการลงทุนสายไฟเบอร์ด้วยประมาณ 3,000 ล้านบาท

คลิกอ่านเพิ่มเติม.. กฎเหล็กคุมสายสื่อสาร กทม.บี้ทุกค่ายมุดใต้ดิน ‘ทรู’คว้าสัมปทานท่อ30ปี

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!